ประกันสังคมพร้อมเดินหน้าปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ เผย 3 ความคืบหน้าแก้ไขกฎหมาย ขยายอายุรับประโยชน์กรณีชราภาพเป็น 60 ปี ส่วนการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง-อัตราเงินสมทบอยู่ระหว่างดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2564 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเสนอการข่าวของสื่อออนไลน์ จากนักวิจัยเขียนวิเคราะห์ เตือนกองทุนประกันสังคมจะมีปัญหาความยั่งยืนที่ชัดเจนภายใน 10 ปี หากไม่มีการดำเนินการนโยบายใดๆ โดยเฉพาะกองทุนชราภาพจะมีปัญหาที่สูงที่สุด และเสนอแนะทางแก้ไขเชิงนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานค่าจ้างสูงสุด ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ รวมทั้งขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ได้เล็งเห็นสภาพปัญหาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในอนาคต พร้อมทราบดีถึงสถานการณ์ดังกล่าว และเป็นผู้ประเมินสถานะกองทุนร่วมกับงานวิจัยหลาย ๆ ฉบับที่ข่าวอ้างถึง โดยสำนักงานประกันสังคมมีนโยบายปฏิรูปตามข้อเสนอแนะของผู้เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ การดำเนินการจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทำในช่วงสถานะการเศรษฐกิจที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าในส่วนการแก้ไขกฎหมาย ได้แก่
1.สำหรับการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ในลำดับแรก สปส.ได้เสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 บาทเพิ่มทั้งความยั่งยืนของกองทุน และสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีต่าง ๆ ได้แก่ กรณีชราภาพ ว่างงาน คลอดบุตร เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ให้แก่ผู้ประกันตน ทั้งนี้ชะลอการดำเนินการไว้เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด
2.สำหรับการขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำ สปส.ได้เสนอให้ปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 5 ขยายจาก 55 เป็น 60 ปี โดยผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว ซึ่งการดำเนินการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ประกันปัจจุบันที่ใกล้เกษียณไม่ได้รับผลกระทบ
3.สำหรับกรณีปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ สำนักงานยังไม่ได้เสนอปรับแก้ไขใน พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 5 โดย สปส.เป็นนโยบายที่ควรดำเนินการในระดับประเทศ ผ่านคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ที่กำลังจะตั้งขึ้น เพื่อให้นโยบายการจัดเก็บเงินสมทบเป็นไปได้อย่างสอดคล้องกันในภาพรวมประเทศ
ทั้งนี้ การปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบบำนาญชราภาพ รองรับโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะส่งผลให้มีจำนวนแรงงานลดลงและส่งผลให้มีจำนวนผู้สูงอายุและผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระบบการแพทย์ที่ดีขึ้นและสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น เนื่องจากบำนาญประกันสังคมเป็นการดูแลตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นก็จะตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อไม่ให้ต้นทุนสูงขึ้นมากจนเกินไป ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องนำส่ง สปส.จึงมีนโยบายการปรับปรุงอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ หรือที่เรียกกันว่าอายุเกษียณ เพื่อให้เกิดสมดุลกับโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ และควบคุมต้นทุนของระบบบำนาญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยการขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นมาตรการปกติที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกดำเนินการ
สำนักงานประกันสังคมจึงขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งที่จะใช้กับผู้ประกันตนใหม่และผู้ประกันตนที่อายุน้อยเท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนปัจจุบันที่ใกล้เกษียณอายุจะไม่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ การขยายอายุเกิดสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญในอัตราที่สูงขึ้น โดยจะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นในอัตรา 1.5% ต่อทุกปีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ
ตัวอย่างเช่น หากส่งเงินสมทบกรณีชราภาพตั้งแต่อายุ 35 ปี และทำงานจนถึงอายุ 55 ปี เท่ากับทำงาน 20 ปี หากมีค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 15,000 บาท จะได้บำนาญในอัตรา 35% ของ 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 5,250 บาท และหากขยายระยะเวลาการทำงานถึงอายุ 60 จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 7.5% ทำให้บำนาญเพิ่มเป็น 42.5% ของค่าจ้าง 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 6,375 บาท (เพิ่มขึ้น 1,125 บาท) ไปตลอดชีวิต
สปส.ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว ได้ผ่านการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็ปไซต์ สปส. และมีการสรุปการรับฟังความคิดเห็นให้ทราบด้วยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ. และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในลำดับถัดไป หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง