สธ.เผยแนวโน้มโควิดเริ่มคงที่ ป่วยหนักลดลง ยังต้องเฝ้าระวังคลัสเตอร์ต่างๆ-กลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องถึงสิ้นปี กำชับทุกพื้นที่เร่งสำรวจเหตุผลไม่ยอมฉีดวัคซีน นำมาปรับกลยุทธ์จูงใจ เร่งปูพรมฉีดให้ครบ 100 ล้านโดส ไม่เกิน 5 ธ.ค. พร้อมเตรียมรับโมเดอร์น่าอีก 1 ล้านโดส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้ม ผู้ติดเชื้อยืนยันคงที่ ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักลดลง ผู้เสียชีวิตยังอยู่ในหลักสิบราย โดยจังหวัดที่มีแนวโน้มต้องจับตามองเป็นพิเศษมี 13 จังหวัด แบ่งเป็น
1) ติดเชื้อเฉลี่ยเกิน 100 รายต่อวัน และผลตรวจ ATK มากกว่า 5% มี 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช
2) ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยเกิน 100 รายต่อวัน และผลตรวจ ATK พบน้อยกว่า 5% มี 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น สระแก้ว และนครราชสีมา
3) ติดเชื้อเฉลี่ย 50-100 รายต่อวัน มี 5 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ปัจจัยการติดเชื้อในช่วงนี้ส่วนใหญ่มาจากในชุมชน ครอบครัว กิจกรรมเสี่ยง ได้แก่ งานศพ งานบุญ งานเลี้ยงสังสรรค์ และสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน เรือนจำ โรงเรียน ซึ่งหลายจังหวัดพบเป็นคลัสเตอร์ ในสถานที่มีแรงงานต่างด้าว
ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และจับตาดูแนวโน้มผู้ติดเชื้อหลังงานลอยกระทง จนถึงเดือนธันวาคม เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากยุโรปซึ่งพบการติดเชื้อสูงขึ้น
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมการเปิดประเทศให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการ เน้นกำกับติดตามมาตรการ VUCAหลัก คือ
V: Vaccine นำประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 โดยจัดบริการทั้งในและนอกสถานพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จัดลงทะเบียน แรงงานต่างด้าว ในชุมชน รวมถึงให้ อสม.ช่วยค้นหาเชิงรุก
U: Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา
C : Covid Free Setting สถานที่บริการมีความพร้อม ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบ
A: ATK เฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงเฝ้าระวังชุมชนหนาแน่น และมีแรงงานต่างด้าว
นอกจากนี้ให้ทุกพื้นที่ช่วยสำรวจรวบรวมประเด็น เหตุผลที่คนไม่ยอมฉีดวัคซีน เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์ อบรมทีมเชิงรุกในการให้ข้อมูลจูงใจให้เข้ารับวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการบรรยายพิเศษ ผลการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ตามเป้าหมาย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ และการระบาดของโควิด-19 ประจำปีงบประมาณ 2565 ภาคเหนือ ว่า จากตัวเลขที่เป็นทางการ รายงานว่า วันนี้เราฉีดวัคซีนไปทั้งหมด 88.9 ล้านโดส และกำลังใส่ข้อมูลเพิ่มเติมอีกล้านกว่าคน รวมฉีดวัคซีนแล้วกว่า 90 ล้านโดส ตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการเร่งให้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส คาดว่าไม่เกินวันที่ 5 ธันวาคม โดยเชื่อว่าการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ไม่ควรมีผู้เสียชีวิต หรือเจ็บป่วยรุนแรงจนเกินขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนไม่ถึง 5 คน ที่เกิดจากวัคซีนจริงๆ แต่เป็น 5 ในร้อยล้านโดส ส่วนการเสียชีวิตอื่นๆ ไม่พบว่าเกี่ยวกับวัคซีน แต่เป็นสาเหตุที่เกิดร่วมกัน และย้ำอีกครั้งว่า อาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนไม่เท่ากับผลข้างเคียงหรือแพ้วัคซีน
"สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งปูพรมลงไปค้นหา โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปเคาะประตูบ้าน รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนไปนานแล้ว ก็ต้องเข้ามารับบูสเตอร์ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศฉีดบูสเตอร์ ตอนนี้น่าจะฉีดแล้ว 3-4 ล้านคน เพราะการระบาดเกิดจากภูมิที่ลดลงด้วยส่วนหนึ่ง ทางรัฐบาลได้เตรียมวัคซีนไว้ 120 ล้านโดส เข็ม 3 มีพอแน่นอน และเผื่อไปเข็ม 4 นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนโมเดอร์นาอีก 1 ล้านโดสจะเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 14.00 น. และจะมีการจัดสรรวัคซีนต่อไป ขอยืนยันว่า เรามีวัคซีนอย่างเพียงพอ" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมโควิด-19 คือ กลไกการบริหารจัดการ 1) กลไกเชิงนโยบาย 2) ความรู้เชิงวิชาการ และ 3) ภาคปฏิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถออกนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ และอยากให้แต่ละจังหวัดมีแผนปฏิบัติการในการจัดการกับโรค โดยเฉพาะแผนเปิดประเทศ ทั้งด้านการป้องกันควบคุมโรค รวมถึงการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานกิจการต่างๆ ดำเนินการต่อไปได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage