ศบค.พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 7,681 ราย ห่วงนนทบุรี-ปทุมธานียอดพุ่งก้าวกระโดด ขณะที่อัตราการป่วยหนักลด ทำให้มีความหวังโควิดปีนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น ปรับแผนชะลอการระบาดด้วย ‘HI-CI-ATK First’ พร้อมย้ำให้ประชาชน-แพทย์รับเข็มกระตุ้นป้องกันโอไมครอน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดประจำวันเพิ่มเติมว่า วันนี้พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,681 ราย แนวโน้มการติดเชื้อในประเทศทรงตัวและมีทิศทางลดลงช้าๆ เป็นผลมาจากมาตรการต่างๆ ที่ชะลอการติดเชื้อ
โดยการระบาดรอบใหม่นี้ มีผู้ป่วยอาการหนักน้อยกว่าระลอก เม.ย. 2564 โดยมีสัดส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 1 ต่อ 1,000 ราย ซึ่งเป็นลักษณะของโรคประจำถิ่น ทำให้มีความหวังว่าภายในปีนี้โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่โควิดแตกต่างจากโรคประจำถิ่นอื่นๆ เพราะการใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับโรคให้ได้ ต้องเป็นชีวิตวิถีใหม่ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน สำหรับสายพันธุ์โอไมครอน จนถึงขณะนี้ในประเทศยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์ดังกล่าว
สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ 19 ราย มีอายุตั้งแต่ 19 - 92 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 12 ราย คิดเป็น 63% และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 5 ราย คิดเป็น 26% ซึ่งหากรวมกันพบมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 89% และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิดถึง คนรู้จัก อาศัยในพื้นที่ระบาด และติดเชื้อจากการสัมผัสในครอบครัว
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 10 จังหวัดอันดับสูงสุด ประกอบด้วย กทม. 892 ราย ชลบุรี 873 ราย สมุทรปราการ 523 ราย ภูเก็ต 488 ราย ขอนแก่น 277 ราย อุบลราชธานี 269 ราย นนทบุรี 251 ราย เชียงใหม่ 194 ราย ศรีสะเกษ 167 ราย และบุรีรัมย์ 166 ราย
“จากทั้ง 10 อันดับติดเชื้อสูงสุดวันนี้ ที่ประชุมมีความเป็นห่วงในกลุ่มจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว โดยนนทบุรีและปทุมธานี เมื่อ 3-4 วันก่อนยังพบผู้ติดเชื้อหลักสิบ ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้นเป็นหลัก 100 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงขอเน้นย้ำมาตรการสาธารณสุขต่าง ๆ ในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวส่วนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด คือ นราธิวาส 1 ราย” พญ.สุมนี กล่าว
ด้านผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เดินทางมาจาต่างประเทศ 277 ราย ทั้งหมดเดินทางเข้ามาแบบไม่ต้องกักตัว (Test and Go) 140 ราย แบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) 120 ราย และแบบกักตัว (Quarantine) 17 ราย
นอกจากนั้น มีผู้ได้รับวัคซีนโควิดเพิ่ม 513,208 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 49,784 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 133,047 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 330,377 ราย รวมสะสม 107,271,904 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 51,592,872 ราย คิดเป็น 71.6% ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 47,056,159 ราย คิดเป็น 65.3% และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 8,622,873 ราย คิดเป็น 12%
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว 78.9% และ 75.8% ตามลำดับ ซึ่ง ศบค.ยังอยากเน้นย้ำให้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้ามารับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ขอให้เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย เพื่อป้องกันโอไมครอน เพราะพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มาแล้วประมาณ 3 เดือน ภูมิคุ้มกันจะเริ่มตกลง ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำให้บุคลากรการแพทย์เริ่มฉีดกระตุ้นเข็มที่ 4 ด้วย หลังเริ่มพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์
พร้อมย้ำยุทธศาสตร์รับมือโควิดปีนี้ คือ การชะลอการติดเชื้อให้มากที่สุด เน้นมาตรการ 'Home Isolation-Community Isolation-ATK First' ตรวจเชื้อก่อนไปร่วมงานที่มีคนจำนวนมาก และหากติดเชื้อไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงให้ใช้การกักตัวที่บัาน (Home Isolation) และการกักตัวในศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) ก่อน
ทั่วโลกป่วยเพิ่ม 2.7 ล้าน รวมสะสม 314.09 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 2,772,068 ราย รวม 314,090,366 ราย อาการหนัก 95,475 ราย หายป่วย 261,659,479 ราย เสียชีวิต 5,521,031 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 672,872 ราย รวม 63,390,876 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,173 ราย รวม 863,896 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 185,112 ราย รวม 36,060,902 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 146 ราย รวม 484,359 ราย บราซิล พบเพิ่ม 71,447 ราย รวม 22,630,142 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 139 ราย รวม 620,281 ราย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 25
โควิดไทยติดเชื้อใหม่ 7,681 ราย หายป่วย 3,350-ตายอีก 19
อนึ่งก่อนหน้านี้ เวลา 07.23 น. สำนักข่าวอิศรารายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดประเทศไทย ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,681 ราย
ทำให้มีผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 68,855 ราย
ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,681 รายแบ่งเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 277 รายผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 12 ราย ติดเชื้อในประเทศ 7,404 ราย
เป็นผู้ป่วยใน 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวเต็มพื้นที่ 2,809 รายผู้ป่วยใน 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวอื่น ๆ 2,370รายเป็นผู้ป่วยในจังหวัดอื่น ๆ 2,213 ราย
ขณะที่มีผู้หายป่วย 3,350 รายมีผู้เสียชีวิต 19 ราย