สั่งโละเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. กว่า 7,000 จากจำนวนที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด 14,000 ราย สตช. โดนมากสุด 3,837 กองทัพบก 1,439 ปค. 1,303 ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รมว.ยุติธรรม แจงเหตุไม่มีผลงาน - ใช้บัตรไม่เหมาะสม ส่วนที่เหลือให้จัดฝึกอบรมตามประมวลกม.ยาเสพติดฉบับใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 จำนวนกว่า 7,000 คน จำแนกตามสังกัด อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3,837 ราย กองทัพบก จำนวน 1,439 ราย กรมการปกครอง จำนวน 1,303 ราย เป็นต้น (ดูคำสั่งประกอบ)
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ได้สอบถามเรื่องนี้กับทางสำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับคำชี้แจงว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ป.ป.ส. มีประมาณ 14,000 คน ผู้ที่ได้รับคำสั่งยกเลิกการเป็นเจ้าพนักงานกว่า 7,000 คน ด้วยเหตุผลสองประการ
1. เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานจะต้องมีผลงานและรายงานผลงานทางออนไลน์ให้กับทางสำนักงาน ป.ป.ส. แต่เจ้าพนักงานเหล่านี้ไม่ได้รายงานผลงานหรือไม่มีผลงานตามที่กำหนด
2. มีเจ้าพนักงานจำนวนหนึ่งที่ใช้บัตรเจ้าพนักงานไปในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ในระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ไม่แสดงบัตรหรือแสดงบัตรเจ้าพนักงานไม่ชัดเจน
@ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทางสำนักงาน ป.ป.ส. จะรายงานเหตุผลในการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานเหล่านี้อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง สำหรับเจ้าพนักงานที่ยังเหลืออีกประมาณครึ่งหนึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ส.จะจัดการฝึกอบรมตามประมวลกฏหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้
รายงานข่าวจาก สำนักงาน ป.ป.ส. แจ้งว่า ผู้บริหาร สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รายงานเหตุผลในการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ต่อนายสมศักดิ์ เป็นทางการแล้ว ระบุว่า ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้งการปฏิบัติหน้าที่และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พ.ศ. 2545 มีการกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้ง คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง วิธีการในการปฏิบัติหน้าที่ และการรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไว้ ซึ่งเมื่อมีการใช้อำนาจจะต้องรายงานผลการใช้อำนาจเข้ามาในระบบเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อสำนักงาน ป.ป.ส. รวบรวม วิเคราะห์และสรุปผลการดำเนินงานในแต่ละปี เพื่อนำ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อเป็นการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. นอกจากนี้ ตามระเบียบดังกล่าว กำหนดให้การเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สิ้นสุดลง หากเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. กรณีไม่ดำเนินการรายงานผลการใช้อำนาจ
ประกอบกับที่ผ่านมามี เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จำนวนหนึ่งมีการใช้อำนาจตามบัตรเจ้าพนักงานในทางที่ไม่ชอบ มีการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ทำให้สำนักงาน ป.ป.ส. และกระทรวงยุติธรรมเกิดความเสียหาย ซึ่งในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 จะมีประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับ แม้ว่าบทเฉพาะกาลจะกำหนดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับการแต่งตั้งไว้ยังคงมีอำนาจต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดก็จะทำให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่แต่งตั้งไว้เดิมทั้งหมดสิ้นสุดการเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไปโดยอัตโนมัติตามบทเฉพาะกาลดังกล่าว
ซึ่งอำนาจเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายประการ ประกอบกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2545 ก็กำหนดให้การแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ส. หรือคณะอนุกรรมการ ป.ป.ส. และจะต้องผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการและการฝึกอบรมไว้แล้ว
ทั้งนี้ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ยังคงมีอำนาจมีบัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. อยู่ก็ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป และสำนักงาน ป.ป.ส. จะแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดและเสนอให้บุคคลดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage