ศบค.เผยคลัสเตอร์โอไมครอน จ.กาฬสินธุ์ ติดเชื้อ 21 ราย รวมสะสม 205 ราย สุ่มตรวจตัวอย่างกลุ่มเดินทางจากต่างประเทศกว่าครึ่งเป็นโควิดกลายพันธุ์ ขณะที่ไทยส่วนใหญ่ยังเป็นเดลต้า 83.8%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนว่า ได้มีการกระจายไปแล้ว 98 ประเทศทั่วโลก มีการระบาดในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 50 รัฐ และเป็นการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าอย่างรวดเร็ว
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด สายพันธุ์โอไมครอน 205 ราย เพิ่มขึ้นจากรายงานเมื่อวันพุธที่ 22 ธ.ค.64 ซึ่งมีรายงาน 154 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในรูปแบบ Test&Go
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ส่วนกรณีคลัสเตอร์โอไมครอนที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยผู้ป่วยเป็นสามีภรรยาชาวกาฬสินธุ์ อายุ 47 ปี เดินทางมาจากประเทศเบลเยียม เข้าไทยเงื่อนไขฉีดวัคซีน 2 เข็ม ผลตรวจ PCR เป็นลบ เดินทางมาถึงไทย วันที่ 10 ธ.ค.2564 เข้าสู่มาตรการ Test&Go และตรวจ PCR ซ้ำ ผลเป็นลบ โดยมีประวัติการเดินทางไปหลายพื้นที่ ทั้งร้านอาหาร ธนาคาร และเดินทางข้ามจังหวัด ต่อมามีอาการ จึงได้ตรวจ RT-PCR ซ้ำ ผลเป็นบวก
จากการสอบสวนโรคพบผู้ติดเชื้อแล้ว 21 ราย และอยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากการเฝ้าระวังตรวจสายพันธุ์ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 20-23 ธ.ค.2564 จำนวน 874 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 83.8% เป็นสายพันธุ์เดลต้า ส่วนสายพันธุ์โอมิครอน 16.2% ขณะที่การตรวจหาเชื้อในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 221 ราย พบว่า 52.9% ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน เพิ่มจากเดิมที่พบเพียง 1 ใน 4
ทั้งนี้ ถ้าแบ่งตามรายจังหวัด พบว่า กทม. จำนวน 207 ตัวอย่าง พบติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน 43.5% และสายพันธุ์เดลต้า 56.5% ขณะที่ภูมิภาค จำนวน 667 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์เดลต้า 92.2%
พญ.อภิสมัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการรายงานจากอังกฤษพบว่าการอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วย ถ้าอยู่ร่วมบ้าน จะมีโอกาสติดเชื้อ 15% จึงเป็นที่มาที่ทำให้ทุกหน่วยงานยกระดับมาตรการเข้มงวด บางหน่วยงานเริ่มมีการยกเลิกเทศกาลปีใหม่ เพื่อเตรียมมาตรการให้รัดกุม เพราะการแพร่ระบาดที่มีการแพร่กระจายได้เร็ว ติดเชื้อได้ง่าย แม้จะมีรายงานผู้ป่วยอาการหนักน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แต่การจะสรุปว่าโอมิครอนอันตรายน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ถือว่าเป็นการด่วนสรุปที่ประมาทมากเกินไป
นอกจากนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวถึงในส่วนของคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังว่า ในส่วนคลัสเตอร์โรงงานและสถานประกอบการ มีการรายงานในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ กทม. เพชรบุรี ขอนแก่น ปราจีนบุรี ชลบุรี และอุดรธานี
คลัสเตอร์ตลาด พบที่บึงกาฬ ศรีสะเกษ อยุธยา ลพบุรี ส่วนห้างสรรพสินค้า มีเพชรบุรี เชียงใหม่ ตลาดน้ำ ที่อุบลราชธานี
คลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา มีจังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเลย
ส่วนแคมป์คนงาน มีรายงานสระแก้ว มีโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน และตอนนี้หลายๆ จังหวัดได้มีการเข้ากวดขันการเปิดสถานบันเทิง เนื่องจากมีการลักลอกเปิดในบางพื้นที่
"ขอเน้นย้ำว่าในการทำกิจกรรมงานศาสนาใดๆ ก็ตาม ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัยได้ตลอดเวลา แต่จะมีจุดอ่อน คือ เมื่องานพิธีกรรมสิ้นสุดลง จะมีการจัดเลี้ยง รับประทานอาหารร่วมกัน มีการจัดวงไพ่วงการพนัน ทำให้มีการถอดหน้ากากอนามัย เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ ขอให้ผู้จัดเฝ้าระวัง" พญ.อภิสมัย กล่าว
ทางด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนว่า ขณะนี้พบเชื้อโอไมครอน 106 ประเทศ เข้าใจว่าจริงๆ ตัวเลขน่าจะมากกว่านี้ เพราะบางประเทศอาจจะไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อเกือบครบทุกรัฐแล้ว
ทั้งนี้ ยืนยันว่าโอไมครอนมีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 3 สายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนี้ คือ BA 1 หรือสายพันธุ์เดิมที่มีการกลายพันธุ์ในช่วงแรก และยั่งยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวไหนทั้ง BA 1, BA2 และ BA3 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังสามารถตรวจจับได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยล่าสุด จากการตรวจคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในประเทศรอบนี้ไม่เจอเชื้ออัลฟ่า และเบต้า แต่พบสายพันธุ์เดลต้า และ 732 ราย โอไมครอน 142 ราย บวกกับของเดิมที่รายงานไปก่อนหน้านี้คือ 63 ราย เท่ากับขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยแล้ว 205 ราย ถ้าดูภาพรวมภายในประเทศเกือบพันตัวอย่าง จะพบว่าเป็นการติดเชื้อโอไมครอน ประมาณ 16% แบ่งเป็น กทม.อยู่ที่ 40% และภูมิภาค 8%
“ขอย้ำว่าไม่ต้องตื่นตระหนกกับกรณีในพื้นที่กรุงเทพฯ เจอสัดส่วนโอไมครอนมาก ขอให้เข้าใจว่านับตามพื้นที่การส่งตัวอย่างมาตรวจหาเชื้อ ไม่ใช่ตามภูมิลำเนาของผู้ติดเชื้อ เมื่อเดินทางมาจากต่างประเทศแล้วลงเครื่องบินที่สนามบินสุวรณภูมิ ขณะรอผลตรวจก็พักในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ย่อมมีสัดส่วนเจอในพื้นที่กรุงเทพฯตัวเลขมากกว่าพื้นที่อื่น” นพ.ศุภกิจกล่าว
สำหรับในจำนวนผู้ติดเชื้อ โอไมครอน 205 ราย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 180 ราย คนไทยที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ 25 ราย โดยยังเป็นการติดเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศในจำนวนนี้มีคลัสตเตอร์ใหญ่ที่สุด คือ สองสามีภรรยาที่กาฬสินธุ์ขณะนี้ตรวจพบการติดเชื้ออีก 20 ราย รวมสองสามีภรรยา ก็เป็น 22 ราย ในจำนวนนี้มี 5 รายที่ตัวอย่างไม่สมบูรณ์อยู่ระหว่างการเก็บสิ่งส่งตรวจใหม่ ส่วนคลัตเตอร์อื่นอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค มีภาคใต้ อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค เพราะเป็นการส่งตรวจเชื้อ อาจไม่ใช่จังหวัดนั้นๆ ขอรอรายละเอียดก่อน
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการแพร่เชื้อจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีคลัสเตอร์ที่ติดกันเหมือนกรณีกาฬสินธุ์เพิ่มเติมได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเชื้อมีการแพร่ระบาดเร็ว ฉะนั้นอยากให้ช่วยกันเพื่อลดความเสี่ยงเพื่อคงการติดเชื้อระดับน้อยออกไปให้ได้นานที่สุด แม้ว่าสสุดท้ายก็จะเกิดการแพร่ในประเทศได้ แต่จากหลักฐานเชิงประจักษ์เชื้อโอไมครอนไม่ได้รุนแรงเท่าไหร่ จึงไม่น่าจะต้องวิตกกังวลมากนัก แต่ขอให้ช่วยมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ