สธ.ยันสูตรไขว้ ซิโนแวค-แอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อได้ 70% สูงกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม เผยจีนเตรียมบริจาคซิโนแวคเพิ่ม 1.5 ล้านโดส พร้อมแจงฉีดไฟเซอร์-โมเดอร์น่า เป็นบูสเตอร์โดสได้ หลังฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม 6 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ฉีดเพิ่มขึ้น 824,650 โดส สะสม 78,656,124 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 43.4 ล้านโดส คิดเป็น 60.3% ของประชากร 72 ล้านคน ทั้งคนไทยและผู้ที่อยู่ในแผ่นดินไทยทุกคน เข็มที่ 2 อีก 32.7 ล้านโดส คิดเป็น 45.4% และเข็มที่ 3 อีก 2.5 ล้านโดส คิดเป็น 3.5%และคาดว่าใน 1-2 วันนี้ จะสามารถฉีดวัคซีนสะสมได้ถึง 80 ล้านโดส
สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีน แบ่งเป็น ซิโนแวค 24.5 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 34.4 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 12.7 ล้านโดส และไฟเซอร์ 6.5 ล้านโดส
นพ.โอภาส กล่าวถึงพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด หรือ พื้นที่สีฟ้าที่ต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมกว่าพื้นที่อื่น ว่า ยอดรวมการฉีดวัคซีนสะสม 80% ของประชากร จะมีความปลอดภัย ช่วยลดการติดเชื้อลงได้ และหากติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ทั้งนี้ มีฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 77% เข็มที่ 2 อีก 64% ส่วนเดือน ธ.ค.นี้ จะมีจังหวัดอื่นเข้ามาเป็นพื้นที่สีฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 17-18 จังหวัด จึงขอให้เร่งฉีดวัคซีนกันต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีวัคซีนเข้าไทยค่อนข้างมาก โดยในสัปดาห์หน้าจะมีแอสตร้าเซเนก้าส่งมอบให้ไทยอีก 2 ล้านโดส ขณะนี้มีการส่งมอบแล้วมากกว่า 35 ล้านโดส และการส่งมอบวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน อีกทั้งปลายเดือนนี้ ยอดการส่ง 61 ล้านโดสนั้น ทางบริษัทยืนยันกับไทยว่าจะจัดส่งครบอย่างแน่นอน
ส่วนไฟเซอร์ ที่มียอดการส่งวัคซีนปีนี้ 60 ล้านโดสนั้น ยอดการฉีดปัจจุบันมีประมาณ 6-8 ล้านโดสแล้ว โดยในช่วงกลางสัปดาห์หน้าจะมีไฟเซอร์เข้ามาอีก 6 ล้านโดส ดังนั้น รวม 2 วัคซีน จะมีเข้ามา 8 ล้านโดส
นอกจากนี้ยังได้รับการประสานจากประเทศจีน แจ้งว่าจะบริจาควัคซีนซิโนแวคให้ไทยอีก 1.5 ล้านโดส ส่วนยอดคงเหลือของวัคซีนซิโนแวค ทั้งประเทศ มีเหลืออยู่ประมาณ 2 ล้านโดส โดยกำลังเตรียมการเพื่อให้ประชาชนฉีดได้ต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวยืนยันว่า สัปดาห์หน้า ไทยจะมีวัคซีนเพียงพอ จึงขอให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มที่ 1,2 หรือ 3 ขอให้ไปติดต่อขอจองการฉีดวัคซีนได้ ตามจุดที่มีการเปิดรับจอง หรือที่ไหนมีความพร้อมในการฉีดวัคซีน ก็สามารถไปติดต่อได้
ส่วน กทม. มีจุดฉีดวัคซีนหลายจุด เช่น สถานีกลางบางซื่อ นอกจากนี้ทางกรมการแพทย์จะมีการเปิดอีกหลายจุด โดยจะมีการประกาศเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงขอให้รอฟังรายละเอียดในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง
นพ.โอภาส เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อป้องกันการป่วยหนัก เสียชีวิตได้ดีมากในทุกวัคซีน โดยได้ระดับมากกว่า 80-90% ขึ้นไป
แต่เมื่อพบสายพันธุ์เดลต้า ประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อ (Effectiveness) จะลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ในทุกวัคซีน ข้อมูลมาจากการปฏิบัติจริง(Real World) จะต่างจากการวัดประสิทธิผลจากห้องแล็บว่าภูมิคุ้มกันขึ้นหรือไม่ ซึ่งไม่สำคัญเท่ากับประสิทธิผลจริง
เนื่องจากตัวเลขมีปัจจัยแปรผันหลายประการ การศึกษานี้ใช้ฐานข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ของผู้ที่รับบริการใน กทม. และข้อมูลการฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อม เมื่อเดือน ก.ย. 2564
จากการศึกษาข้อมูลวัคซีนที่ฉีดใน กทม.หลักๆ ในช่วงนั้น พบว่า สูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ ป้องกันการติดเชื้อได้ 54% ส่วนสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ห่างกัน 4 สัปดาห์ ป้องกันได้ 70%
หากดูจากการศึกษานี้ พบว่าสูตรไขว้มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การระบาดในพื้นที่ระยะหลังลดลงค่อนข้างดี เนื่องจากฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างมาก และวัคซีนมีประสิทธิผลลดการติดเชื้อได้ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50% ถือว่าเป็นข้อมูลที่ดีในจังหวัดอื่นๆ เพราะขณะนี้ทราบว่าวัคซีนอยู่ในแต่ละจังหวัดค่อนข้างมาก ก็ขอให้เร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับมติของการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ทั้งหมด ได้นำเข้าสู่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเห็นชอบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ดังนี้
1. การฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง(Intradermal) เนื่องจากมีข้อมูลว่าสามารถลดปริมาณการใช้วัคซีนได้ โดยประสิทธิผลใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(Intramuscular) ตามปกติ
แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังเห็นชัดกว่า แต่อาการไข้ลดลงกว่า เพราะใช้วัคซีนน้อยกว่า คณะกรรมการฯ มีมติว่า สามารถฉีดเข้าในชั้นผิวหนังได้ โดยเฉพาะกรณีวัคซีนมีจำกัด หรือไม่เพียงพอ เช่น หากวัคซีนไม่พอ เดิมฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้ 1 คน แต่ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง จะได้ 3-5 คน ก็จะเพิ่มการฉีดได้มากขึ้น
2. คำแนะนำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ห่างกับวัคซีนโควิด จากเดิมที่ให้ห่างกัน 4 สัปดาห์ลดมาเป็น 2 สัปดาห์ ขณะนี้คำแนะนำใหม่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิดไปเกือบ 80 ล้านโดสแล้ว พบผลข้างเคียงรุนแรงมีไม่มาก
3. กรณีการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม คณะอนุกรรมการฯ แนะนำฉีดเข็ม 3 ห่างจากการเข็ม 2 แล้ว 6 เดือนขึ้นไป ด้วยวัคซีนด้วยไฟเซอร์
ดังนั้น ผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 2 ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. สามารถไปติดต่อขอรับเข็ม 3 ตามความสมัครใจได้ที่ รพ.ใกล้บ้าน หากที่ใดมีความพร้อมแล้วก็สามารถฉีดได้ทันที ทั้งนี้ ขึ้นกับปริมาณวัคซีนที่มีด้วย ส่วนผู้ที่จองวัคซีนโมเดอร์น่าไว้ ซึ่งเป็นชนิด mRNA เช่นเดียวกันก็สามารถรับเข็ม 3 ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
“บางคนถามว่าฉีดเร็วขึ้น ยาวขึ้นได้หรือไม่ ต้องเรียนว่า หลักการภาพรวม ระยะห่างการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีปัจจัยแรกคือ ฉีดเร็วเกินไป ภูมิคุ้มกันอาจขึ้นไม่ค่อยดี แต่หากฉีดช้าก็มีโอกาสภูมิฯ ตกและติดเชื้อได้ ฉะนั้น ความสมดุลในระยะเวลาการฉีด จึงมีความสำคัญ” นพ.โอภาส กล่าว
4. กรณีที่ฉีดวัคซีนเข็ม 1 เช่น แอสตร้าฯ แล้วมีอาการไข้สูง ท้องเสีย เป็นไข้หลายวัน จนไม่อยากฉีดเข็ม 2 หรือแพทย์พิจารณาว่ามีอาการค่อนข้างมาก ให้เปลี่ยนเป็นชนิดอื่นต่อไป
คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า ขอให้เปลี่ยนชนิดวัคซีนได้ กรอบการฉีดเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น แอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์น่าได้ แต่ไม่แนะนำเป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม
แต่หากเข็ม 1 เป็นซิโนแวคเข็ม 2 อาจใช้แอสตร้าฯ ได้ ส่วนคนที่ฉีดเข็ม 1 เป็นไฟเซอร์ โมเดอร์น่า ก็จะพิจารณาเป็นราย ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นต้องไปต่างประเทศ ที่ปลายทางกำหนดเรื่องการฉีดวัคซีนต่างกัน ก็ขอให้จุดฉีดพิจารณาให้ฉีดได้ตามความต้องการของผู้ที่จะไปต่างประเทศได้ เนื่องจากขณะนี้เรามีวัคซีนค่อนข้างเพียงพอ แต่ขอให้พิจารณารายกรณี
นพ.โอภาส กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนทางเลือกโมเดอร์น่า ว่า คณะอนุกรรมการฯ มีคำแนะนำดังนี้
1) ฉีดเข็ม 1 ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 4 สัปดาห์ สำหรับผู้อายุ 12 ปีขึ้นไป
2) สำหรับการฉีดสูตรไขว้ คือ ซิโนแวค+โมเดอร์น่า แอสตร้าฯ+โมเดอร์น่า ซิโนฟาร์ม+โมเดอร์น่า และ ไฟเซอร์+โมเดอร์น่า ให้ห่างกัน 4 สัปดาห์ตามคำแนะนำเอกสารกำกับยาของผู้ผลิต
3) สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้น หลังรับซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็มแล้ว สามารถฉีดโมเดอร์น่าได้ หลังฉีดเข็ม 2 แล้ว 4 สัปดาห์เป็นต้นไป ส่วนผู้ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ก็ฉีดเข็ม 3 เป็นโมเดอร์น่าได้ หลังเข็ม 2 แล้ว 6 เดือนขึ้นไป
“ที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุขรับทราบดังนี้ ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนำข้อแนะนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละจังหวัด และหากประชาชนประสงค์รับวัคซีนขอให้ติดต่อกับจุดฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนัดหมายขอรับการฉีด” นพ.โอกาส กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage