‘สิงห์ชัย ทนินซ้อน’ อัยการสูงสุด เผย 4 นโยบายปฏิรูปองค์กรอัยการ 'ยุติธรรม-ใช้ดิจิทัลทุกมิติ-บูรณาการความร่วมมือ-ยกระดับบุคลากร' สร้างความเชื่อมั่นประชาชน หวังแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมถูกมองเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2564 นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘องค์กรอัยการกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ภายในงานวันครบรอบ 70 ปีธรรมศาสตร์สามัคคี ว่า ในวันนี้ตนเองได้แบ่งการปาฐกถาออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ 1. วิวัฒนาการองค์กรอัยการกับการปฏิรูปยุติธรรมไทย 2.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 3.ความท้าทายของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ 4.แนวทางการปฏิรูปองค์กรอัยการ
สำหรับวิวัฒนาการองค์กรอัยการกับการปฏิรูปยุติธรรมไทยนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำหน้าที่สอดส่องและดูแลความผิดความชอบของเจ้าเมือง กรมการเมือง ผู้ใช้อำนาจตุลาการในสมัยนั้น รวมถึงสอดส่องคดีความทั่วไปของหัวเมือง หลังจากนั้นในปี 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าจัดตั้งอัยการให้อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อมาในปี 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มีพระบรมราชโองการประกาศรวมอัยการหัวเมืองและอับการกรุงเทพฯมาไว้ที่กรมอัยการ
ต่อมาในปี 2465 รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้กรมอัยการย้ายสังกัดจากกระทรวงยุติธรรม ให้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในปี 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ออกประกาศให้แยกกรมอัยการสังกัดกระทรวงมหาดไทยไปเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้การกำกับการดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง และเปลี่ยนชื่อจากกรมอัยการเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด กระทั่งปี 2560 จนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 13 มาตรา 248 บัญญัติให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและพนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง
นายสิงห์ชัย กล่าวอีกว่า จากประวัติความเป็นมา จะเห็นร่องรอยการเปลี่ยนผ่านขององค์กรอัยการที่มีการปรับตัวทันสมัยอย่างต่อเนื่อง แต่บทบาทที่ยังคงอยู่คือการเป็นองค์กรในระดับกลางน้ำของกระบวนการยุติธรรม ที่มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนและรักษาความสงบร่มเย็นของประเทศ
“จากหน้าที่ขององค์การอัยการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นองค์กรที่มีความมั่นคง และดำรงอยู่มาเกือบ 130 ปี อีกทั้งยังเป็นองค์กรเพื่อการสร้างความยุติธรรมให้ประชาชน และยังหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปกระบวนยุติธรรม ที่จะต้องเกิดขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปอย่างสมบูรณ์และบรรลุเป้าหมายสูงสุด ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” นายสิงห์ชัย กล่าว
ส่วนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นั้น นายสิงห์ชัย กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญนั้น ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศมาตรา 258 ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตามบทบัญญัติดังกล่าว เน้นการปฏิรูปประเทศเป็นสำคัญ เพื่อให้ประเทศมีความสงบเรียบร้อย ปรองดองกัน และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักการพัฒนาด้านวันถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชาชนมีความสุขและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอาจปฏิรูปประเทศในด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ ฯลฯ
สำหรับความท้าทายของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย เนื่องจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยความไร้สถานภาพหลากหลายมิติจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นหากไม่มีการเตรียมความพร้อม จะเกิดความไม่สงบ เรียบร้อย และยากต่อการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจากโรคระบาด หรือการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงประเด็นความอ่อนไหวจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งต่างสร้างหรือซ้ำเติมปัญหาให้สังคมเกิดวิกฤตมากขึ้น
“ในการดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง สังคมส่วนหนึ่งมองว่าเกิดจากปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อปิดกั้นการแสดงออกประชาชน เมื่อกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเหมือนหนึ่งในปัญหา จะต้องปฏิรูปการทำงานขององค์กรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ อัยการ ศาลยุติธรรม และกรมราชฑัณฑ์ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างอิสระและโปร่งใส ภายใต้อุดมการณ์ให้คุณค่าที่แตกต่างหลากหลายภายในสังคม เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” นายสิงห์ชัย กล่าว
โดยแนวทางการปฏิรูปการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด มีดังนี้
1.อำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายให้ประชาชน โดยเน้นหลักนิติธรรมและบริหารด้วยธรรมาภิบาล ซึ่งจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นบรรลุเป้าหมายสูงสุด
2.พัฒนาสำนักงานอัยการสูงสุดให้เป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานและเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่กระบวนยุติธรรมของประชาชน เพื่อประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการดำเนินงานในทุกมิติ เช่น การพิจารณาคดีผ่านสื่อออนไลน์ และการดำเนินภารกิจติดตามคดีผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีผลต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างมีนัยสำคัญในท้ายที่สุด
3.ประสานความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วม และการบูรณาการในกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทั้งบุคลากรภายในองค์กร บุคลากรภายนอก และประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น
4.การยกระดับสมรรถนะบุคลากรในทุกมิติ โดยพัฒนาทั้งทักษะ องค์ความรู้ การปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนผ่าน โดยยึดหลักโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคุณธรรม จริยธรรม ให้เป็นที่เชื่อมั่นต่อประชาชน รวมทั้งการขวัญและกำลังใจให้บุคลากร เพื่อให้บุคลากรเป็นคนเก่ง คนดี รักและผูกพันธ์องค์กรอย่างจริงใจ ให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ผมมองว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการปฏิรูปนั้น ต้องสามารถตอบสนองความยุติธรรมที่ต้องเกิดขึ้นกับประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง และความจริงใจของพวกเราทั้งหมดในกระบวนการยุติธรรม” นายสิงห์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังการปาฐกถาเสร็จ ได้มีพิธีมอบรางวัลเข็มเกียรติยศธรรมศาสตร์สามัคคี 2564 ให้กับนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด, นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ คนที่ 1, นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร
และได้มีพิธีมอบรางวัลจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ประจำปี 2564 ให้กับศาสตราจารย์พิเศษมารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage