คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ส่งหนังสือด่วนถึงนายกฯ ขอให้ยับยั้งการถ่ายโอน รพ.สต.ให้แก่ อบจ. ระบุ 10 เหตุผล ขอทบทวนให้รอบคอบ ก่อนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา (กมธ.สธ.) ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่องขอให้ยับยั้งการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระบุว่า ด้วยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้พิจารณาศึกษาและติดตามการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. อย่างต่อเนื่อง พบว่า คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดเร่งรัดให้มีการโอนภารกิจ โดยมี รพ.สต.ที่ยื่นความประสงค์จำนวน 3,036 แห่ง ซึ่งจากการประเมินของ อบจ.ที่ยื่นขอรับการโอนถ่ายจำนวน 49 แห่ง โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดให้โอนถ่ายอำเภอละ 1 แห่ง สำหรับ อบจ.ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับดี และอำเภอละ 2 แห่ง สำหรับ อบจ.ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับดีมาก และทุกแห่ง สำหรับ อบจ.ที่ผ่านเกณฑ์ดีเลิศ โดยกำหนดให้วันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายในการยื่นเอกสาร สำหรับ รพ.สต.ที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน เพื่อให้ทันการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 นั้น
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข พิจารณาเห็นว่า การรวบรัดการดำเนินการดังกล่าวอาจสร้างปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคตด้วยเหตุผล ดังนี้
1.บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะถ่ายโอนยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่ได้พิจารณาประชุมในเรื่องนี้
2.พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 กำหนดให้มีแผนและขั้นตอน แต่การถ่ายโอนไป อบจ.ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่เนื่องจากในการถ่ายโอนที่ผ่านมา 51 แห่ง ก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นการถ่ายโอน รพ.สต.ไปองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลเท่านั้น จึงไม่มีแผนและขั้นตอนการถ่ายโอนไป อบจ.ให้บุคลากรด้านสาธารณสุขรับทราบแต่อย่างใด
3.หลังจากปี 2542 มีพระราชบัญญัติออกมาใช้บังคับอีกหลายฉบับ มีการเปลี่ยนแปลงและแนวคิดด้านกระจายอำนาจหลายประการแตกต่างจากแนวคิดปี 2542 จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทุกฉบับโดยรัฐธรรมนูญ
4.ระบบสาธารณสุขและเครือข่ายสาธารณสุขมีระบบส่งต่อผู้ป่วยไประหว่างเครือข่าย ไม่ได้มีลักษณะ Stand alone เหมือนบริการสาธารณะอื่น
5.ระบบสาธารณสุขมีการวางรากฐานและการพัฒนาเป็นขั้นตอนมาอย่างยาวนานร่วม 100 ปี จนสร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เคยขึ้นถึงอันดับ 6 ของโลกมาแล้ว
6.การจัดสรรงบอุดหนุนจากท้องถิ่นมาสมทบเป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้ รพ.สต.ได้งบประมาณเข้ามาเติมในระบบ แต่ควรคำนึงถึงระยะยาวว่าอาจเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเพียง 8 ปี ท้องถิ่นให้งบอุดหนุนเพิ่มมากถึง 726 ล้านบาท สำหรับ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนเพียง 51 แห่ง
7.การถ่ายโอน รพ.สต.เป็นนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบเป็นขั้นตอน
8.การกระจายอำนาจเป็นหลักการที่กี แต่มีหลายวิธี ไม่ใช่มีเพียงการถ่ายโอนเท่านั้น
9.นโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง สมควรทำประชามติหรือสอบถามประชาชนโดยตรงว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการขณะนี้
10.ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วในการควบคุมการระบาดของโควิด และในอนาคตอาจมีการระบาดใหม่ที่อาจมีความรุนแรงกว่าเดิม ต้องอาศัยเครือข่ายของระบบสาธารณสุขที่จะต้องทำงานประสานกันเหมือนปัจจุบัน ไม่ควรแยกจากกัน เพราะอาจสร้างปัญหาเหมือนกรุงเทพมหานครดังที่ผ่านมา
คณะกรรมการจึงขอให้มีการศึกษากรณีดังกล่าวให้รอบคอบ ก่อนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการอย่างรวบรัดจนทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในลักษณะที่ยากต่อการแก้ไข และขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการถ่ายโอนดังกล่าว เพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องต่อไป
ภาพจาก : ผู้จัดการออนไลน์
ข่าวประกอบ: