สธ.เผยระบบเฝ้าระวังเป็นไปตามมาตรฐานโลก ใช้เทคนิคพิเศษผสมอัลฟ่า-เบต้าตรวจหาโอไมครอน ระหว่างรอพัฒนาน้ำยาตรวจเฉพาะ คาดอีก 2 สัปดาห์เสร็จ ยัน RT-PCR และ ATK ยังมีใช้ได้มีประสิทธิภาพแม้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ เตือน ปชช.อย่าการ์ดตก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงรายงานสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยว่า จากการติดตามทั่วโลก ยังพบโควิดสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการกลายพันธุ์ใหม่ อย่าง 'โอไมครอน' ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มน่ากังวล VOC นั้น ยังมีการติดตามอยู่ ส่วนสายพันธุ์ที่น่าสนใจ อย่างเช่น แลมด้า และมิวนั้น ลดบทบาทลงไปแล้ว
โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งเบื้องต้น และทั้งตัว ข้อมูลการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 มี 75 ตัวอย่าง ที่เดินทางมาจากประเทศต้นทาง คือ การ์ตา รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน อเมริกา อังกฤษ และมอริเชียส ซึ่งตรวจแล้ว 45 ตัวอย่าง และรออีก 30 ตัวอย่าง เบื้องต้น 45 ตัวอย่างเป็นสายพันธุ์เดลต้า และเดลต้าย่อยอยู่ ยังไม่พบโอไมครอน
“สรุปขอขีดเส้นใต้ 2 เส้นว่า ไทยยังไม่พบโอไมครอน ณ ขณะนี้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กลล่าวถึงประเด็นที่มีสงสัยสำคัญที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวิธีการตรวจ RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานของประเทศไทยและทั่วโลกยังสามารถตรวจพบติดโควิด-19 หรือไม่ ว่า หากติดสายพันธุ์โอไมครอนนั้น ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็ป) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรองให้สามารถตรวจโควิด-19 ได้นั้น มีการกำหนดการรายงานผลการตรวจสารพันธุกรรม โดย 1) กรณีรายงานผลไม่พบเชื้อ จะต้องตรวจมากกว่า 1 ยีนส์ที่ต่างกันและไม่พบทุกยีน หรือ ตรวจ 1 ยีนมากกว่า 1 ตำแหน่งโดยตรวจมาพบทุกตำแหน่ง
2) กรณีรายงานพบเชื้อ จะต้องตรวจมากกว่า 1 ยีนที่ต่างกันโดยตรวจพบทุกยีน หรือตรวจ 1 ยีนมากกว่า 1 ตำแหน่งโดยตรวจพบยีนทุกตำแหน่ง และ 3) กรณีสรุปไม่ได้ คือ ตรวจมากกว่า 1 ยีนที่ต่างกันหรือตรวจ 1 ยีนมากกว่า 1 ตำแหน่ง แล้วไม่พบตามเกณฑ์ของชุดตรวจ ซึ่งกรณีเช่นนี้จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมใหม่
“การที่กำหนดการตรวจและรายงานผลไว้เช่นนึ้ ทำให้เวลาเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส เช่นกรณี โอไมครอน ทำให้ตรวจบางยีนไม่พบ แต่บางยีนอาจจะโผล่ขึ้นมา ดังนั้น การตรวจมากกว่า 1 ยีนโอกาสหลุดรอดก็ต่ำมาก แทบไม่มี โดยสรุปการตรวจโควิด-19 แม้เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ยังสามารถวินิจฉัยการพบหรือไม่พบเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ได้” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับน้ำยาตรวจหาสารพันธุกรรมโดย วิธี RT-PCR มีที่ผ่านการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว จำนวน 104 ยี่ห้อ ในจำนวนนี้มี 2 ยี่ห้อที่ตรวจยีนเป้าหมาย N และ S หากมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งนี้ น้ำยา 2 ยี่ห้อนี้จะตรวจโควิด-19 ไม่เจอ
นอกจากนี้ ยังมีจำนวน 15 ยี่ห้อ ตรวจยีนเป้าหมาย S ร่วมกับยีนอื่น และจำนวน 87 ยี่ห้อตรวจยีนเป้าหมาย N ร่วมกับยีนอื่น ซึ่งยีนอื่นนั้นไม่มีผลกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้นโอกาสหลุดรอดตรวจไม่เจอโควิดมี 2 ใน 104 อาจตรวจไม่เจอ ถือว่ามีโอกาสน้อยมีเพียง 2 ยี่ห้อ ทั้งนี้ จะมีการประสาน อย. และบริษัทผู้ผลิต/นำเข้า ไปดูรายละเอียดว่ามีโอกาสพลาดมากแค่ไหน
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงเทคนิคการตรวจสายพันธุ์ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ว่า จะมี 3 วิธีทดสอบ คือ 1) RT-PCR โดยใช้น้ำยาพิเศษแต่ละสายพันธุ์โดยตรง ใช้เวลา 1-2 วัน โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศดำเนินการได้ 2) Target sequencing เป็นการดูรหัสพันธุกรรมว่าเหมือนชนิดใดใช้เวลา 3 วัน และ 3) Whole genome sequencing เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ใช้เวลา 1 สัปดาห์
ขณะนี้ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะที่จะตรวจหาสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งใช้เวลาเร็วที่สุด1-2วัน จะต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม กรมวิทย์ฯ ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจหาโอไมครอนให้ได้โดยเร็วในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะ เพื่อให้ศูนย์วิทย์ทั่วประเทศสามารถตรวจสายพันธุ์โอไมครอนได้รวดเร็ว
จากการวิเคราะห์ พบว่า โอไมครอน มีจุดกลายพันธุ์ HV69-70deletion ที่เหมือนกับอัลฟ่า และจุด K417N ที่เหมือนกับเบต้า จึงเอาคุณสมบัตินี้มาพัฒนาเทคนิคในการตรวจสายพันธุ์โอไมครอน โดยนำตัวอย่างที่ได้จากผู้เดินทางเข้าประเทศไทย และตรวจพบติดโควิดทุกรายมาตรวจด้วยน้ำยา 2 ตัว คือ น้ำยาเฉพาะตรวจหาสายพันธุ์อัลฟ่า และ น้ำยาเฉพาะตรวจหาสายพันธุ์เบต้า
หากตรวจพบจากน้ำยาของอัลฟ่าและเบต้าทั้ง 2 น้ำยาให้รายงานเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ศูนย์วิทย์รายงานการตรวจสายพันธุ์โอไมครอนได้เร็วใน 1-2 วันในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะตรวจโอไมครอน แทนที่จะต้องใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรมที่ใช้เวลา 3 วันหรือถอดรหัสทั้งตัวที่ใช้เวลา 1สัปดาห์
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK ยังสามารถตรวจได้ โดยข้อมูลเบื้องต้นโปรตีนที่ใช้ตรวจยังไม่มีผลกระทบเรื่องการกลายพันธุ์ ทั้งนี้ต้องมีการติดตามพิจารณาด้วย เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการจดแจ้งว่า โปรตีนที่ใช้ตรวจไม่ได้มีผลต่อการกลายพันธุ์ ซึ่งตรงนี้จะมีการหารือกับ อย. เพื่อให้ทางบริษัทได้ดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจ ATK หากผ่านการรับรองจาก อย. สามารถตรวจได้ เพียงแต่เมื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องติดตามว่า ในวันหนึ่งอาจมีโปรตีนบางชนิดหายไป ก็อาจมีผลต้องการตรวจได้ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
“มาตรการที่จะสู้กับโอไมครอนยังต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด มีภูมิต้านทานดีกว่าไม่มีภูมิแน่นอน ข้อมูลยังมีจำกัด การติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับ 100 เพราะฉะนั้นการจะบอกว่ามันรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน หลบภูมิได้แค่ไหน แพร่เชื้อเร็วขึ้นกี่เท่ายังต้องรอข้อมูล ทั้งนี้ มาตรการป้องกันโรคอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่ ทั้งการเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ การใส่หน้ากากอนามัย ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น สถานบริการมี Covid Free Setting ถ้าทำแบบนี้ได้ครบถ้วน โอไมครอนก็จะไม่มีปัญหาอะไรมากนักสำหรับประเทศไทย” นพ.ศุภกิจกล่าว
ทางด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน ว่า นอกจากทวีปแอฟริกา 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ และมาลาวี ยังมีรายงานพบในทวีปยุโรป ได้แก่ อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก และเดนมาร์ก ส่วนทวีปเอเชียพบใน ฮ่องกง และอิสราเอล และทวีปออสเตรเลีย พบในประเทศออสเตรเลีย
“ประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน จากรายงานของผู้เชี่ยวชาญในแอฟริกาใต้ พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีอาการเล็กน้อย บางรายมีอาการน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา โดยขณะนี้มีหลายประเทศปรับมาตรการเข้าประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ห้ามชาวต่างชาติจาก 8 ประเทศในแอฟริกาใต้ รวมทั้งหมู่เกาะเซเชลส์ เข้าประเทศ นอกจากนี้ ยังมีอังกฤษ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น อิหร่าน บราซิล สิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศมีมาตรการที่แตกต่างกันออกไป” นพ.เฉวตสรรกล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยหลังเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารวม 122,398 ราย แยกเป็นรูปแบบ Test and Go 96,970 ราย Sand box 20,331 ราย และระบบกักตัว 5,097 ราย พบผู้ติดเชื้อรวม 160 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.13 โดยประเทศที่เดินทางเข้ามามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐ เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สธ.จะเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศมากขึ้น โดยประสานเครือข่ายการควบคุมโรคระดับเขตติดตามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศแอฟริกาใต้ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ หากพบการติดเชื้อจะส่งตรวจแยกสายพันธุ์ เพื่อให้รู้สถานการณ์และควบคุมโรคทันท่วงที
“ในการเฝ้าระวังเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐานระดับโลก มีการตรวจหาเชื้อในจำนวนที่เพียงพอ และส่งไปศูนย์ข้อมูลสากล ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์” นพ.เฉวตรสรรกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/