ไทยป่วยโควิดใหม่ 8,148 ราย อาการหนัก 2,118 ราย รวมสะสม 1.95 ล้านราย ตายเพิ่ม 80 ราย ศบค.ยกระดับคุมเข้มนครศรีธรรมราช เพิ่มเวลาเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม-ตี 3 หลังยอดติดเชื้อพุ่ง ขณะที่เชียงใหม่พบคลัสเตอร์เด็กเล็ก ส่วนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้ว 1.3 หมื่นราย พบติดเชื้อ 0.075% ย้ำเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารอย่างละเอียด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 8,148 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อในประเทศ 8,133 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 7,415 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 113 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 605 ราย อีก 15 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 1,951,572 ราย
มีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) 2,935 ราย รวมยอดสะสมตั้งแต่ 20 ส.ค. 2564 จำนวน 213,698 ราย
หายป่วยเพิ่ม 8,238 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 97,300 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 2,118 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 461 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 19,542 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 80 ราย มาจาก กทม. 14 ราย ปริมณฑล 7 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ราย ภาคเหนือ 7 ราย ภาคใต้ 23 ราย และภาคกลาง 23ราย แบ่งเป็นชาย 29 ราย หญิง 51 ราย เป็นชาวไทย 79 ราย และเมียนมา 1 ราย อายุระหว่าง 30-100 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคอ้วน ติดเตียง ส่วนปัจจัยเสี่ยงสูงสุดมาจาติดเชื้อจากคนรู้จัก ครอบครัว เพื่อน อาศัยในพื้นที่ระบาด และประกอบอาชีพเสี่ยง
"ส่วนรายงานผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคเรื้อรัง คิดเป็น 94%ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด อีก 6%ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง เมื่อดูรายละเอียดผู้เสียชีวิตจะพบว่ามากกว่า 80% ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เกือบ 18% ได้รับวัคซีนเข็ม 1 และมีเพียง 2% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม" พญ.สุมนีกล่าว
โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 721 ราย สงขลา 498 ราย ปัตตานี 427 ราย เชียงใหม่ 403 ราย ยะลา 375 ราย ชลบุรี 348 ราย นครศรีธรรมราช 294 ราย สมุทรปราการ 244 ราย นราธิวาส 213 ราย และตรัง 205 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากจากต่างประเทศ ทั้งหมด 15 ราย แบ่งเป็น สหราชอาณาจักร 2 ราย ออสเตรเลีย 1 ราย รัสเซีย 2 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย อินเดีย 1 ราย อียิปต์ 1 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ไนจีเรีย 2 ราย เยอรมนี 1 ราย และมาเลเซีย 2 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 290,603 ราย ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 502,554 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 3 จำนวน 31,493 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 77,656,124 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 43,403,391 ราย ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 32,726,021 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 3 จำนวน 2,526,712 ราย
คุมเข้มนครศรีธรรมราช เพิ่มเวลาเคอร์ฟิวอีก 1 ชั่วโมง
พญ.สุมนี กล่าวว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่องทั้งในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล รวมถึงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 294 คน รวมสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย. - 5 พ.ย.2564 โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช วิเคราะห์ภาพรวมการระบาดในพื้นที่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. มีผู้ติดเชื้อวันละ 300-400 ราย และเพิ่มขึ้นมากวันละ 600 รายในเดือน ต.ค.
โดยคลัสเตอร์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พบ 5 แห่งที่มีการระบาดมากที่สุด ได้แก่ คลัสเตอร์ในครอบครัวและชุมชน 79.76% คลัสเตอร์ในตลาด 6.89% คลัสเตอร์ในเรือนจำ 5.11% คลัสเตอร์ในโรงงาน 1.68% และคลัสเตอร์ในกิจกรรมทางศาสนา 1.43%
"นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งใน 7 จังหวัดสีแดงเข้ม แต่ได้มีการจัดการด้วยมาตรการป้องกันแบบบูรณาการ โดย ศบค.ห้ามออกนอกเคหสถาน 23.00 - 03.00 น. จนถึงวันที่ 15 พ.ย. 2564 แต่ นครศรีธรรมราช ได้มีการใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น เพื่อจำกัดวงการระบาด โดยค้นหาเชิงรุก เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง และมีมาตรการเพิ่มเติม โดยเพิ่มชั่วโมงเคอร์ฟิวเป็น 22.00 - 03.00 น. และมีการปิดชุมชนที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาด" พญ.สุมนีกล่าว
นอกจากนี้ ในพื้นทื่จังหวัดเชียงใหม่ ยังพบการระบาดต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากยังพบการระบาดในคลัสเตอร์ตลาด 32 ราย แคมป์ก่อสร้าง 8 ราย สถานศึกษา 7 ราย และศูนย์เด็กเล็ก 4 รายเช่นเดียวกับจังหวัดชลบุรี ยังพบการระบาดในค่ายทหารและแคมป์ก่อสร้าง
นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้ว 1.3 หมื่น พบติดเชื้อ 10 ราย
พญ.สุมนี กล่าวถึงข้อมูลการเปิดประเทศ วันที่ 4 พ.ย. 2564 ว่า มีผู้เดินทางเข้าประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว จำนวน 2,013 ราย เข้าเกณฑ์ Test and Go 1,864 ราย Sandbox 88 ราย กักตัว 7 วัน 32 ราย และกักตัว 10 วัน 102 ราย
ส่วนการเดินทางเข้าไทย ตั้งแต่วันที่ 1-4 พ.ย.2564 เข้ามาทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเดินทางเข้ามาแล้ว 9,210 ราย พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต เดินทางเข้ามาแล้ว 4,005 ราย พบติดเชื้อ 7 ราย และท่าอากาศยานสมุย เดินทางเข้ามาแแล้ว 182 ราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ รวมมีผู้เดินทางเข้าไทย จำนวน 13,397 ราย มีผู้ติดเชื้อสะสม 10 ราย คิดเป็น 0.075%
สำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศต้นทางสูงสุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ เนเธอแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน
พญ.สุมณี กล่าวถึงแผนเผชิญเหตุเมื่อมีการระบาดเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ ว่า มีเกณฑ์พิจารณาความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อที่เป็นนักท่องเที่ยว ความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อของคนในพื้นที่ และการจัดการทรัพยากรให้พร้อมในการควบคุมโรค หากเริ่มมีการระบาดอาจต้องพิจารณากรณีไม่เข้าเกณฑ์จะเริ่มปรับลดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวไปจนถึงยุติการรับนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องเป็นมติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่นั้นๆ
ย้ำเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารนักท่องเที่ยวอย่างละเอียด
พญ.สุมนี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก ได้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยอย่างละเอียดครบถ้วน และขั้นต้อนที่สำคัญ เมื่อมาถึงไทย คือ การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงแรม ซึ่งต้องมีระบบที่จับคู่กับโรงพยาบาล เพื่อให้ได้ผลตรวจภายใน 6 ชั่วโมง ก่อนเข้า Sandbox หรือ Test and Go โดยขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวกำกับติดตามสถานประกอบการและโรงแรมให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การเปิดประเทศดำเนินการไปอย่างราบรื่น
"ศปก.ศบค.ได้มีการหารือร่วมกับหลายภาคส่วน เร่งรัดให้ร้านค้า สถานประกอบการ ร้านอาหาร ทำความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือให้ได้มาตรฐาน SHA หรือ SHA+ หากยังไม่เป็นพลัส ก็ให้เร่งฉีดวัคซีนพนักงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. เพื่อให้มีความพร้อมรองรับการผ่อนคลายมาตรการอื่นๆ ที่จะตามมา ส่วนการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดำเนินการภายใต้มาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์ ขอความร่วมมือทุกฝ่ายดำเนินการอย่างเคร่งครัด" พญ.สุมนีกล่าว
ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 509,701 รวมสะสม 249.32 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 509,701 ราย รวม 249,327,571 ราย อาการหนัก 76,165 ราย หายป่วย 225,822,453 ราย เสียชีวิต 5,044,881 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 81,033 ราย รวม 47,174,929 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,149 ราย รวม 772,077 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 12,265 ราย รวม 34,332,407 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 214 ราย รวม 459,875 ราย บราซิล พบเพิ่ม 13,352 ราย รวม 21,849,137 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 411 ราย รวม 608,671 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก
ไทยติดโควิดใหม่ 8,148 ป่วยสะสมระลอก เม.ย. 1.92 ล้านราย
อนึ่งเมื่อเวลา 07.22 น. สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ 8,148 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อในประเทศ 8,133 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 7,415 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 113 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 605 ราย อีก 15 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยสะสมจากการระบาดระลอกใหม่ (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) 1,922,709 ราย และเสียชีวิต เพิ่ม 80 ราย
ทั้งนี้ มีผู้หายป่วยกลับบ้านเพิ่มเติม 8,238 ราย สะสมรวม (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) 1,807,304 ราย อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล 97,300 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 2,118 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 461 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย
แบ่งเป็นผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล 1,249 ราย จาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ 1,514 ราย และจังหวัดอื่นๆ 4,766 ราย
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 10 จังหวัดอันดับสูงสุด ประกอบด้วย กทม. 721 ราย สงขลา 498 ราย ปัตตานี 427 ราย เชียงใหม่ 403 ราย ยะลา 375 ราย ชลบุรี 348 ราย นครศรีธรรมราช 294 ราย สมุทรปราการ 244 ราย นราธิวาส 213 ราย และตรัง 205 ราย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage