นักวิทยาศาสตร์ชี้เร็วไปที่จะสรุป'เดลต้าครอน' เป็นโควิดลูกผสมระหว่างเดลต้าและโอไมครอน แนะรอ WHO ยืนยันก่อน เพราะการรีบถอดรหัสอาจเกิดการปนเปื้อนในห้องแล็บได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2565 สำหรับกระแสข่าวเกิดการกลายพันธุ์ 'เดลต้าครอน' ซึ่งเป็นโควิดลูกผสมระหว่างเดลต้าและโอไมครอน ที่นายลีออนดิออส คอสตรีกิส ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีววิทยา มหาวิทยาลัยไซปรัส เปิดเผยว่าค้นพบไวรัสดังกล่าวในไซปรัส ติดเชื้อแล้ว 25 รายนั้น
ล่าสุด นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ไวรัสชื่อประหลาดอย่าง 'เดลต้าครอน' ถ้ามีจริงต้องแยกเชื้อออกมาให้ได้ เพิ่มปริมาณได้ และต้องถอดรหัสออกมาได้ชัดเจน
การได้ข้อมูลจากผู้ป่วยมาโดยตรง แล้วรีบถอดรหัส จะเกิดโอกาสสูงมาก ที่จะเกิดการปนเปื้อนของ RNA ของไวรัสทั้งเดลต้า และโอไมครอนที่อยู่ในแล็บ และด้วยความอยากขึ้นพาดหัวข่าวเลยรีบเร่งบอกสื่อ ทั้งๆ ที่ยังไม่วิเคราะห์ผลให้ถี่ถ้วนก่อน อาจจะทำให้สาธารณะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
ส่วนตัวเห็นด้วยกับ ทอม พีค็อก ของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนซึ่งเป็นนักวิจัยที่เคยชี้ให้เห็นโอไมครอนเป็นคนแรก และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่อยู่กับข้อมูลไวรัสทุกวันทั้งวัน ซึ่งระบุว่าหลังดูข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรม พบว่าไวรัสชื่อประหลาดนี้ ไม่น่ามีอยู่จริง ด้วยเหตุผลข้างต้น จำเป็นต้องเพาะออกมาให้เห็นจริงๆ ก่อนค่อยเชื่อ หรือควรถามองค์การอนามัยโลก (WHO) ก่อนก็ดี ก่อนจะเรียก 'เดลต้าครอน'
ขณะที่ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun ระบุด้วยว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หูในเบื้องต้น เพราะการแถลงจากนักวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียว และยังไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในระดับนานาชาติที่เชื่อถือได้ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด
แต่ถ้ายืนยันแล้วว่าเป็นจริงในภายหลัง ก็จะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว จะมีความสามารถในการแพร่ระบาด มีความรุนแรงในการเกิดโรค และการดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด
แต่ในขณะนี้ควรรอฟังความชัดเจน และการยืนยันจากหน่วยงานในระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งเสียก่อน
ไซปรัสเจอโควิดลูกผสม 'เดลต้าครอน' ติดเชื้อแล้ว 25 ราย
อนึ่งก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ลีออนดิออส คอสตรีกิส ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีววิทยา มหาวิทยาลัยไซปรัส และหัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาโมเลกุลและไบโอเทคโนโลยี เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ Sigma TV Friday ว่า พบโควิดสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างเดลตากับโอมิครอนในไซปรัส เรียกว่า ‘เดลต้าครอน’ เนื่องจากมียีนเด่นแบบโอมิครอนภายในจีโนมเดลต้า
โดยคอสตรีกิสและทีมของเขา พบการติดเชื้อดังกล่าว 25 ราย จากการวิเคราะห์ทางสถิติแสดงให้เห็นว่า การติดเชื้อผสมพบมากขึ้นในผู้ป่วยโควิดที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาล ลำดับพันธุกรรมผู้ติดเชื้อเดลต้าครอน 25 ราย ถูกส่งไปให้ฐานข้อมูลระหว่างประเทศ GISAID แล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา
“ต้องรอต่อไปว่าสายพันธุ์นี้ติดต่อง่ายหรือรุนแรงกว่าเดลต้าและโอมิครอนหรือไม่ แต่ในความคิดเห็นของผมมองว่า เดลต้าครอนจะถูกแทนที่ด้วยโอมิครอนที่ติดต่อได้ง่ายกว่า” คอสตรีกิส กล่าว
ด้านสำนักข่าว Xinhua รายงานว่า ปัจจุบัน ไซปรัสเข้าสู่การระบาดของโควิดเป็นระลอกที่ 5 ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงวันละ 5,500 รายโดยประมาณ ขณะที่มีประชากรน้อยกว่า 1,000,000 คน ส่วนรายงานการเฝ้าระวังโควิดแห่งชาติของไซปรัสเผยเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2565 พบยอดผู้ติดเชื้อโควิดระหว่างวันที่ 21 ธ.ค. 2564 – 3 ม.ค. 2565 อยู่ที่ 28,414 ราย ขณะที่อายุโดยเฉลี่ยของผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 28 ปี แสดงให้เห็นว่า เชื้อสามารถแพร่กระจายในกลุ่มเยาวชนได้อย่างรวดเร็ว