สธ.เร่งติดตามนักท่องเที่ยวจากแอฟริกา ตรวจหาเชื้อซ้ำป้องกัน‘โอไมครอน’ ขณะที่ยังเจอคลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา-ตลาด-โรงงาน ฉีดวัคซีนสะสม 93 ล้านโดส ย้ำหญิงตั้งครรภ์รับวัคซีนโควิด หลังยังฉีดเข็มแรก 19%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงสถานการณ์โควิดและการเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนว่า ขณะนี้มี 30 ประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอน ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ตุรกี เยอรมนี สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเช็ก สวีเดน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรเลีย
สำหรับข้อมูลของผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาใต้ของท่าอากาศยานสุรรณภูมิ ที่มีรายชื่อคงค้างและต้องติดตามให้มารายงานตัว เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งได้ฟรีและกักตัวให้ครบ 14 วัน โดยนักท่องเที่ยวที่มีรายชื่อคงค้างมีจำนวนทั้งหมด 782 ราย แบ่งเป็น กลุ่มเสี่ยงสูงจาก 8 ประเทศ คือ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว จำนวน 330 ราย และกลุ่มเสี่ยงต่ำ หรือประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา จำนวน 452 ราย
ขณะนี้มีการส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันหมอชนะและอีเมลให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว เพราะผู้เดินทางเข้าประเทศทุกคนที่จะขอ Thailand Pass จะต้องมีอีเมลเพื่อรับ QR Code เดินทางเข้ามา
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า จำนวนผู้ที่ต้องติดตามให้มารายงานตัวที่ลดลงนั้น เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลทับซ้อนกัน ส่วนที่เหลือ 782 ราย กระจายไปพื้นที่ใดบ้าง น่ากังวลหรือไม่ ตอนนี้ยังต้องรอยืนยันจากข้อมูลหลายจุดอยู่ จึงยังไม่มีข้อมูลมารายงานตอนนี้
"วันนี้จะมีการประชุมของคณะทำงานที่เกี่ยวข้องของกรมควบคุมโรค เพื่อเร่งรัดเรื่องการรายงานที่ประชาชนอยากทราบ ทั้งความคืบหน้าในการติดต่อผู้เดินทางเข้าประเทศ และการรายงานเรื่องเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน" นพ.เฉวตสรร กล่าว
อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศต้นทางในแอฟริกาที่ไม่ใช่ 8 ประเทศที่ได้สั่งห้ามเดินทางเข้าประเทศ 1 ธ.ค.2564 ยังสามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่ได้เพิ่มมาตรการคุมเข้มให้กักตัว 14 วัน
ส่วนการระบาดเป็นคลัสเตอร์ภายในประเทศไทย วันนี้ยังพบในนักเดินทางแบบ Test and Go ที่สมุทรปราการ ภูเก็ต และกทม. ขณะที่คลัสเตอร์โรงงาน/สถานประกอบการ ยังพบในปราจีนบุรี อุดรธานี สระบุรี เพชรบุรี ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา คลัสเตอร์ตลาด พบในขอนแก่น แม่ฮ่องสอน ลำพูน จันทบุรี สมุทรปราการ และเชียงราย คลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา ได้แก่ งานศพ พบในพะเยา สงขลา อุดรธานี และงานกฐิน ได้แก่ ร้อยเอ็ด
คลัสเตอร์แคมป์คนงาน พบในสมุทรปราการและ กทม. คลัสเตอร์โรงเรียน/สถานศึกษา พบในอุบลราชธานี เลย และสุราษฎร์ธานี คลัสเตอร์ค่ายทหาร เจอในเชียงใหม่ ลพบุรี และชลบุรี และคลัสเตอร์ร้านอาหาร/สถานบันเทิง พบในสุราษฎร์ธานี ชลบุรี และอุบลราชธานี
“หลายพื้นที่รายงานถึงคลัสเตอร์งานประเพณี และงานบุญที่ต้องรวมตัวกัน รวมถึงการรวมตัวกันเกี่ยวข้าว พอเราใช้ระยะเวลาร่วมกิจกรรมกันยาวนาน ทานอาหารด้วยกัน ความเสี่ยงก็จะเกิดขึ้น ส่วนคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ค่ายทหาร หรือโรงงานยังมีอยู่บ้าง สำหรับพื้นที่ตลาด อยากให้พ่อค้าแม่ค้ารวมถึงบุคคลรอบตัวเข้าฉีดวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยง ลดการระบาดได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 93,753,156 โดส เป็นเข็มแรก 48,525,815 โดส คิดเป็น 67.4% โดยมี 10 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 117.1% ชลบุรี 89.9% สมุทรสาคร 89.6% ภูเก็ต 86.6% ฉะเชิงเทรา 83.9% เชียงใหม่ 83.8% ปทุมธานี 81.7% สมุทรปราการ 80.7% ระนอง 78.1% และสงขลา 74.1% ซึ่งจังหวัดดังกล่าวฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวสูงด้วยเช่นเดียวกัน
นพ.เฉวตสรร กล่าวย้ำอีกว่า หากดูจำนวนผู้ฉีดแยกตามกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มอื่นฉีดเข็มแรกได้กว่า 64.5% ขึ้นไป ยังพบหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนได้น้อย เป็นเข็มแรก 19.1% วัคซีนมีความปลอดภัยสูง สามารถฉีดได้ ดังนั้นจึงไม่ควรกังวลผลจากวัคซีน แต่ควรกังวลผลจากโควิด หากพบติดเชื้อแล้ว จะฉีดตอนนั้นคงไม่ทัน