ปคบ.-ปอศ จับผู้ต้องหาชาวญี่ปุ่น อดีตแก๊งยากูซ่า ตั้งบริษัทขายถุงมือยางที่ไม่ได้คุณภาพ ขายไปทั้งในและต่างประเทศ มูลค่าความเสียหาย 286 ล้านบาท-ขยายผลสอบ พ.ร.บ.เช็ค ผู้บริหารเมืองเศรษฐกิจพอเพียง
สำนักข่าวอิศรา (www.israews.org) รายงานว่าที่ กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์, พ.ต.อ.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ,พ.ต.อ.พัฒนา ฉายาวัฒน์, พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง, พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล รอง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงผลการจับกุม นายซูอิชิ โอซาวา วัย 42 ปี สัญชาติญี่ปุ่น ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีร่วมกันผลิตเครื่องมือทางการแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากติดตามจับได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี ได้เข้าตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่งบริเวณหมู่ 11 ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พบกล่องบรรจุถุงมือยางทางการแพทย์ จำนวนกว่า 10,000 กล่อง และพบถุงมือยางที่รอบรรจุมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่าโกดังหลังดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถขออนุมัติศาลออกหมายจับ นายโอซาวา ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ และเจ้าของโกดังดังกล่าว ตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยา ที่ 350/2564 ลง 6 พ.ย.64 ฐาน “ร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้จดทะเบียนสถานประกอบการและผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม” ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2562 ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน ตำรวจ บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.บช.น. สามารถจับกุมตัวนายโอซาวา ส่งพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยใหญ่ดำเนินคดี และในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม น.ส.ศุภนิดา สงวนนามสกุล อายุ 24 ปี ภรรยาของนายโอซาวา ตามหมายจับของศาลอาญาพระโขนง ในความผิดฐาน “ฉ้อโกง” มักมีพฤติการณ์หลอกขายถุงมือยางที่ไม่ได้คุณภาพ หรือจัดส่งถุงมือยางที่ไม่ครบตามจำนวนให้กับผู้เสียหาย โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินซื้อถุงมือยางมูลค่าความเสียหายเกือบ 4 ล้านบาท จากนั้นจึงได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.พระโขนง ดำเนินคดี
ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ทำการสืบสวนเพิ่มเติม โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ห้วยใหญ่ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เข้าตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 6 ตู้ ที่ลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ ย่าน ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบถุงมือยางปลอมรวมจำนวนกว่า 10 ล้านชิ้น ซึ่งตรวจสอบพบว่าเป็นของนายโอซาวาด้วยเช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดอายัดของกลางดังกล่าว และนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยใหญ่ ดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ต.ต.พุฒิเดช กล่าวว่า หลังจากมีการจับกุมนายโอซาวา ดำเนินคดีตามกฎหมายเเล้ว ต่อมาทาง บก.ปอศ. ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลในสารบบพบว่า นายโอซาวา มีพฤติการณ์หลอกขายถุงมือยางทางการแพทย์ให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนหลายราย มีผู้เสียหายซึ่งเป็นบริษัทในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับความเสียหายไปเป็นเงินกว่า 180 ล้านบาท และผู้เสียหายซึ่งเป็นบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับความเสียหายไปเป็นเงินกว่า 88 ล้านบาท โดยผู้เสียหายทั้งสองบริษัทฯ ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีไว้ที่ บก.ปอศ. และศาลได้ขออนุมัติหมายจับไว้แล้ว ตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ จ.577/2564 ลง 12 พฤศจิกายน 64 และหมายจับของศาลอาญา ที่ 1916/2564,1917/2564 ลง 12 พฤศจิกายน 64 ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้จดทะเบียนสถานประกอบการ, ร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต, และร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม”
ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน หลังจากที่นายโอซาวา ได้รับการประกันตัวจากการถูกจับกุมในคดีก่อนหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. จึงได้สืบสวนติดตามจับกุมนายโอซาวาฯ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของบก.ปอศ. อีก 2 หมายจับ โดยสามารถจับกุมนายโอซาวา ได้ที่บริเวณซอยจอมเทียน 5 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังจากนั้นจึงได้นำตัวนายโอซาวา ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการสืบสวนขยายผล เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่านายโอซาวา มีบัญชีเงินฝากที่มีการถ่ายโอนทรัพย์สินให้กับคนใกล้ชิด และครอบครองรถยนต์หรูไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้พฤติการณ์ในการหลอกลวงขายถุงมือยางของนายโอซาวา มักจะกระทำผิดในรูปแบบเดียวกันเป็นจำนวนหลายครั้ง ฉวยโอกาสในช่วงขาดแคลนถุงมือยางในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งมีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นจำนวนหลายคดี มีบางคดีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติยื่นฟ้องต่อศาลเอง นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายรายอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายโอซาวา รวมมูลค่าความเสียหายแล้วประมาณ 286 ล้านบาท
สอบสวนผู้ต้องหายังให้การปฎิเสธ และยืนยันว่าตัวเองถูกฉ้อโกงมาอีกที โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาเคยเกี่ยวข้องกับแก๊งยากูซ่าอันดับต้นๆ ในประเทศญี่ปุ่นมาก่อน เข้ามาทำอาชีพสอนภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่นในพื้นที่ภาคอีสาน ในประเทศไทยได้ประมาณ 3 ปี จนช่วงโควิด-19 โรงเรียนปิดตัวลงไป ทำให้อาศัยช่วงนี้ในการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยางที่ไม่ได้มาตรฐานออกจำหน่าย
ผู้สื่อข่าวได้รายงานเพิ่มเติมว่าในเวลาต่อมานายภูมิธเนษฐ์ อภิชาติภูวนาถษ์ ตัวแทนบริษัทผู้เสียหายจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2563 ได้ติดต่อสั่งซื้อถุงมือยางจำนวนมาก มูลค่า 900 ล้านบาทกับทางผู้ต้องหา พร้อมวางมัดจำก่อนเป็นเงินจำนวน 180 ล้านบาท และจะจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดเมื่อได้ถุงมือยางครบตามจำนวน แต่เมื่อถุงมือยางสินค้าล๊อตแรกจำนวน 1 หมื่นกล่อง ส่งมากลับพบว่าเป็นถุงมือไม่ได้คุณภาพ จึงสอบถามกลับไปยังผู้ต้องหา แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงก่อนตัดขาดการติดต่อหนีหายไป จึงรู้ตัวว่าถูกหลอก ซึ่งส่งผลให้บริษัทของตนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงนำเรื่องเข้าแจ้งความจนนำมาสู่การติดตามจับกุมตัวได้ดังกล่าว
@ขยายผลคดีเช็ค ผู้บริการเมืองเศรษฐกิจพอเพียง เจ้าของแบรนด์ถุงมือ Skymed
พล.ต.ท.จิรภพ,พล.ต.ต.อนันต์ และพ.ต.อ.ชนันนัทธ์ ยังได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการขยายผลการจับกุมนาวาอากาศเอก (พิเศษ) คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ ผู้บริหารบริษัทเมืองเศรษฐกิจพอเพียงเจ้าของแบรนด์ถุงมือยาง Skymed ว่า สืบเนื่องจากวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา บก.ปคบ. ทำการจับกุมผู้ต้องหารายนี้ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1852/2564 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ”
ซึ่งผู้ต้องหาได้ก่อเหตุหลอกขายถุงมือยางให้กับบริษัทในต่างประเทศ โดยอ้างว่าสามารถผลิตและจำหน่ายถุงมือยางได้เป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นบริษัทผู้ต้องหาสามารถจำหน่ายถุงมือยางได้จริง แต่เมื่อบริษัทผู้เสียหายโอนเงินมัดจำชำระค่าสินค้าจำนวนกว่า 180 ล้านบาทไปแล้ว ผู้ต้องหากลับไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้กับบริษัทผู้เสียหายได้ พร้อมกันนี้ยังมีการบ่ายเบี่ยงไม่ให้เข้าตรวจสอบดูโรงงานและคลังสินค้า อ้างความปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเมื่อบริษัทของผู้เสียหายเรียกร้องให้ชดใช้เงินค่ามัดจำคืน บริษัทของผู้ต้องหาก็ไม่สามารถคืนเงินให้ได้แต่อย่างใด ภายหลังจึงได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กับ พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปคบ. จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปคบ. สามารถจับกุมนายเอฯ มาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ในที่สุด
ภายหลังจับกุมบก.ปคบ. จึงได้ทำการสืบสวนขยายผล ตรวจสอบตรวจค้นโกดังผลิตถุงมือแห่งหนึ่ง ย่าน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผลการตรวจค้นไม่พบเครื่องจักรในการผลิตถุงมือ พบเพียงลังเปล่าขึ้นรูปแบบบรรจุกล่องถุงมือเสร็จ ยี่ห้อ สกายเมด จำนวน 5,940 ลัง , ลังเปล่าไม่ขึ้นรูป ยี่ห้อ สกายเมด จำนวน 24,760 ลัง ,กล่องไม่ขึ้นรูป ยี่ห้อ สกายเมด ลังถุงมือตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจ จำนวน 69 ลัง
นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่ามีหมายจับที่ยังไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีอีก 2 หมายจับ คือ หมายจับศาลแขวงนนทบุรี ที่ 440/2564 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 และหมายจับศาลแขวงนนทบุรี ที่ 459/2564 ลง 4 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นการกระทําความผิดฐาน พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จึงได้ทำการจับกุมในความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม
จากพฤติกรรมของผู้ต้องหา เชื่อว่ายังมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ถูกผู้ต้องหาหลอกลวง โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบพบว่า ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแล้วจำนวน 2 คดี และมีผู้เสียหายที่ยังไม่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีจำนวน 2 คดี ในส่วนของความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เช็ค มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีแล้วจำนวน 2 คดี และความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีแล้วจำนวน 1 คดี รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดกว่า 400 ล้านบาท
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage