ออมสินลดต้นทุนในการบริหารกว่า 1.2 หมื่นล้าน นำกำไรในปี 64 เยียวยา-เสริมสภาพคล่องผ่าน 36 โครงการ ช่วยประชาชนกว่า 11.6 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินรวมมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท พร้อมชูแผนปี 65 เดินหน้าธนาคารเพื่อสังคม ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ เน้นสร้างอาชีพให้ลูกค้ากลับมายืนได้หลังโควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ เช่น การปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องให้ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากในอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการพักชำระหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสม
จากการบริหารธนาคารกว่า 18 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารได้ขับเคลื่อนภารกิจธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) จากที่ได้เริ่มต้นมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการรายย่อย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
นายวิทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้เน้นการควบคุมค่าใช้จ่าย ทำให้ลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้มากกว่าหมื่นล้านบาท โดยกำไรที่เกิดจากการประหยัดค่าใช้จ่ายได้นำไปสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคมตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ซึ่งเป็นตัวเลขกำไรที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับกำไรในปี 2562 ที่เป็นช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 89,730 ล้านบาท รายได้อื่นๆ 10,320 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จายดอกเบี้ยอยู่ที่ 28,040 ลดลง 7,859 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 28,790 ลดลง 4,400 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินสามารถลดต้นทุนกว่า 12,259 ล้านบาท
จากผลการบริหารการดำเนินงานที่ดีขึ้นและต้นทุนทางธุรกิจที่ลดลงมาก ทำให้ธนาคารสามารถยกระดับความแข็งแกร่งขององค์กร สามารถ General Provision กันสำรองเพิ่ม 32,434 ล้านบาท รองรับ NPL ได้กว่า 60,000 ล้านบาท และนำส่งรายได้เข้ารัฐได้สูงสุดในรอบ 3 ปีย้อนหลัง จำนวนเงิน 15,978 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง
นายวิทัย กล่าวอีกว่า สำหรับกำไรจากการดำเนินงานในปี 2564 ธนาคารได้นำไปช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก ผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ผ่านมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู และเสริมสภาพคล่องอย่างครบวงจรอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วกว่า 36 โครงการ ช่วยเหลือประชาชน 11.6 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และด้านการเสริมสภาพคล่อง ธนาคารสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันยังช่วยปรับลดโครงสร้างดอกเบี้ยตลาดจากการร่วมกับพันธมิตรในการทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในอัตราดอกเบี้ยที่ 14-18% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดที่ 24% ซึ่งช่วยให้ผู้กู้รายย่อยได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมากขึ้น
รวมถึงเป็นการดึงผู้กู้นอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วยการปล่อยกู้ให้ผู้ที่มีหลักฐานทางการเงินไม่เพียงพอที่จะกู้สถาบันการเงินอื่นด้วย และช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เสียประวัติการเงิน อยู่ที่จำนวนกว่า 3.4 ล้านราย หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานทางการเงิน
ปัจจุบัน ธนาคารมีสินทรัพย์ 2.97 ล้าน มีเงินฝากรวม 2.55 ล้านล้านบาท มีสินเชื่อรวม 2.26 ล้านล้านบาท และมีระดับ NPLs ที่ 2.56% และ BIS Ratio 15.82%
"ในปีหน้าธนาคารได้มีเป้าหมายหลักสำคัญเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชน รวมไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน" นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2565 ภายใต้จุดยืนธนาคารเพื่อสังคม ด้วยเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรม ธนาคารมุ่งเน้นดำเนินการ 5 ภารกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย
-
การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อช่วยสร้างทักษะอาชีพ สนับสนุนเงินทุน และช่องทางการสร้างรายได้ ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องออกจากการจ้างงานจากวิกฤติโควิด
-
จัดทำโครงการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และหากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2565 โดยมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมเป็นธรรมสำหรับลูกค้ากลุ่มฐานราก
-
การพัฒนา Digital Lending ให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบนสมาร์ทโฟนด้วยแอป MyMo ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล Alternative Data Analytic หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน MyMo ได้มากกว่า 1.5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 24,000 ล้านบาท นับว่าธนาคารประสบความสำเร็จสามารถเติมเม็ดเงินช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมากด้วยระยะเวลาอันสั้น
-
การออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมสินเพื่อการเกษียณ ซึ่งธนาคารเตรียมยกระดับการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มฐานรากมีความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย
-
การขาย หรือ โอนหนี้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพย์สินของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ซึ่งคาดว่ากฎกระทรวงจะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับภายในปี 2565