คณะทำงานไทยเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับประเทศต้นทาง หลัง 1 เดือนที่ผ่านมาส่งตัวชาวกัมพูชากลับไปแล้ว 3 ราย ขัดต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมนานาชาติ และยังขัดกับบรรทัดฐานสากล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2564 คณะทำงานไทยเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยทบทวนและยุติการส่งตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้ลี้ภัยประเทศต้นทางระบุว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทางการไทยได้จับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองและสมาชิกพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชาหลายคน เช่น นาย Veourn Veasna และนาย Voeung Samnang อดีตสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2564 และต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2564 ได้จับกุมนาง Thavry Lanh อดีตนักการเมืองพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา ทั้งสามคนถูกส่งตัวกลับประเทศกัมพูชาโดยไม่สมัครใจ นักกิจกรรมเหล่านี้ได้หลบหนีมายังประเทศไทยหลังจากถูกรัฐบาลกัมพูชาคุกคามสิทธิด้วยการแจ้งดำเนินคดีในฐานะผู้ต้องหาทางการเมือง
ทั้งนี้ เหล่านักกิจกรรมดังกล่าวมีสถานภาพผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งได้รับการรับรองโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการได้เข้าจับกุมพระบอร์เบ็ต ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและจับให้สึก พร้อมเตรียมบังคับกลับประเทศต้นทาง ตามคำร้องขอของรัฐบาลกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ด้วยความช่วยเหลือและกดดันจากนานาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ไม่ให้มีการส่งตัวกลับ พระบอร์เบ็ตได้รับการปล่อยตัวและได้อยู่ในประเทศไทยรอการพิจารณาให้เดินทางไปยังประเทศที่สาม
ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับประเทศต้นทางรวมทั้งกัมพูชา การกระทำดังกล่าวขัดกับคำมั่นของรัฐไทยที่ให้ไว้กับประชาคมนานาชาติในโอกาสต่างๆ อีกทั้งยังขัดกับบรรทัดฐานสากล ที่รัฐไม่อาจส่งตัวผู้ต้องหากลับไปสู่ความเสี่ยงที่จะถูกประหัตประหาร ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม การทรมาน การประติบัติอันทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี รวมถึงการบังคับสูญหาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางการเมือง ก็ยังเป็นข้อยกเว้นไม่อยู่ภายใต้หลักการส่งผู้ต้องหาข้ามแดน
คณะทำงานไทยเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนและยุติการส่งนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวกัมพูชาคนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกลับประเทศกัมพูชาอันเป็นการนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการไม่ส่งตัวกลับไปสู่ภัยคุกคามทางการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง (Non-Refoulement) อันผูกมัดประเทศไทยและพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติอันทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 ที่ไทยเป็นภาคี อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกประเภทจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ค.ศ. 2006 ที่ไทยลงนามไว้แล้ว กับทั้งเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายการส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้ที่ต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศไม่ว่าสัญชาติใดสู่ประเทศต้นทางที่รัฐบาลนั้นๆ ไม่รับรองความปลอดภัย