รองโฆษกรัฐบาล ย้ำรัฐบาลให้ความมั่นใจไทยเจรจาร่วม CPTPP ประเทศต้องไม่เสียเปรียบ ตั้งข้อสงวนเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อตามวิถีดั้งเดิม ยืดเวลาใช้มาตรการลดภาษีนำเข้า คงมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร ขณะที่ 'สภาองค์กรของผู้บริโภค' ค้านไทยยื่นหนังสือเข้าร่วมเจรจา ชี้มีผลกระทบ 9 ข้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังพิจารณาเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ว่า นายกรัฐมนตรีตระหนักดีถึงผลกระทบเชิงบวกและลบที่จะเกิดขึ้น และพร้อมรับฟังข้อห่วงกังวลจากภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมาได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและข้อเสนอแนะจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่การเจรจาจะเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ได้มีแนวทางการกำหนดเงื่อนไขของการเจรจาที่จะช่วยสร้างผลประโยชน์และดูแลทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ผู้ประกอบการทุกขนาด แรงงาน ประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่การตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ เป็นเพียงการพิจารณาไปเจรจา ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างต้องทำอย่างรอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของไทย
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า CPTPP จะเพิ่มโอกาสการส่งออกของสินค้าไทย ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นการขยายเขตการค้าเสรีและการให้สิทธิพิเศษกับสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสมาชิก ในส่วนของสินค้าเกษตรที่จะได้ประโยชน์อย่างมากจากการเข้าร่วม อาทิ ยาง ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ส่วนข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบนั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันความพร้อมในการร่วมเจรจาความตกลงดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ได้ศึกษาในรายละเอียด ผลดี ผลเสีย และความพร้อมของไทยมาโดยตลอด การดำเนินการทุกอย่างต้องไม่ให้ภาคการเกษตรเสียเปรียบ และยึดผลประโยชน์เกษตรกรเป็นหลัก และหากในที่สุด ไทยตัดสินใจเข้าร่วม กระทรวงจะดำเนินการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน ทั้งด้านวิชาการ ระยะเวลา เทคโนโลยี งบประมาณ และบุคลากร ส่วนประเด็นที่ไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ หรืออาจทำให้เกิดความเสียเปรียบ จะตั้งข้อสงวนไว้เบื้องต้นในการเจรจาได้
ประเด็นที่มีการหยิบยก อาทิ
1.ด้านพันธุ์พืช ที่กำหนดให้ประเทศเข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา UPOV1991 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บส่วนขยายพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ และเมล็ดพันธุ์พืชของไทยถูกผูกขาดทางการค้า ซึ่งกระทรวงได้กำหนดประเด็นที่จะเจรจาขอสงวนสิทธิ์ไว้หรือขอเว้นการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ เช่น การขอระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนจะปฏิบัติตามอนุสัญญา การกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ตามวิถีดั้งเดิมของเกษตรกร และอยู่ภายใต้ความเหมาะสมของบริบทประเทศไทย
2.ด้านการค้า ที่จะมีการยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในระดับที่สูงมากถึง 95-100% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพทางการแข่งขันน้อย แนวทางดูแลเกษตรกรคือการเจรจาเพื่อให้มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย โดยประเทศสมาชิก CPTPP บางประเทศได้ขอใช้ระยะเวลาในการลดภาษีนานถึง 21 ปี
3.การยกเว้นการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ หรือ Special Safeguard (SSG) หรือการอนุญาตให้เก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้นกรณีมีการนำเข้าสินค้าเกษตรสูงกว่าปริมาณที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีข้อผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าเกษตร 23 รายการ และจะนำ SSG มาใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ปี 2563 และ 2564 มีการนำเข้ามะพร้าวเกินกว่าระดับปริมาณนำเข้าที่กำหนด จึงได้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเจรจาในประเด็นด้านการค้า กระทรวงเกษตรฯ จะขอตั้งข้อสงวนการบังคับใช้มาตรการ SSG ของไทยไว้
“ข้อตกลง CPTPP นั้นมีประโยชน์และผลด้านลบที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ข้อกำหนดหลายอย่างสามารถเจรจาต่อรองก่อนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ และรัฐบาลได้เตรียมนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไปพร้อมๆกัน ขณะที่ข้อกำหนดบางเรื่องเป็นกฎที่เปิดโอกาสให้ประเทศสามารถปฏิรูปสถาบันเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการสนับสนุนการเติบโตระยะยาว นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การเข้าร่วมเจรจาเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คนไทย การเข้าร่วมเจรจาครั้งนี้ยังไม่ได้หมายถึงการตกลงเข้าร่วมในทันที” นางสาวรัชดา กล่าว
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ไทยยื่นหนังสือของเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในวันที่ 14 ธ.ค.2564 ว่า ว่า ที่ผ่านมา สอบ. ได้ร่วมประชุมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กระทั่งมีข้อสรุปร่วมกันและขอให้ กนศ. จัดประชุมเพื่อติดตามการปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมถึงยังมีความร่วมมือกันในการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบว่าการเข้าร่วมจะมีผลได้หรือผลเสียมากกว่ากัน ทั้งการค้าและการลงทุนที่เปรียบเทียบกับผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งควรเป็นแนวทางในการตัดสินทางนโยบายที่สำคัญ
นอกจากนี้ สอบ. ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 46 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังได้ทำหนังสือข้อเสนอเพื่อชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กนศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลขที่หนังสือที่ สอบ.025/2564 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เนื่องจากมองว่าการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ยังมีความเห็นต่างในเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ
อีกทั้งอาจทำลายความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หากมีการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้วยความไม่รอบคอบและไม่ได้มองถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับนำผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศมาพิจารณาเพื่อเข้าร่วมแทน ดังต่อไปนี้
หนึ่ง จากผลได้หรือข้อดีที่กล่าวถึงอ้างอิงการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (จัดจ้าง) ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย (GDP) ขยายตัวร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่า 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท
งานศึกษานี้ได้ถูกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตถึงผลการศึกษาดังกล่าวว่า ไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มิใช่รัฐ (Non - state actor) อีกทั้งยังเป็นการศึกษาเชิงมหภาคที่ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเด็นรายละเอียดเชิงลึกได้ รวมถึงการตั้งสมมุติฐานการเปิดเสรีการค้าทันทีร้อยละ 100 ของผลการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยแบบจำลองก็ยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร่วม CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
สอง จากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP อาจทำให้เพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ทูน่ากระป๋อง ข้าว กุ้ง ยาง แต่จะส่งผลกระทบอย่างมากและกว้างขวางต่อเกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตร จากการลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 อาทิ เกษตรกรในกลุ่มที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชาวสวนมะพร้าว ชาวไร่ที่ปลูกถั่วเหลือง เกษตรกรที่เลี้ยงสุกร และเลี้ยงโค
สาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคอีกหลายด้าน หลายประเด็น หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ดังนี้
1.ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการ Patent Linkage
2.ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นและพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน
3.รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศได้อีกต่อไป
4.ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้
5.ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ
6.ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนในการจำหน่าย ปัญหาถูกหลอกถูกโกงจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ความตกลง CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาสูบ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงอบายมุขเหล่านี้มากขึ้น
7.ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติจากการบังคับเข้าอนุสัญญา UPOV1991
8.เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2 - 6 เท่า
9.ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู
น.ส.สารี กล่าวว่า จนถึงขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเลขานุการ กนศ. ยังไม่ดำเนินการตามข้อสั่งการนายกฯ ที่รับทราบข้อห่วงกังวลดังกล่าวและบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาและประสานกับ สอบ. อ้างอิงถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึง สอบ. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564
ไม่เพียงเท่านั้น กนศ. ยังมีมติไม่ทำการศึกษาเพิ่มเติมกรณีที่จีน ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรเข้าร่วมว่าจะเป็นประโยชน์หรือส่งผลกระทบทางลบกับไทยที่จะเข้าร่วมหรือไม่อย่างไร รวมทั้งบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตการระบาดของโควิด - 19 ซึ่งพื้นที่ทางนโยบายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและอาจได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องของนักลงทุนต่างชาติต่อนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ไทยเองก็กำลังเผชิญอยู่
ดังนั้น ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม สอบ. ที่ทำหน้าที่ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคและคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน ยืนยันข้อเสนอแนะเดิมที่ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วอีกครั้ง
คือ ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วม CPTPP จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานของความถูกต้อง กล่าวคือ จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage