ป.ป.ช.แจงคดีบัญชีทรัพย์สิน 'ปารีณา-ธรรมนัส' มีความคืบหน้า แม้ผ่านมาลำบากเพราะโควิดทำให้รวบรวมข้อมูลยาก เผยล่าสุดคดีปารีณา บก.ปทส.สั่งฟ้องแล้ว ส่วนคดีธรรมนัสคาดรวบรวมข้อมูลเสร็จ มิ.ย. 65 ลงพื้นที่ดูฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงแรม -ส่วนคดีสำคัญอื่น ๆ "วรยุทธ อยู่วิทยา-ถุงมือยางแสนล้าน-จัดซื้อรถปรับอากาศ ขส.ทบ." กำลังรวบรวมหลักฐานอยู่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้มีการจัดกิจกรรมวันต่อต้อนคอร์รัปชั่นสากล ประเทศไทย ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง ซึ่งในระหว่างการจัดงานนั้นทาง ป.ป.ช.ได้มีการบรรยายสรุปภารกิจการทำงานของ ป.ป.ช.
ซึ่งในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ได้นำคำถามของผู้สื่อข่าวมาสอบถาม ป.ป.ช. ในหลายประเด็น ได้แก่ 1. กรณีน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีค ส.ส.จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐที่ถูกกล่าวหาเรื่องแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ และคดีบุกรุกทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งคดีนี้นั้นมีการพิพากษาโดยศาลฎีกาแล้วในเรื่องของจริยธรรม ส่วนเรื่องทุจริตนั้นกำลังมีการไต่สวนอยู่ 2.กรณีร้องเรียน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องเกี่ยวกับการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การแสดงรายได้ต่างๆ 3.คดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือว่าบอส กระทิงแดง ซึ่งพบว่ามีบุคคลช่วยเหลือนายวรยุทธจำนวน 16 ราย 4.คดีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุมัติให้เครือกระทิงแดงใช้ที่ดินขยายโรงงานที่ จ.ขอนแก่น 5.คดีสินบนโรลส์รอยซ์ 6.คดีปาล์มอินโด 7.คดีเฝ้าระวังการตรวจสอบงบบริหารโควิด-19 หลังจากที่มีการชี้มูลความผิดไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน 8.คดีจัดซื้อรถบัส ปรับอากาศ กรมการขนส่งทางบก และ 9.คดีถุงมือยางขององค์การคลังสินค้ามูลค่านับแสนล้านบาท
โดยจากข้อซักถามดังกล่าว น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ได้เป็นผู้ตอบคำถาม โดยตอบคำถามในคดีของ น.ส.ปารีณาว่า "คดีนี้นั้นมีอยู่สองส่วนคือเรื่องการบุกรุก ก็ได้มีการส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว และศาลก็ได้มีการยุติการทำหน้าที่ของ น.ส.ปารีณา ส่วนกรณีการปกปิดทรัพย์สินนั้น ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้มีการดำเนินการเกือบจะเสร็จแล้ว และทั้งหมดจะสรุปสำนวนคดีได้โดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทาง ป.ป.ช.ก็ได้มีการขอข้อมูลไปยังหลายหน่วยงาน แต่ปัญหาก็คือช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความลำบากในการขอข้อมูล ยกตัวอย่างเช่นเวลาขอข้อมูลไปทางสถาบันทางการเงิน สถาบันก็ชี้แจงมาว่าเจ้าหน้าที่นั้นมีการทำงานอยู่ที่บ้าน ก็นำมาสู่การได้รับข้อมูลซึ่งล่าช้า การประชุมซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้จำนวนคนไม่เกิน 5 คน รวมไปถึงการเชิญคนมาซึ่งก็มีความติดขัดเพราะเขากลัวติดเชื้อโควิดเป็นต้น"
“ในช่วงสองปีเราอึดอัดมาก เพราะว่าโควิดนั้นทำให้เราควบคุมไม่ได้ไม่ว่าจะทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา ส่วนในกรณีของ น.ส.ปารีณานั้นต้องขอเรียนว่าเข้าหน้าที่ได้มีการลงพื้นที่เยอะมาก ขอข้อมูลเยอะจนเจ้าหน้าที่รายงานมาว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสรุปสำนวนเพื่อยืนยันไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป แต่ตรงนี้ยังบอกผลไม่ได้” น.ส.สุภากล่าว
ขณะที่นายนิวัฒิไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้ให้ข้อมูลเสริมไปว่าคดีของ น.ส.ปารีณาในกรณีคดีบุกรุกทรัพยากรนั้นทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้มีการทำสำนวนสอบสวนเสร็จแล้ว และมีความเห็นสั่งฟ้อง บริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เป็นผู้ต้องหาที่ 1 น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เป็นผู้ต้องหาที่ 2 ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดตามกฎหมายที่ดิน และพระราชบัญญัติน้ำบาดาล ได้มีการส่งฟ้องไปยังอัยการจังหวัดราชบุรีแล้ว แต่เท่าที่ทราบมานั้นยังคงมีการขอความเป็นธรรมอยู่
@ ลงพื้นที่ ดู ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงแรม 'ธรรมนัส' แล้ว
ส่วนคดีทรัพย์สินของ ร.อ.ธรรมนัส นั้น น.ส.สุภา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็มีการลงพื้นที่ไปยังภาคเหนือและมีการตรวจหุ้นเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตาม พอทาง ป.ป.ช.ได้ลงพื้นที่ก็มีปัญหาในกรณีว่าไปเยอะก็ไม่ได้ การไปหาข้อมูลจากชาวบ้าน ก็ลำบากเพราะเขาก็ต้องทำงานที่บ้าน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่ากรณีของ ร.อ.ธรรมนัสนั้นคาดว่าจะเสร็จประมาณเดือน มิ.ย.2565 โดยล่าสุดนั้นประมาณวันที่ 15-23 พ.ย. 2564 ทาง ป.ป.ช.ก็มีการลงพื้นที่ที่ จ. พะเยา เช่นกันเพื่อจะไปดูฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงแรม ซึ่งทั้งหมด ป.ป.ช.ก็ได้ทำมาตลอดและทำมาอย่างเต็มที่
@คาดคดี 'วรยุทธ' เสร็จปลายปี 65 ส่วนที่เหลือกำลังรวบรวมหลักฐาน
น.ส.สุภากล่าวต่อว่า ส่วนในหลายๆคดี ที่มีการซักถามมาเช่น คดีของนายวรยุทธนั้นก็มีผู้ถูกกล่าวหาประมาณ 14 คน ซึ่งทางเราคาดว่าจะทำให้เสร็จประมาณ 14 เดือน คาดว่าน่าจะเสร็จได้ในช่วงปลายปี 2565
"ขณะนี้เรากำลังตรวจสอบเรื่องของเทป การสอบปากคำตลอดเวลา เช่นเดียวกับคดีปาล์มอินโด ก็ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วและรอคำชี้แจงสรุป คดีของ พล.อ.อนุพงษ์ก็กำลังมีการรวบรวมข้อมูล คดีสินบนโรลส์รอยซ์ได้มีการดำเนินการเสร็จแล้วแต่คณะกรรมการได้ให้มีการไต่สวนเพิ่มเติม เช่นเดียวกับคดีที่ บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ถูกตรวจสอบจากทางสหรัฐอเมริกาว่าได้ติดสินบนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาท ในขณะนี้นั้นทาง ป.ป.ช.ก็กำลังมีการตรวจเส้นทางทางการเงินอยู่ แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้"
น.ส.สุภากล่าว ต่อไปว่า ในคดีข้ามชาติที่เกี่ยวกับ ป.ป.ช. ยอมรับว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องจนทำให้ทาง ป.ป.ช.คิดว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาแทนเรื่องของสินบนแทนแล้วเนื่องจากฝั่งของผู้ที่ให้ข้อมูลนั้นไม่ให้ความร่วมมือ
น.ส.สุภายังได้กล่าวถึงคดีจัดถุงมือยางแสนล้านบาทขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ว่า ที่ผ่านมามีการอายัดเงินบางส่วนไปแล้วและกำลังสรุปสำนวนอยู่
เมื่อถามต่อถึงคดีรถปรับอากาศของ ขส.ทบ. นายนิวัฒิไชยได้ตอบคำถามนี้ โดยระบุว่า ป.ป.ช.ได้รับเรื่องแล้วเป็นเรื่องในปี 2563 แต่ต้องมีการสอบถามไปยังหน่วยงานเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงก่อนเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง