รองปลัดกระทรวงคมนาคม ยันไม่เคยพูดเรื่องปิดหัวลำโพง เพียงแค่ลดบทบาทลง ด้าน รฟท.เผยย้ายไปบางซื่อ ลดจุดตัดราง-ถนน แก้ปัญหารถติด แจงจะยังมีรถไฟชานเมืองเข้าสถานีกรุงเทพ 22 ขบวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องลดบทบาท หัวลำโพง หรือ สถานีรถไฟกรุงเทพลงว่า กระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบ รฟม. โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาล เรื่องขนส่งมวลชนระบบราง พัฒนาศูนย์กลางคมนาคมขนส่งระบบรางตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ได้รับการสนับสนุนจากทุกรัฐบาล ให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่
กระทรวงคมนาคมนั้น เมื่อมีการขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จ รัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ทำงานให้สำเร็จโดยตนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งมีทั้งเรื่องการเดินรถ และการจัดการบริหาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่รับผิดชอบทำความเข้าใจกับประชาชน ดูแลเรื่องการเปลี่ยนผ่าน
“ประชุมมาแล้ว 7 ครั้ง ยืนยันว่าไม่เคยพูดเรื่องการปิดหัวลำโพง เพียงแค่ลดบทบาท ย้ายบริการไปอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อการบริหารจัดการการเดินรถให้ง่ายขึ้นและเพื่อให้มีชุดเชื่อมต่อได้ง่ายในเรื่องของระบบราง ลดปัญหาการจราจรติดขัดจากปัญหารถไฟวิ่งเข้าออกในเมือง” นายสรพงศ์กล่าว
นายสรพงศ์ กล่าวด้วยว่า สถานีกลางบางซื่อ เป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ที่จะสร้างคามภูมิใจระดับชาติ พร้อมยืนยันยังคงการเดินรถช่วงชานเมืองเข้าหัวลำโพงไว้ แต่ลดบทบาทเพราะการเชื่อมต่อที่สถานีกลางบางซื่อสามารถเชื่อมต่อขนส่งมวลชนได้สะดวกกว่าจากการปรับการเดินรถของ ขสมก. ให้เข้าไปยังสถานีกลางบางซื่อ ส่วนอนาคตของหัวลำโพง จะมีการหารือกันว่าจะคงระบบรถไฟชานเมืองเอาไว้สำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง แต่บางกิจกรรมหรือบางหน่วยงาน เช่น การซ่อมบำรุง ก็อาจจะต้องย้ายไปที่บางซื่อ ทาง รฟท. ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับหัวลำโพงต่อไป
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องทุบหัวลำโพงที่สื่อเคยนำเสนอไปนั่นเป็นเฟกนิวส์ แท้จริงแล้วเป็นเพียงการลดบทบาทโดยการลดจำนวนขบวนรถจาก 118 ขบวน เหลือ 22 ขบวน หรือ 1 ใน 5 ภายในเดือน ธ.ค.นี้เท่านั้น เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดงถูกออกแบบมานานแล้ว อยู่ในแผนแม่บทมา 20-30 ปี มีการรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด อีกทั้งต้องการที่จะลดจุดตัดระหว่างรถไฟกับถนนทั้งหมดใน กทม. จำนวน 27 จุด โดยในแต่ละวันมีการวิ่งตัดของรถไฟกว่า 800 ครั้ง
“จากการรับฟังความคิดเห็นแล้ว กระทรวงคมนาคมมองว่าอาจต้องมีรถไฟบางขบวนที่ต้องเข้าหัวลำโพง จุดตัดหมดไป 86% ทำให้หัวลำโพงถูกลดบทบาท แต่ในอนาคตรถชานเมืองจะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเข้าหัวลำโพงแทน คนที่เข้าหัวลำโพงปัจจุบัน กระทรวงมองว่ายังมีความจำเป็น เพราะยังมีคนที่ใช้รถในชั่วโมงเร่งด่วนประมาณ 7,000 คน ส่วนพื้นที่บางส่วนก็จำปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและจุดจำหน่ายสินค้า และในปัจจุบันมีรถไฟฟ้ารองรับหลายสาย” นายพิเชฐ กล่าว