บริษัท แอสตร้าฯเผยผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบฉีดวัคซีนแอสตร้าฯเป็นบูสเตอร์โดส ช่วยกระตุ้นภูมิสูงต้านโอไมครอนได้ พร้อมเดินหน้าทดลองพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่รับมือโควิดกลายพันธุ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่าการฉีดวัคแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้ผลเช่นเดียวกันกับหลังได้รับวัคซีนเข็มที่สองต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า
โดยข้อมูลจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการล่าสุด แสดงให้เห็นว่าว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant]) เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม มีประสิทธิภาพสูงในการเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 (B.1.1.529) สายพันธุ์โอไมครอน
การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 สามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 โดยพบว่าระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น มีระดับสูงกว่าที่พบในผู้ที่เคยติดเชื้อและหายป่วยได้เองจากโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์กลายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟ่า เบต้า และเดลต้า
โดยเซรั่มที่นำมาทดสอบนั้นมาจากผู้ที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามมาแล้วหนึ่งเดือน พบว่าระดับการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ผลเช่นเดียวกันกับหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งการศึกษาการใช้จริงในหลายการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดสสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้
นอกจากนี้การศึกษาได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของผู้เคยป่วยโควิด ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสและได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว และผู้ที่มีประวัติการป่วยโควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่นๆที่ได้รับวัคซีน 3 เข็มแล้ว จำนวน 41 คน ซึ่งเป็นการศึกษาอิสระโดยผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และจะมีการเผยแพร่บนระบบจัดเก็บเอกสารวิชาการก่อนการตีพิมพ์ออนไลน์ bioRxiv
ศาสตราจารย์ เซอร์ จอห์น เบลล์ ราชศาสตราจารย์ (Regius Professor) ด้านการแพทย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร หนึ่งในผู้วิจัย กล่าวว่า การค้นพบว่าวัคซีนป้องกันโควิดที่ใช้ในปัจจุบันสามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง ผลการศึกษานี้สามารถช่วยสนับสนุนแนวทางของประเทศต่างๆ ในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่าง ๆ รวมถึงสายพันธุ์โอไมครอน
ด้าน เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ กล่าวด้วยว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั่วโลก ข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดนี้นำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือการพิจารณาถึงแง่มุมอื่น ๆ นอกจากแค่เพียงระดับแอนติบอดี เพื่อที่จะทำความเข้าใจประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ในขณะที่เราเข้าใจสายพันธุ์โอไมครอนมากขึ้น เราเชื่อว่าการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อรุนแรงและป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิดในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ในระยะยาว
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน พบว่า ในผู้ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวจำนวน 2 โดส สามารถคงระดับการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ แม้ว่าจะมีระดับฤทธิ์ลบล้างที่ลดลงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
ที่สำคัญยังมีการศึกษาอื่น ๆ แสดงให้เห็นด้วยว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) ที่หลากหลายและยาวนานต่อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อไวรัสที่ครอบคลุมมากกว่าแค่แอนดิบอตีเพียงอย่างเดียว และอาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับการป้องกันโรคโควิด
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในการต่อต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โดยคาดว่าจะมีผลการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ บริษัทกำลังเก็บข้อมูลการใช้งานจริงเพื่อประเมินระดับประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนร่วมกับกลุ่มนักวิชาการในภูมิภาคแอฟริกาใต้
ทั้งนี้ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ กำลังทำการวิเคราะห์เลือดของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดลองระยะที่ 2/3 เพื่อประเมินประสิทธิภาพการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน หลังการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเดิม และวัคซีนรุ่นใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัย (AZD2816) ด้วย
ข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่น่ากังวล ได้แก่ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า ไม่รวมสายพันธุ์โอไมครอน สนับสนุนการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ทั้งหลังการใช้วัคซีนชนิดเดียวกันและต่างชนิดกัน
ส่วนการวิเคราะห์ย่อยของผลการทดลอง COV001 และ COV002 แสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว 6 เดือน สามารถกระตุ้นระดับแอนติบอดีได้เพิ่มขึ้น 6 เท่าและรักษาการตอบสนองของทีเซลล์ให้อยู่ในระดับเดิม การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่สามยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา เบต้า และเดลต้า ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้วัคซีน 2 เข็ม ในการทดลองใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้เข็มแรก
นอกจากนี้ ผลการทดลอง COV-BOOST แสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมต่อทั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์ดั้งเดิม ไม่ว่าวัคซีนสองโดสแรกนั้นจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนไฟเซอร์ (BNT162b2)