สธ.เตือนภัยสาธารณสุขระดับ 3 ขอทุกคนป้องกันตัวเองเข้ม หลังพบติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่แล้ว 514 ราย 14 จังหวัด เปิดภาพ 3 ฉากทัศน์ ประเมินสถานการณ์โอไมครอนไทย หากหย่อนมาตรการ อาจติดเชื้อแตะ 3 หมื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โควิดว่า จากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.-18 ธ.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อสะสม 514 ราย กระจายใน 14 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบเข้าประเทศทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบไม่กักตัว (Test and Go) ระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และระบบกักตัว (Quarantine) แล้วเราตรวจจับได้หลังจากคนกลุ่มดังกล่าวกลับเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม แต่บางส่วนเล็ดลอดออกไป พบเป็นการสัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางจากต่างประเทศ 20% เช่น ไปเยี่ยมญาติ ก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ จึงต้องระมัดระวังให้มาก
สำหรับอาการของผู้ติดเชื้อโอมิครอน มีอาการน้อยจนถึงไม่มีอาการ 90% มีอาการเล็กน้อย 10% อาการมาก 3-4% ขณะที่โอมิครอนพบที่หลอดลมมากกว่าลงปอด ดังนั้นอาการที่พบได้มากคือ ไอ แต่หากลงปอดก็จะมีความรุนแรงเช่นเดียวกับโควิดสายพันธุ์เดลต้า ส่วนการศึกษาจากผู้ติดเชื้อโอมิครอน 41 รายที่เราทำการรักษาอยู่ พบว่า มีอาการไอ 54% เจ็บคอ 37% ไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% และไม่ได้กลิ่น 2%
ทั้งนี้ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโอไมครอน ได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไทยมีอยู่ในมือจำนวน 5 วัน พบว่า หากให้ยาตั้งแต่ต้น อาการจะดีขึ้นใน 24-72 ชั่วโมง และฟื้นกลับมาเป็นปกติได้
ประเมินโอไมครอนไทย หากหย่อนมาตรการอาจติดเชื้อแตะ 3 หมื่น
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิดในประเทศไทยปัจจุบันอยู่จุดต่ำสุด ขณะนี้ถึงทางแยกอีกครั้ง เพราะมีการระบาดของโอมิครอนเข้ามา โดยคาดการณ์ฉากทัศน์สถานการณ์มี 3 แบบ หลังปีใหม่ คือ แบบที่ 1 รุนแรงที่สุด ( Least favourable) เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น กรณีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโอไมครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมาก จะเกิดการระบาดและควบคุมยาก ใช้เวลา 3-4 เดือนควบคุมโรคได้ มีผู้ติดเชื้อ 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน
แบบที่ 2 ปานกลาง (Possible) มีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโอไมครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ชประชาชนให้ความร่วมมือ สถานประกอบการ จัดกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการ VUCA (Vaccine-Universal Prevention-Covid Free Setting-ATK) ดี จะมีผู้ติดเชื้อ 15,000-16,000 รายต่อวัน เสียชีวิตราว 100 รายต่อวัน ใน 1-2 เดือนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ทรงตัว
และแบบที่ 3 ดีที่สุด (Most favourable) ซึ่ง สธ.อยากให้เป็นไปตามฉากทัศน์นี้หรือดีกว่านี้ โดยมีอัตราการแพร่เชื้อของโอไมครอนไม่สูงมาก เนื่องจากยังควบคุมการระบาดในประเทศได้ช่วงเดือน ม.ค. 2565 เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้สูงทั้งเข็ม 1,2 และเข็มบูสเตอร์มากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ และประชาชนให้ความร่วมมือเต็มที่ ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก สถานประกอบการ จัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด และผับบาร์ เปิด ควบคุมได้ดีมาก จะมีผู้ติดเชื้อราว 10,000 รายต่อวัน ตัวเลขอาจสูงสุด 13,000 ราย และเสียชีวิต 60-70 คนต่อวัน ใช้เวลาควบคุมได้ใน 1-2 เดือน
“โรคนี้ป่วยได้ แต่ต้องรักษาได้ ไม่ให้เสียชีวิต หรือลดอัตราตายให้มากที่สุด สรุปภาพรวมขณะนี้สถานการณ์โควิดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ และประเทศแถบยุโรป เกิดจากโอมิครอน ประเทศไทยยังควบคุมผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้โอมิครอนเริ่มมากขึ้นในไทย เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่ แต่อาการส่วนใหญ่ยังไม่รุนแรง ไม่ป่วยหนัก แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวป้องกันโรค และขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 หรือเข็ม 3 เพราะลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ รวมทั้งขอให้มีการตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
โอไมครอนมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลในประเทศอังกฤษที่ได้มีการศึกษาความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน ลดลงเมื่อเทียบกับเดลต้า โดยสายพันธุ์เดลต้าโอกาสเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมี 50% และนอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 61% ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 20-25% และนอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 40-50%
ส่วนการศึกษาในแอฟริกาใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย. 2564 พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีร้อยละเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ความรุนแรงไม่แตกต่างกัน เนื่องจากเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่แถวหลอดลม มากกว่าลงปอด แต่ถ้าลงสู่ปอดก็จะเกิดอาการรุนแรงพอๆกันกับเดลต้า
เตือนภัยสาธารณสุขระดับ 3 ขอคนไทยป้องกันตัวเองเข้ม
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวเสริมอีกว่า หลังจากโอไมครอนระบาด ขณะนี้ประเทศไทยได้ยกระดับเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ
สำหรับการประเมินความเสี่ยง 5 ระดับ คือ สีแดงเข้ม, แดง, ส้ม, เหลือง และเขียว จะพิจารณาจาก 1.อัตราผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยต่อแสนประชากร/วัน และ 2.ความสามารถรองรับผู้ป่วย เตียงเขียว เหลือง แดง และดูการฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะแจ้งเตือนภัย 5 ระดับ
โดยทุกระดับต้องมีการป้องกันโรคขั้นสูงสุด ทั้งนี้ ระดับ 1 ความเสี่ยงน้อยใช้ชีวิตปกติ เปิดทุกอย่างได้ภายใต้มาตรการ Covid Free Settings, ระดับ 2 เร่งเฝ้าระวังคัดกรอง คนยังรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ เปิดระบบ Test and Go, ระดับ 3 จะจำกัดการรวมกลุ่ม, Work From Home, ขนส่งสาธารณะยังดำเนินการได้ตามปกติแต่มีการคัดกรองก่อนเดินทาง, การเดินทางเข้าประเทศใช้ระบบ Sandbox, ระดับ 4 ปิดสถานที่เสี่ยง, Work From Home, ชะลอการเดินทางเข้าประเทศ ให้เข้าเฉพาะระบบกักตัว หรือ Quarantine และระดับ 5 สถานการณ์เลวร้าย ประกาศเคอร์ฟิว, จำกัดการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ คัดกรองก่อนเข้าพื้นที่กรณีเดินทางข้ามจังหวัด
“ความรุนแรงโอไมครอนดูเหมือนน้อยกว่าเดลต้า เพื่อความไม่ประมาท จึงต้องยกระดับเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 3 เนื่องจากยังมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วติดเชื้อเข้ามา แม้มีมาตรการคัดกรอง ตรวจสอบวัคซีน ตรวจ RT-PCR หาเชื้อก่อนเดินทางและเมื่อมาถึงต้องตรวจอีก ก็ยังพบผู้เดินทางเข้ามาติดเชื้อ เพราะต่างประเทศยังมีความรุนแรง นี่จึงเป็นสัญญาณที่เราต้องระวังตัว รวมถึงยังเห็นคลัสเตอร์ในประเทศเป็นระยะ โดยเฉพาะระยะหลังๆ คนเดินทางกลับบ้านตั้งแต่คริสต์มาส รับประทานอาหาร ดื่มสุรา ทำให้ได้รับรายงานจากกองระบาดวิทยาเป็นระยะ ๆ ดังนั้นความร่วมมือจากประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ฉลองปีใหม่ให้มีความสุขและปลอดภัยคู่กับมาตรการ VUCA ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์, Covid Free Settings และ ATK โดยเฉพาะครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยง 608 ขอความกรุณาลูกหลานพามารับวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว