'ม.ฮ่องกง'เผยผลวิจัย โควิดสายพันธุ์โอไมครอนแพร่เร็วกว่าเดลต้า 70 เท่า จากการตรวจสอบเนื้อเยื่อหลอดลม แต่แพร่ช้ากว่า 10 เท่าหากเป็นเนื้อเยื่อปอด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์อันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19หรือโคโรน่าไวรัสว่ามีการเปิดเผยข้อมูลว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นมีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วกว่า 70 เท่าเมื่อเทียบกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งการศึกษาดังกล่าวนั้นเป็นการศึกษาที่มาจากการศึกษาตัวอย่างเนื้อเยี่อจากหลอดลมในระดับห้องปฏิบัติการณ์
โดยการศึกษาดังกล่าวมากจากการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงยังพบข้อมูลด้วยว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีการแพร่กระจายเชื้อได้ช้ากว่า 10 เท่าในเนื้อเยื่อปอด ซึ่งผู้ดำเนินการวิจัยได้อธิบายว่านี่อาจเป็นสาเหตุของความรุนแรงซึ่งลดลงในกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน
ขณะที่นายไมเคิล ชาน ชีไว ผู้ดำเนินการวิจัยกล่าวว่าผลการวิจัยดังกล่าวนั้นยังต้องมีการตีความด้วยความระมัดระวังเพราะคำว่าโรคที่ร้ายแรงนั้นไม่ได้ถูกกำหนดจากเกณฑ์แค่ว่าไวรัสสามารถแบ่งตัวเองได้เร็วเท่าใดเท่านั้น แต่ยังกำหนดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในแต่ละบุคคล และกำหนดจากการที่ว่าระบบภูมิคุ้มกันนั้นเมื่อได้รับไวรัสเข้าไปแล้วมีภาวะการทำงานที่หนักจนเกินความเป็นจริงทำให้เกิภาวะพายุไซโตไคน์หรือไม่
(ภาวะพายุไซโตไคน์นั้นเกิดขึ้นเมื่อร่างกายตรวจพบเจอสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัส เซลล์ภูมิคุ้มกันจะสร้างสารไซโตไคน์ออกมาโดยมีความตั้งใจเพื่อที่จะช่วยกระตุ้นการอักเสบตามกลไกธรรมชาติที่จำเป็นต่อการจำกัดเชื้อโรคที่มารุกรานร่างกาย แต่ถ้าหากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันสร้างไซโตไคน์ออกมามากเกิน และเสียการควบคุมในการยับยังการสร้างสารเหล่านั้นไม่ให้ออกมาเกินความจำเป็นได้ ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Cytokine Storm หรือ พายุไซโตไคน์ และส่งผลทำร้ายต่อเซลล์ทำให้เกิดระบบอวัยวะต่างๆ ล้มเหลวได้:อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จากเว็บไซต์โรงพยาบาลไทยนครินทร์ )
“ข้อสังเกตหนึ่งก็คือว่าถ้าหากไวรัสสายพันธุ์นี้มีการติดเชื้อไปยังหลายคนมากขึ้นเรื่อยๆ ไวรัสที่แพร่พันธุ์ได้เร็วนี้อาจก่อให้เกิดโรคที่ร้ายแรงตามมา และตามมาด้วยการเสียชีวิตแม้ว่าตัวไวรัสจะทำให้เกิดโรคที่น้อยลงก็ตาม ดังนั้นเมื่อรวมกับการศึกษาล่าสุดของเราที่แสดงให้เห็นว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสามารถหลบหนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและการติดเชื้อที่ผ่านมาได้จึงได้ข้อสรุปว่าภัยคุกคามจากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นถือว่ามีแนวโน้มว่าจะมีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง” นายชีไวกล่าว
ขณะที่นายเจเรมี่ คามิล ศาสตราจารย์ร่วมด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา ที่มหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียน่า เฮลท์ ชรีฟพอร์ต กล่าวว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้นที่ทำให้เกิดโรคที่มากขึ้น ก็พบว่ามีรูปแบบการแบ่งตัวของไวรัสที่ช้าลงเมื่ออยู่ในบริเวณปอดเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้มีการแบ่งตัวในอัตราที่สูงในหลอดลมดังกล่าวนั้นก็คือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไวรัสนี้มีศักยภาพสูงมากในการแพร่เชื้อระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/world/2021/dec/15/omicron-found-to-grow-70-times-faster-than-delta-in-bronchial-tissue