‘หมอประสิทธ์’ รพ.ศิริราช เตือนเดือนธันวาคม เป็นช่วงเวลาเสี่ยงโควิดของคนทั้งโลก เหตุอากาศเย็น มีเทศกาล พร้อมกางข้อมูลฉีดวัคซีน พบฝั่งตะวันตกฉีดครบ 2 เข็มมากกว่า 60% แต่ยังมีการระบาดระลอกใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศและข้อแนะนำในการป้องกันตนเองเมื่อเปิดประเทศ
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศเป็นกังวลอย่างยิ่งกับการแพร่ระบาดอย่างมากในทวีปยุโรป หลายประเทศที่เคยสงบตอนนี้กลับมาระบาดมากขึ้น มีการคาดการณ์โดยผู้บริหารระดับสูงของ WHO ประเมินว่า หากไม่มีการจัดการอะไรเลย อีกประมาณ 3-4 เดือนจากนี้อาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 500,000 ราย แต่หากเราวิเคราะห์ดูว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัย ก็จะเข้าใจและรับมือต่อสถานการณ์ได้
ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 พบว่า ทวีปอเมริกามีแนวโน้มที่สถานการณ์โควิดจะกลับไปอยู่ในช่วงขาขึ้น เช่นเดียวกับทวีปยุโรปที่พบว่าตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเป็นต้นมา สถานการณ์ไต่ขึ้นยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ส่วนในเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เมื่อปีก่อนก็เป็นเช่นนี้ และต้องช่วยกันหาทางดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้กลับไปอยู่ในช่วงขาขึ้นอีก
สถานการณ์ของโลก พบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 การติดเชื้อต่อวันของทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ก่อนหน้านี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกเคยลดลงไปเหลือ 3 แสนรายต่อวัน แต่ตอนนี้กลับมามีผู้ติดเชื้อเกิน 5-6 แสนรายต่อวัน ขณะเดียวกัน เมื่อดูอัตราการเสียชีวิตตัวเลขยังลดลง ปัจจัยสำคัญคือการฉีดวัคซีนที่ฉีดทั่วโลกไปแล้ว 7,731 ล้านโดส จากประชากรทั่วโลก 7,908 ล้านราย และมีการฉีดวัคซีนประมาณ 33 ล้านโดสต่อวัน
เมื่อวิเคราะห์รายละเอียด พบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีตัวเลขผู้ป่วยเริ่มลดลงไปก่อนหน้านี้ แต่ช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นมา เริ่มกลับมาในช่วงขาขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่มีคนจำนวนหนึ่งไม่ยอมออกมาฉีดวัคซีน และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบหรือไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ส่วนในภาพรวมเริ่มเข้าสู่กระบวนการฉีดเข็มที่ 3 แล้ว
“ไทยเราเป็นประเทศต้นๆที่เชิญชวนให้ฉีดเข็มสาม เราทำก่อนประเทศทางตะวันตก เพราะเราเริ่มเห็นบุคลากรทางด้านสุขภาพ เกิดการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบโดส เราจึงตัดสินใจเริ่มฉีดเข็มสามไปตั้งแต่เดือนกันยายน ขณะที่ตอนนี้หลายประเทศที่เริ่มพบการระบาดใหม่ เริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สามแล้ว”
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในสหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้เคยออกมาพูดถึงการผ่อนคลายกิจกรรม ที่ทุกคนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย และประกาศให้วันที่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นวันแห่งอิสรภาพ หลังฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมาย แต่ขณะนี้พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 3 หมื่นรายต่อวัน อัตราการเสียชีวิตยังเป็นตัวเลข 2-3 หลัก
“สหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนไปแล้ว 112 ล้านโดส มี 76% ได้รับวัคซีน 1 เข็ม และ 69.1% ได้วัคซีนครบโดสแล้ว นี่ขนาดฉีดครบโดสเกือบ 70% และมีอีก 20% ที่ได้วัคซีนเข็มสาม เรายังพบว่ามีการติดเชื้ออยู่ อย่างไรก็ตามผลของวัคซีนนี่ล่ะที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับการติดเชื้อ ซึ่งกำลังเข้าสู่การทบทวนปิดกิจกรรมต่างๆ”
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนเยอรมันที่กำลังถูกจับตา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อ 2-5 หมื่นรายต่อวัน แม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้วเกือบ 70% และเป็นอีกประเทศที่ออกมาตรการเข้มงวดป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
เช่นเดียวกับฝรั่งเศส ที่มีการฉีดวัคซีนครบโดส เกือบ 80% แต่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ในหลักหมื่นราย ส่วนเนเธอร์แลนด์ ฉีดวัคซีนครบโดสไปมากกว่า 70% แต่ก็พบการระบาดใหม่หลังเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน
รัสเซีย เป็นอีกประเทศที่น่าจับตามอง เพราะสถานการณ์โควิดไม่เคยสงบ มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 3 หมื่นรายต่อวัน พบผู้เสียชีวิตเป็นหลักพัน และเป็นที่น่าสนใจว่า แม้ว่ารัสเซียจะมีวัคซีนเป็นของ ตัวเอง คือ สปุตนิก วี แต่พบว่า มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกไป 43% และมีผู้ฉีดครบโดสเพียง 36.5% เท่านั้น แม้ว่ารัฐบาลพยายามกระตุ้นให้เกิดการฉีดวัคซีน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก
ขณะที่ออสเตรีย เป็นประเทศแรกๆที่กลับมาประกาศล็อกดาวน์ หลังจากพบการระบาดใหม่พบติดเชื้อหลักหมื่นรายต่อวัน ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2564
ไอร์แลนด์ เป็นอีกประเทศที่ฉีดวัคซีนเยอะมาก มีผู้รับวัคซีนครบโดสไปแล้ว 76% แต่หลังเดือนตุลาคม 2564 ก็พบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
อิตาลี ก่อนหน้านี้มีอัตราการเสียชีวิตเยอะมาก จนกระทั่งมีการเร่งระดมการฉีดวัคซีน ปัจจุบันฉีดแล้ว 93 ล้านโดสจากประชากร 60 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนครบโดส 74.8% แต่ยังพบผู้ป่วยต่อวันจำนวนมาก
“เดือนหน้าเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังกันทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศตะวันตก เพราะอากาศเย็นลง และเป็นเทศกาลการท่องเที่ยว มีการพบปะกลับไปพบญาติ และทำให้หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพราะห่วงว่าช่วงเดือนธันวาคม คนจะอยู่รวมกันจำนวนมากจะมีความเสี่ยง”
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทย ว่า ข้อมูลวันที่ 23 พฤศจิกายน ไทยฉีดวัคซีนเข็มแรก 67.1% เข็มสอง 56.3% และเข็มสาม 4.4% อัตรากรเสียชีวิตยังลดลงต่อเนื่อง แต่ยังมีทิศทางคู่ขนานกับอัตราการติดเชื้อ โดยไทยได้ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงไปแล้วจำนวนมาก แต่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ยังได้รับวัคซีนน้อย ขอย้ำว่า หญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ โอกาสที่วัคซีนจะกระทบกับลูกมีน้อยมาก
เมื่อถอดบทเรียนสถานการณ์ทั้งหมด พบว่า ทวีปยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดรอบใหม่ ส่งผลให้ WHO ออกมาประกาศเตือน ขอให้ระวังเดือนธันวาคม 2564 ที่จะเป็นช่วงเวลาของการเสี่ยงของโรคติดเชื้อ โดยออสเตรียเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดเชื้อสูงสุด สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ จนล็อกดาวน์ไปบางส่วน ขณะที่สหราชอาณาจักร ยังต้องติดตามสายพันธุ์เดลต้า พลัส ซึ่งตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์อาจทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า จะก่อให้เกิดความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าเดิม
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาจะพบว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด ดังนี้
-
วัฒนธรรมความเชื่อ ความเป็นอิสระในกลุ่มประเทศตะวันจะมีมาก การไม่ยอมรับการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง การถูกบอกให้ต้องทำ ก็เหมือนกับการลิดรอนอิสรภาพ และคนจำนวนหนึ่งไม่ไว้วางใจประสิทธิภาพของวัคซีน ทำให้มีคนตะวันตกจำนวนไม่น้อยที่ยืนยันไม่ฉีดวัคซีน หลายคนแม้จะเสียชีวิต แต่คนที่ต่อต้านก็ยังมีกิจกรรมยืนยันไม่ยอมรับวัคซีน
-
การผ่อนคลายสภาวะที่ถูกควบคุม ทำให้เกิดการแพร่ระบาด สันทนาการ การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มใหญ่ที่ขาดมาตรการป้องกันโควิด โควิดที่อยู่กับโลกมา 2 ปี เมื่อบางประเทศประกาศผ่อนคลายมาตรการ ยิ่งทำให้คนในสังคมที่ไม่อยากทำอยู่แล้ว ยิ่งผ่อนคลายตัวเองมากไปใหญ่
-
การบริหารจัดการ ผู้นำบางประเทศประกาศให้ผ่อนคลายมาตรการ ยกเลิกการสวมหน้ากาก ไม่เว้นระยะหว่าง ซึ่งผู้นำบางประเทศอาจจะมั่นใจว่าประชาชนได้รับวัคซีนมากพอแล้ว
-
เศรษฐกิจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การแพร่ระบาดกลับมา เพราะช่วงที่ผ่านมาโควิดทำให้เศรษฐกิจถดถอย มีความพยายามจะดึงเศรษฐกิจกลับมา ทำให้เงินออกมาหมุนเวียน
-
ภูมิอากาศ ช่วงนี้ตะวันตกกังวลมาก เพราะเป็นช่วงหน้าหนาว อุณหภูมิลดลง คนอยู่ในอาคารอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ทำให้คนกังวลว่าเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงเวลาเสี่ยงของทั้งโลก
-
ภูมิคุ้มกันกับโควิด ที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และลดลงเร็วมากกว่าที่นักวิชาการคาดคิดในตอนแรกด้วยซ้ำ สำหรับไทยผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หลังจาก 4-6 เดือนภูมิต้านทานลดลง ถึงจุดที่ต้องได้รับการกระตุ้นเข็มสาม
-
การกลายพันธุ์ของไวรัส มีการเฝ้าติดตามเดลต้า พลัส และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ก็ปรากฏข่าวว่ามีสายพันธุ์ใหม่อีก คือ B 1.1.529 ที่พบครั้งแรกที่สาธารณรัฐบอตสวานา จำนวน 3 ราย ที่รายงานว่าพบอีก 6 รายในแอฟริกาใต้ และ 1 รายในฮ่องกง จุดที่สำคัญก็คือ สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ 32 จุด
ข้อมูลของ WHO ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 พบว่า สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดปัญหามากมายต่อมนุษยชาติคือ อัลฟ่า เบต้า แกรมม่า และเดลต้า เหมือนเดิม ส่วนสายพันธุ์ใหม่ ที่พบคือ แลมต้า และ มิว ยังอยู่ในกลุ่มเฝ้าติดตาม
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดนี้ เพื่อจะเสนอให้พิจารณาและดำเนินการในการเปิดประเทศ ปัจจุบันมีบางประเทศเปิดประเทศแล้วไม่เกิดเรื่องก็มี คือ ญี่ปุ่น อิสราเอล จุดสำคัญคือการมีวินัยและความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ประชากรได้รับวัคซีนครบในอัตราสูงกว่า 70% การตัดสินใจที่รวดเร็ว ภายใต้ข้อมูลที่ดี เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ผิดจากที่คาดหมาย
“อย่าไปมองว่าเป็นฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่ทุกคน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ต้องร่วมมือกัน และต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนให้เยอะ”
การคงมาตรการเข้มงวดในการป้องกันแรติดเชื้อ การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นทำความสะอาดมือ และการรายงานตัวเข้ารับการตรวจหากสงสัยว่าติดเชื้อ
“ขอย้ำว่า เดือนธันวาคมนี้เป็นช่วงเวลาเสี่ยง หลายประเทศเฝ้าระวังอยู่ และมีหลายประเทศมีมาตรการออกมาป้องกันแล้ว และขอให้หลีกเลี่ยง 4 เสี่ยงอย่ามาเจอกัน คือ บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง 3 สิ่งนี้จะมาเจอกันในช่วงเวลาเสี่ยง ซึ่งก็คือเดือนธันวาคม เหมือนเมื่อครั้งที่เราเสี่ยงไปแล้วช่วงเดือนเมษายน กับเทศกาลสงกรานต์ และเดือนธันวาคมมีวันหยุดยาว มีวันเทศกาล อากาศเย็นลง ทั้งหมดนี้ขอให้ย้ำว่า ขอให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ”
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากเราช่วยกัน ปีให่มนี้อาจมีโอกาสเปิดประเทศอย่างมีความสุขก่อนที่จะมีโควิด แต่ถ้าไม่ช่วยกัน ปีใหม่นี้ อาจเกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น และเราคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มจากตัวเองเตือนคนที่ไม่ได้ทำ และคนทุกกลุ่ม ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ต้องช่วยกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/