โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯชู 'โมเดล PPP' ใน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักใน EEC มีมูลค่าลงทุนรวม 654,921 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท เน้นพลิกโฉมการลงทุนประเทศไทย ลดการกู้เงินต่างประเทศ สนับสนุนภาคเอกชนไทยให้เข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าโครงการร่วมลงทุนรัฐ - เอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ที่ได้ร่วมลงทุนกับเอกชนแล้ว 4 โครงการ มูลค่ารวมสูงถึง 654,921 ล้านบาท ภาคเอกชนลงทุน 416,080 ล้านบาท (64%) ภาครัฐลงทุน 238,841 ล้านบาท (36%) รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท ทั้ง 4 โครงการ เป็นการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เปิดเผย 4 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย 1) โครงการ High-Speed Railway เงินลงทุนรวม 276,561 ล้านบาท ภาครัฐลงทุน 159,938 บาท เอกชนลงทุน 116,623 บาท ผลตอบแทนภาครัฐ 37,603 ล้านบาท 2) โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เงินลงทุนรวม 204,240 ล้านบาท ภาครัฐลงทุน 17,674 บาท เอกชนลงทุน 186,566 ผลตอบแทนภาครัฐ 305,555 ล้านบาท 3) ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เงินลงทุนรวม 64,905 ล้านบาท ภาครัฐลงทุน 12,900 บาท เอกชนลงทุน ช่วงที่ 1 จำนวน 44,505 บาท และช่วงที่ 2 จำนวน 7,500 บาท บาท ผลตอบแทนภาครัฐ 14,765 ล้านบาท และ 4) ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เงินลงทุนรวม 109,215 ล้านบาท ภาครัฐลงทุน 48,329 บาท เอกชนลงทุน จำนวน 60,886 บาท ผลตอบแทนภาครัฐ 82,270 ล้านบาท
ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยบริหารร่วมกับเอกชนในพื้นที่ EEC ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินที่มีอยู่ ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 650,000 ล้านบาท ทั้งยังประหยัดงบประมาณของประเทศและยังสร้างรายได้สุทธิให้กับภาครัฐเป็นมูลค่าปัจจุบันมากกว่า 200,000 ล้านบาท อีกด้วย
นายธนกร กล่าวถึงหลักการสำคัญของโมเดลการลงทุนแบบ PPP ว่า เน้นการพึ่งพาตนเอง ลดการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อการลงทุน ลดภาระงบประมาณภาครัฐ พร้อมๆ กับสนับสนุนเอกชนไทย ธุรกิจไทยให้แข็งแรง ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับบริษัทไทย ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก รวมทั้งระดับชุมชน รวมทั้งยังช่วยสร้างรายได้จากภาษีทางตรงและทางอ้อมให้กับภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ที่มีการลงทุนต้องกู้เงินต่างประเทศมาทำโครงการ ต้องทยอยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้เกิดภาระทางการคลังในระยะสั้นและระยะยาว
"เป้าหมายสำคัญของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมรูปแบบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนหรือ PPP เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC และทั่วประเทศ ภายใต้แผนการลงทุนที่รอบด้าน ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่และทันสมัยดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติ ที่สำคัญ คือ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยและผู้ประกอบการไทย สามารถเติบโตควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการกระจายความเจริญออกไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค ลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปีหน้าหลายสถาบัน เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ยังออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้น แม้สถานการณ์โควิดจะยังคงอยู่" นายธนกร กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/