กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อ 'ไล่นายกฯพ้นตำแหน่ง-ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน-ปฏิรูปสถาบัน' พร้อมให้คืนสิทธิ์ประกันตัวนักโทษการเมือง นัดชุมนุมใหม่กลาง ม.ค.65
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2564 คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.) และกลุ่มแนวร่วม นัดหมายรวมตัวทำกิจกรรม'ราษฎรพิพากษามาตรา 112' ขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 และเรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวชั่วคราว แก่นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำ
โดยตั้งแต่เวลา 16.00 น. มวลชนได้เริ่มทยอยเข้ามาบริเวณแยกราชประสงค์ ก่อนจะทำการปิดถนนราชดำริขาออก ตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกประตูน้ำ และมีการตั้งเวทีใต้สะพานคนข้ามระหว่างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และห้างเกษรพลาซ่า
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ได้เข้าอ่านประกาศการรวมตัวหรือมั่วสุมชุมนุมไม่สามารถกระทำได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด หากฝ่าฝืนจะมีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค สร้างความไม่พอใจให้กับมวชนต่างตะโกนขับไล่ออกจากพื้นที่
สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปในพื้นที่ มีการตั้งซุ้มต่างๆ ของเครือข่ายเพื่อจำหน่ายสินค้า รวมทั้งกลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่จำหน่ายเสื้อ กลุ่มวีโว่จำหน่ายน้ำปลาร้า และกลุ่ม iLAW ตั้งบูทล่ารายชื่อยกเลิกมาตรา 112 ระบุว่าข้อหานี้มีปัญหาถึง 30 ประการ โดยเฉพาะการห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวสถาบันฯ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 -15 ปี โทษเท่ากับข้อหาฆ่าผู้อื่น เป็นข้อหาที่มีขอบเขตไม่ชัดเจนประชาชนไม่สามารถทราบว่ามีสิทธิพูดอะไรได้บ้าง และพอมีคดี 112 เกิดขึ้น การพิจารณาคดีไม่ปกติ มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม ทำให้สถาบันเป็นที่น่าหวาดกลัว
จากนั้นเวลา 20.00 น. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นำกลุ่ม ครย.ขึ้นเวทีอ่านแถลงการณ์ประณามการใช้อำนาจจับกุมนักโทษทางการเมือง พร้อมยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและองคาพยพพ้นจากตำแหน่ง 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นของประชาชน และ 3. ขอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
“ทั้ง 3 ข้อนี้ คือข้อเรียกร้องที่จะนำไปสู่หลักการประชาธิปไตยที่ว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย แต่ทว่าความรักชาติและประชาธิปไตยของราษฎรกลับถูกกล่าวหาด้วยกฎหมาย 112 จำนวน 162 คน โดยอีกกว่า 20 คน ยังถูกคุมขัง ไม่ได้รับสิทธิ์การประกันตัวอยู่ในขณะนี้ มีการดำเนินคดีด้วยมาตราดังกล่าวกับเด็กและเยาวชน ทั้งที่หลายรายพฤติการณ์ไม่สอดคล้องกับบริบทของกฎหมาย อีกทั้งโทษยังรุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผล ยิ่งไปกว่านั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้คำวินิจฉัยซึ่งเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 2557 ว่า การแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของแกนนำคณะราษฎรเมื่อวันที่ 3 และ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง ทำให้มีการฉวยโอกาสใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ข่มขู่ที่จะยุบพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 คุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบของประชาชน ” นายสมยศ กล่าว
และเวลา 20.58 น. นายธัชพงศ์ แกดำ ประกาศยุติการชุมนุม โดยกล่าวทิ้งท้ายว่าการชุมนุมครั้งใหม่กลาง ม.ค.ปีหน้าจะใหญ่กว่าเดิม และต้องจบที่รุ่นเรา ก่อนเชิญชวนให้ไปร่วมกิจกรรมกับ ‘ม็อบจะนะ’ ที่จะเดินเท้าไปที่หน้าทำเนียบได้ในวันพรุ่งนี้ พร้อมขอให้ทุกคนกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ