ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กางไทม์ไลน์จัดหายาต้านโควิด เตรียมเสนอ ครม.ซื้อ ‘โมลนูพิราเวียร์’ เดือน พ.ย.นี้ ส่วน ‘แพกซ์โลวิด’ คุยกับบริษัทมาตั้งแต่ ก.ค.64
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวถึงยาต้านโควิด-19 ชนิดรับประทาน ที่มีอยู่ 2 ชนิด คือ โมลนูพิราเวียร์ และ แพกซ์โลวิด ว่า ยาทั้ง 2 ชนิดเป็นยาช่วยต้านไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวนในร่างกาย แต่ออกฤทธิ์ต่างกัน โดยยาโมลนูพิราเวียร์ จะทานมื้อละ 4 เม็ดวันละ 2 เวลา ติดต่อกัน 5 วัน เท่ากับว่าผู้ป่วย 1 คนต้องรับประทานยา 40 เม็ดต่อคน มีข้อมูลวิเคราะห์เบื้องต้นว่า การทดลองกับกลุ่มที่ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน กับกลุ่มได้ยาหลอก 377 คน พบว่า โมลนูพิราเวียร์ ลดอัตราการเสียชีวิตหรือการนอนในโรงพยาบาล 50% และไม่มีผู้ใดเสียชีวิต
การดำเนินการของกรมการแพทย์ก่อนหน้านี้ โมลนูพิราเวียร์ เราดำเนินการหารือกับบริษัทตั้งแต่ ก.ค.2564 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติจัดซื้อ และคาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียน FDA สหรัฐอเมริกา ซึ่งประมาณการว่าไทยจะได้ใช้ยาในช่วง ธ.ค.2564 – ต้นปี 2565
นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนยาแพกซ์โลวิดจะต้องทานมื้อละ 2 เม็ด คู่กับ ยาริโทนาเวียร์ มื้อละ 1 เม็ดวันละ 2 เวลาห่างกัน 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5 วัน เท่ากับว่าผู้ป่วย 1 คนต้องรับประทานยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ด และยาริโทนาเวียร์ 10 เม็ด มีข้อมูลวิเคราะห์เบื้องต้นว่า การทดลองกับกลุ่มที่ได้ยาจริง 389 คน และยาหลอก 385 คน พบว่า ลดอัตราการเสียชีวิตหรือการนอนในโรงพยาบาล 89% กรณีให้ยาภายใน 3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ และ ลดอัตราการเสียชีวิตหรือการนอนในโรงพยาบาล 85% กรณีให้ยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ และไม่มีผู้ใดเสียชีวิต
นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการกับยาแพกซ์โลวิด เราได้คุยในรายละเอียดกับบริษัทไฟเซอร์ตั้งแต่ ก.ค.2564 ปัจจุบันได้ลงนามรักษาความลับไม่ให้เปิดเผยข้อมูล และอยู่ระหว่างการคุยกันในรอบที่ 2 เกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัย และจะมีการหารือกันครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดหายามาใช้ ประมาณการว่า บริษัทจะยื่นขอขึ้นทะเบียน FDA สหรัฐอเมริกาในช่วงพฤศจิกายนนี้
นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากยาใช้ได้ผลดี รักษาผู้ป่วยได้ดี การเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตก็จะลดลง ฉะนั้นจะเห็นว่ายาทั้ง 2 ชนิดหากเราทำให้เข้าถึงได้ง่าย อยู่ในบริบทที่ประชาชนหรือผู้ติดเชื้อสามารถใช้ได้ จะช่วยทำให้การควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น และเชื่อว่าเป็นความหวังใหม่ของทุกคน
เมื่อถามว่าไทยเป็น 1 ใน 90 ประเทศที่สั่งซื้อยาล็อตแรกหรือไม่ นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า คำถามนี้ตอบยากมาก เพราะการซื้อยาต้องมีการคุยกัน วางแผนกันล่วงหน้า มีการสั่งจอง และจากข้อมูลที่นำเสนอ คิดว่าจะช่วยทำให้ไทยเข้าถึงยาได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเราได้เริ่มต้นกระบวนการมาตั้งแต่ ก.ค.2564
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage