สธ.ชี้คลัสเตอร์โอไมครอน จ.กาฬสินธุ์ เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ ลาม 11 จังหวัด หลังผู้ติดเชื้อ 1-2 ราย กระจายเชื้อ 200 ราย ส่วนคลัสเตอร์นักศึกษาใน กทม.พบจากวงร้านอาหารกึ่งผับ เหตุแออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี แสดงดนตรี ดื่มเหล้า ไม่เข้มงวดมาตรการ ย้ำช่วงปีใหม่หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง การ์ดอย่าตก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ 2,575 ราย เสียชีวิต 17 ราย ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลง แต่ยังพบความเสี่ยงผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ศบค.จึงชะลอระบบ Test &Go เพื่อลดผู้ติดเชื้อเข้าประเทศ แต่ทั้งนี้ ส่วนในประเทศยังพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ทั้งร้านอาหาร บาร์ ตลาด รวมทั้งความเสี่ยงที่มีคนรวมกันหมู่มาก
"หลังปีใหม่คาดว่าแนวโน้มอาจมีการระบาดเพิ่มขึ้นแต่จะพยายามลดการระบาดให้มากที่สุดโดยมีมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม แนะนำผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มครบ 3 เดือนแล้วให้ไปฉีดเข็มกระตุ้น ส่วนคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้รีบมาฉีด และเข้มมาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี ผู้คนในสถานที่นั้นไม่สวมหน้ากาก ส่วนขนส่งสาธารณะแนะนำให้ตรวจ ATK เป็นระยะ สวมหน้ากากตลอดเวลาที่เดินทาง" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการสอบสวนคลัสเตอร์โอมิครอนที่สำคัญ 2 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ แพร่กระจายหลายจังหวัดทั้งอีสานและภาคเหนือ มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนถือเป็น 'ซูเปอร์สเปรดเดอร์' พราะ 1-2 สามารถกระจายได้หลายร้อยเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งมีการแพร่กระจายไปยัง 11 อำเภอ ติดเชื้อรวมกว่า 248 ราย นอกจากนี้ ยังลามไปยัง 11 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู สกลนคร รวมทั้งลำพูน อุบลราชธานี พิษณุโลก ลำปาง เพชรบูรณ์
"ตอนนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่พบในบ้านเรา 2 ใน 3 เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อีกประมาณ 1 ใน 3 เป็นผู้สัมผัสผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ในสถานการณ์ที่ระบบสาธารณสุขลงไปสอบสวนควบคุมโรคร่วมกับหลายหน่วยงาน ยังทำให้เราสามารถตรวจจับการระบาด และควบคุมการระบาดได้" นพ.โอภาส กล่าว
โดยกรณีผู้ป่วยโอไมครอน 2 ราย ไปที่ จ.กาฬสินธุ์ และไปสถานบันเทิง จุดสำคัญคือ ร้านอาหารที่แปลงมาจากบาร์แต่ไม่ได้ปรับปรุงระบบระบายอากาศ ทำให้มีความเสี่ยงสูง พบว่าผู้ติดเชื้อไปร้านอาหาร 2 แห่ง คือร้าน BAR S ที่เจ้าของร้านกำกับติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคเข้มข้น โดยมีบริการ 10 โต๊ะ รองรับได้ 40 คน วันนั้นรับลูกค้าเพียง 10% และเปิดเพียง 3 ชั่วโมง จัดอุปกรณ์เฉพาะบุคคล ไม่มีส่งเสริมการขายแอลกอฮอล์ ไม่มีแสดงดนตรี พนักงานฉีดวัคซีนทุกคน ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ คัดกรองอุณหภูมิผู้รับบริการ ช่วงที่ไม่รับประทานอาหารให้สวมหน้ากากตลอด ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย
ขณะที่ร้าน BAR K ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มี 15 โต๊ะ รองรับได้ 80 คน มีการเสริมโต๊ะ ระบบระบายอากาศไม่ดี ลูกค้าอยู่กันแออัด 90% และอยู่นานเพราะมีดนตรีและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแอลกอฮอล์ พนักงานฉีดวัคซีนทุกคน แต่ไม่มีการตรวจ ATK ไม่คัดกรอง Thai Save Thai และยังรับประทานอาหารร่วมกัน พนักงานป่วยไม่หยุดงาน ลูกค้ามีการคัดกรองอุณหภูมิ แต่ไม่คัดกรองความเสี่ยงและเว้นระยะห่างได้ไม่ดี ถือเป็นบทเรียนที่ร้านอาหารต้องปรับปรุง และเป็นข้อเตือนใจลูกค้าให้หลีกเลี่ยงร้านที่มีความเสี่ยงคือ แออัด ระบายอากาศไม่ดี ผู้คนไม่ใส่หน้ากาก เพื่อความปลอดภัย
“เป็นข้อมูลเพื่อเป็นอุทาหรณ์ หากในปีใหม่เชื่อว่าหลายท่านมีกิจกรรมพบปะสังสรรค์กัน หากทราบว่าตรงไหนเป็นจุดเสี่ยงก็ไม่ควรจะเข้าไป ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ ที่ๆ คนอยู่กันแออัด ระบายอากาศไม่ดี คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า อีกคลัสเตอร์คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. วันที่ 24 ธ.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 52 ราย มีประวัติรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารคล้ายผับ 'ร้าน A' ช่วงวันที่ 8-14 ธ.ค. 2564 พบว่าไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting ลูกค้าอยู่ค่อนข้างแออัดและระบบระบายอากาศไม่ดี ตรวจสอบหาเชื้อในสิ่งแวดล้อมพบเชื้ออยู่ในเครื่องปรับอากาศ ดังนั้น ขอให้ใช้เวลารับประทานอาหารให้น้อยที่สุด ช่วงที่ไม่รับประทนอาหารให้สวมหน้ากาก ซึ่งหากทุกคนใส่หน้ากากจะลดเสี่ยงการติดเชื้อมากกว่า 90% ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากชนิดใด สิ่งสำคัญคือต้องใส่ให้ถูกต้อง
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ส่วนการแจ้งเตือนภัยโควิดระดับ 3 ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการไปสถานที่เสี่ยง คือ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานที่ระบบปิดและแออัด กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบไม่ควรไปร่วมกิจกรรมที่คนรวมกันจำนวนมาก หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ และงดเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนคนทั่วไป ให้เดินทางเท่าที่จำเป็น โดยการเข้าประเทศจะเป็นระบบกักตัว ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนข้อมูลทั่วโลกเห็นตรงกันว่าระบาดมากขึ้น แต่ความรุนแรงลดลง เนื่องจากเชื้อจะอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่า กรณีจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ปัจจัยสำคัญคือเชื้อต้องมีความรุนแรงลดลง คนมีภูมิต้านทานมากขึ้น จากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อมาก่อน ทำให้คนและเชื้ออยู่ร่วมกันได้