‘อนามัยโพล’ชี้คนไทย 82% กังวลโควิดระบาดช่วงปีใหม่ กว่า 61% อยากให้คัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้มสร้างความเชื่อมั่นช่วงเทศกาล สธ.แนะแนวทางป้องกันตัวเอง-ครอบครัว พร้อมย้ำทุกภาคส่วนเคร่งครัดมาตรการ จะทำให้ช่วงเทศกาลนี้เป็นปีที่ปลอดจากโควิดและมีความสุขทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการป้องกันตนเองและครอบครัวในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า จากผลการสำรวจอนามัยโพล (Anamai Poll) ระหว่างวันที่ 1-20 ธ.ค.2564 พบว่า ประชาชนจำนวน 3,029 ราย ส่วนใหญ่ยังกังวลต่อการระบาดของโควิดถึง 82% โดยในจำนวนดังกล่าว 75.68% กังวลเพราะช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่มีกิจกรรมรวมกลุ่มกันมาก เช่น สังสรรค์ หรือท่องเที่ยว รองลงมา กลัวว่าจะมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ 70.37% กังวลเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังสูงอยู่ 47.07% กังวลเพราะสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน 40.83% กลัวว่าจะมีการลักลอบเปิดให้บริการของสถานบันเทิง 32.10% ส่วนที่เหลือกังวลด้วยเหตุผลอื่นๆ 4.2%
ขณะที่ประชาชนที่ไม่กังวลอีก 18% ส่วนใหญ่ไม่กังวลเพราะอยากใช้ชีวิตตามปกติและต้องอยู่ร่วมกับโรคให้ได้ 53% มั่นใจในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของสถานประกอบการ 45.21% รู้สึกชินกับสถานการณ์แล้ว 38.73% มั่นใจกับการควบคุมของภาครัฐ 32.99% เป็นการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ 13.70% และอื่นๆ 6.92%
ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงกิจกรรมที่ประชาชนคิดว่าจะทำให้เกิดการระบาด ได้แก่ การรวมกลุ่มในสถานประกอบการต่างๆ 67.29% การเดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยรถส่วนตัว 67.29% การเดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยขนส่งสาธารณะ 58.09% การเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ 56.57% การลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย 51.45% การท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ 37.33% การแสดงดนตรี คอนเสิร์ตในงานปีใหม่ 36.07% การรวมกลุ่มสังสรรค์ในครอบครัว หรือที่บ้าน 33.76% การรวมกลุ่มสวดมนต์ข้ามปี 23.80% และกิจกรรมอื่นๆ เช่น การพนัน 1.98%
ส่วนสถานที่ที่ประชาชนคิดว่าจะทำให้เกิดการระบาด ได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ 64.49% สถานที่ท่องเที่ยว 59.76% ตลาด 48.02% 4. ห้างสรรพสินค้า 44.86% 5.ขนส่งสาธารณะ 44.04% ร้านอาหาร 41.63% ร้านสะดวกซื้อ 21.81% โรงแรมและรีสอร์ท 20.65% ศาสนสถาน 17.46% และอื่นๆ 2.04%
นอกจากนี้การสำรวจครั้งนี้ ได้สอบถามเพิ่มเติมถึงแผนสังสรรค์ช่วงปีใหม่ของประชาชน พบว่า ประชาชนจะสังสรรค์ที่บ้าน 84.35% จะสังสรรค์ที่ร้านอาหาร 17.01% จะสังสรรค์ที่งานอีเวนต์หรือสถานที่ท่องเที่ยว 16.33% และอื่นๆ 6.46%
“ประชาชนส่วนใหญ่จะฉลองปีใหม่ที่บ้านกับคนในครอบครัว ซึ่งคาดว่าน่าจะสืบเนื่องมาจากวิถีนิวนอร์มอล มีส่วนน้อยที่จะสังสรรค์ที่ร้านอาหาร งานอีเวนต์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ข้อห่วงใยที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขคือการติดเชื้อโควิดในช่วงที่ผ่านมาติดมาจากครัวเรือน จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention เพื่อให้ปลอดจากโควิด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ปชช.กว่า 61% อยากให้คัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้มช่วงเทศกาล
นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการที่ประชาชนอยากให้ปฏิบัติเพิ่ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้แก่ การคุมเข้มคัดกรองผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 61.10% มีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสถานประกอบการ หรือสถานที่จัดงานปีใหม่ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด 60.54% การคุมเข้มและป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ อย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 57.97% การให้แสดงผลการฉีดวัคซีนก่อนเข้าสถานประกอบการต่างๆ 54.97% สถานประกอบการที่จัดงานปีใหม่จะต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข 54.22% ต้องแสดงผลตรวจ ATK ก่อนเข้าสถานประกอบการหรือสถานที่จัดงานปีใหม่ และ 3.19% อยากให้เข้มงวดกับผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการอย่างจริงจัง เช่น งดจัดงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในการป้องกันโควิดของประชาชนที่ทำได้ดี พบว่า มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยได้ดีที่สุด 97.2% รองลงมาคือ การล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ 94%
ส่วนพฤติกรรมที่ต้องปฏิบัติให้มากขึ้น คือ การสวมหน้ากากอนามัยในบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และการเช็คอินแอปพลิเคชัน ‘ไทยชนะ’ หรือ ‘หมอชนะ’ ซึ่งพบว่าในปัจจุบันมีผู้เช็คอินลดลง
เปิดแนวทางป้องกันตัวเอง-ครอบครัวช่วงปีใหม่
นพ.สุวรรณชัย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองและครอบครัวทั้งที่บ้านและสถานที่จัดอีเวนต์เคานต์ดาวน์เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโลกอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- มาตรการเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัย
-
ก่อนเดินทางให้ประเมินตนเองผ่าน ‘ไทยเซฟไทย’
-
เพิ่มความมั่นใจด้วยการตรวจ ATK
-
หากมีไข้ ป่วย ให้งดเดินทาง
-
มีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์
-
ล้างมือบ่อยๆ
-
เลี่ยงจุดเสี่ยที่มีคนแออัดและรักษาระยะห่าง
-
ควรสวมหน้ากากอนามัยแม้อยู่ในรถ
-
เมื่อถึงจุดหมายให้อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
- มาตรการเพื่อสังสรรค์อย่างปลอดภัย
กรณีเมื่อจัดงานที่บ้าน ขอให้เลือกจัดงานในสถานที่เปิดโล่งหรืออากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดการสัมผัสโอบกอด กินอาหารที่ปรุงสุกและมีภาชนะสำหรับกินส่วนตัว ควรมีระยะห่างหรือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม และควรสวมหน้ากากแม้จัดงานที่บ้าน
กรณีเข้าร่วมงานนอกสถานที่ ขอให้เลือกสถานที่ที่ได้รับการรับรองหรือมีเครื่องหมาย Covid Free Setting หรือ SHA Plus สถานที่ต้องเปิดโล่งอากาศถ่ายเทสะดวก พยายามเลี่ยงงานที่มีคนจำนวนมากๆ ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA (เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ วัดอุณหภูมิ เช็คอินผ่านแอปพลิเคชัน)และเลี่ยงการรวมกลุ่มดื่มสุรา รวมถึงต้องปฏิบัติตามกฎของสถานที่
ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนคุมเข้มงานเคานต์ดาวน์
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงการการ์ดตกเมื่อไปรวมงานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ว่า การป้องกันนั้นดีกว่าการแก้ไข จึงขอให้ผู้จัดงานปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ขออนุญาตไป และขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำกับดูแลควบคุมสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
ส่วนประชาชน ขอให้ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดภายใต้หลักการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล Universal Prevention, DMHTA และรู้จักประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หากรู้ว่ามีความเสี่ยงขอให้ตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด 7 วัน
เน้นย้ำองค์กรตรวจ ATK กลุ่มเสี่ยงเดินทางช่วงปีใหม่
เมื่อประชาชนกลับมาจากภูมิลำเนาแล้ว นพ.สุวรรณชัย กล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ทุกองค์กรปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งพนักงานจะต้องประเมินความเสี่ยงก่อนกลับมา หากประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงจะต้องตรวจ ATK ไปตามความเสี่ยง อย่างไรก็ตามก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK 100% เพราะหากเขาไม่ได้ไปพื้นที่เสี่ยง อาการเสี่ยง และที่สำคัญฉีดวัคซีนครบถ้วน ตรงนี้ไม่เข้าเกณฑ์มีความเสี่ยงก็จะไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด
แต่หากบางองค์กร จะได้รับผลกระทบสูงหากเจอผู้ติดเชื้อ ก็สามารถตรวจ ATK 100% ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามบริบทและความเหมาะสมขององค์กร
“ปีใหม่คือวันแห่งความสุขของทุก ๆ คน แต่จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นในช่วงปีใหม่ หากเราทุกคน ทุกบ้าน ทุกครอบครัว ช่วยกันเฝ้าระวังตนเองอย่างเข้มข้น ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention และ DMHTA อย่างเคร่งครัดต่อเนื่องแล้วปีใหม่นี้จะเป็นปีใหม่ที่ปลอดภัยจากโควิดและมีความสุขกันทุกคน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว