นายกฯ เมินเอ็มโอยู ‘ธรรมนัส’ ส่ง ‘อนุชา – ศอ.บต.’ ลงพื้นที่แก้ปัญหา ‘จะนะ’ ย้ำเจรจาทุกเรื่อง ต้องผ่าน ครม.เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา ที่มาปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า เรื่องนี้ได้เรียกเจ้าหน้าที่มาชี้แจงรายละเอียด ได้รับรายงานว่าจำเป็นต้องทำ เพราะมีข่าวว่าจะมีคนมามั่วสุมเพิ่มเติมตรงนี้ เรื่องนี้ต้องช่วยรัฐบาลหน่อย เพราะตามกฎหมายระบุห้ามชุมนุมใกล้สถานที่ราชการในรัศมี 150 เมตร อย่างไรก็ตามโครงการจะนะอยู่ในขั้นตอนทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง และให้หน่วยงานไปรับฟังว่าเป็นอย่างไร โดยทีผ่านมาตนย้ำเสมอว่า การเจรจาอย่าไปรับปากอะไรเขามาทันที หากยังไม่นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือรัฐบาล ไม่ว่าใครก็ตาม
เมื่อถามถึงการทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ กับผู้ชุมนุมจะนะรักษ์ถิ่น ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ตอบสวนทันทีว่า “ใครตกลง แล้วผมตกลงหรือยัง ครม.ตกลงหรือยัง ก็ยัง เรื่องนี้ได้มอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบเรื่องนี้ ให้ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น และควรแก้ไขอย่างไร พร้อมย้ำให้มองเรื่องที่เป็นประโยชน์ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์หรือสิ่งไหนที่เป็นปัญหาก็ไม่ต้องไปทำ และทุกเรื่องต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า อะไรก็ตาม บางทีการไปพบปะ หรือการไปเจรจาของใครก็แล้วแต่ เวลาไปพูดไปตกลงอะไรกับเขา อย่าลืมว่ามันยังไม่ได้ผ่าน ครม. ซึ่งตนเตือนหลายครั้งแล้วเวลาไปเจรจา ให้รับมาเป็นข้อสังเกตและนำมาให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา นั่นคือวิธีการทำงานของรัฐบาลที่ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ
เมื่อถามถึงกรณีที่อาจมีมวลชนบางส่วนขึ้นมาสมทบการชุมนุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่ามาเลย เดี๋ยวจะส่งคนไปดูแล เพื่อไปรับเรื่องมาว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรถูกบิดเบือน อะไรที่อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ส่วนอะไรทำได้ เราก็ทำ อย่าลืมว่าเรามุ่งหวังให้ภาคใต้เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขอให้มองในแง่นี้ ส่วนคนทำก็ต้องทำด้วยความรอบคอบ ต้องรับฟังความเห็นประชาชนทุกฝ่าย นี่คือกระบวนการประชาธิปไตย แต่การเดินตามกระบวนการประชาธิปไตย อะไรที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องดูด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า กรณีผู้ชุมนุม 36 รายที่ถูกควบคุมตัวนั้น เดี๋ยวตำรวจก็จะปล่อยตัว ตามกระบวนการประกันตัวอะไรก็ว่ากันไป ยังไม่มีอะไรหนักหนา และขอว่าอย่าทำอีก ขอให้ทำเรื่องให้ถูกต้อง ตนรับฟังอยู่แล้ว ถ้าเราปล่อยปละละเลยเรื่องเล็กน้อยก็จะบานปลายทุกที สื่อก็เห็น
ย้อนดูเอ็มโอยู 'ธรรมนัส-เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ไปเจรจากับตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และลงนามในบันทึกข้อตกลงผลการเจรจาการแก้ไขปัญหา โดยมีตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นลงนาม รายละเอียดดังนี้
1.รัฐบาลต้องมีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ยุติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า รวมถึงการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA หรือ EHIA ทันที
1.1 คณะกรรมการผังเมืองและกรมโยธาธิการและผังเมืองต้องยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวม จ.สงขลา พ.ศ.2559 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตาม ม.35 แห่ง พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2562
1.2 หน่วยงานรัฐและเอกชนเจ้าของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ต้องไม่ดำเนินกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการจนกว่า การดำเนินการตามข้อ 2 แล้วเสร็จ
2.รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จ.สงขลา
2.1 ต้องตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการในสัดส่วนที่ประชาชนเสนออย่างเหมาะสม เพื่อวางกรอบการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบวนการทำงานให้ดำเนินการประเมินศักยภาพทรัพยากรและพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรของท้องถิ่น และในการศึกษานี้ต้องไม่มี ศอ.บต.เป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการจัดทำ
2.2 การคัดเลือกผู้ที่จะมาดำเนินการศึกษา การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายและให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2
2.3 ในกระบวนการศึกษา คณะอนุกรรมการกำกับติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ต้องมีการระบุหน้าที่ในการกำกับติดตาม โดยมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการศึกษา ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ดำเนินการศึกษาได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2
2.4 กระบวนการตรวจสอบและการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ประชาชนคัดเลือกด้วย โดยให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2
โฆษกรัฐบาลปัดนายกฯ สั่งสลายม็อบ
อนึ่งช่วงเช้าของวันที่ 7 ธันวาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า กรณีตำรวจควบคุมฝูงชนบุกจับชาวจะนะรักษ์ถิ่น ที่ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อคืนนี้ (6 ธ.ค. 2564) เชื่อว่าเป็นคำสั่งจากรัฐบาล ขอตำหนิรัฐบาลที่ไม่เคารพเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้สั่งการใดๆ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบและตามกฎหมาย
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนเสมอ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายด้วย ไม่ใช่มารวมตัวกันตั้งเต็นท์ กางผ้าใบ ทำเป็นหมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น ปักหลักค้างคืน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้รัฐบาลยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดอยู่ ซึ่งอาจจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นกระทู้ถามสด หรือยื่นเป็นญัตตินั้นสามารถทำได้ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจง และจะได้ใช้โอกาสนี้อธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจด้วย
นายธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับการเข้าจับกุมนั้น ได้รับรายงานว่า กองร้อยน้ำหวานได้นำขบวนเข้าจับกุม เพราะทราบดีว่ามีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรงใดๆ เลย แต่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ เพราะผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน จากนั้นจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ถูกจับกุมนั้น เป็นชาย 6 คน และหญิง 31 คน ซึ่งเป็นการจับกุมซึ่งหน้า
ทางด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมชุมของชาวหมู่บ้านลูกทะเลจะนะรักษ์ถิ่น ว่า เรื่องดังกล่าวเรากำลังทำประชาพิจารณ์อยู่ขั้นตอนการดำเนินการอาจใช้เวลา แต่ทางผู้ชุมนุมรีบร้อน เราก็ต้องถามประชาชนทั้งหมดและทุกฝ่ายก็เลยช้า
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว แต่ตอนนี้ถูกปรับออกไป จะทำให้การดำเนินการติดขัดหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ไม่ติดขัด แต่ติดอยู่เรื่องประชาพิจารณ์