สรุปสถิติอุบัติเหตุ 7 วัน ช่วงปีใหม่ 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 ราย ตาย 333 ราย สาเหตุหลักขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ เชียงใหม่-กทม.-กาญจนบุรีแชมป์สูญเสียสะสม ขณะที่ 9 จังหวัดไร้ตาย ศปถ.ชี้ยอดลดลงกว่าปีที่แล้ว พร้อมถอดบทเรียนไปสู่เป้าหมายลดอัตราเสียชีวิตให้เหลือ 12 ราย ต่อประชากรหนึ่งแสนในปี 2570
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 209 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 21 ราย ผู้บาดเจ็บ 202 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 34.45% ตัดหน้ากระชั้นชิด 25.36% ดื่มแล้วขับ 21.05% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 82.04% รถปิกอัพ/กระบะ 6.31% อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 82.78% ถนนกรมทางหลวง 40.67% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 38.28% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01 – 19.00 น. 10.53% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40 – 59 ปี 17.49%
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,904 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,417 ราย เรียกตรวจยานพาหนะ 388,227 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 78,340 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 23,131 ราย ไม่มีใบขับขี่ 20,023 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา 11 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา 11 ราย
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2564 – 4 ม.ค. 2565 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 333 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,672 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ 96 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 22 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี จังหวัดละ 93 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันของการรณรงค์มี 9 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา ยะลา สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัย และแพร่
นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 พบว่า จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการดำเนินมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น รวมถึงความร่วมมือในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยของประชาชน
แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี พร้อมบูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะลักษณะกายภาพของถนน ความพร้อมด้านสภาพร่างกายและช่วงอายุของผู้ขับขี่ กิจกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในห้วงเทศกาล และช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ. 2570