สธ.เผยภาพรวมเปิดเทอมออนไซต์ มีโรงเรียนผ่านการประเมินกว่า 3.5 หมื่นแห่ง ย้ำทุกโรงเรียนต้องผ่านประเมิน-รายงานข้อมูล พร้อมจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ เตือนประชาชนคงเข้มมาตรการ หลังผ่อนคลายเปิดประเทศ
ผู้เสื่อข่าวรายยงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย กล่าวว่า ก่อนจะเปิดเรียนแบบ On-site ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเข้าร่วมการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop COVID Plus และเข้มงวดในมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่กำหนดไว้ เช่น เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จัดอนามัยสิ่งแวดล้อม การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ เป็นต้น
โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมการประเมิน Thai Stop COVID Plus จำนวน 37,149 แห่ง ผ่านการประเมินครบทุกข้อ 35,114 แห่ง สามารถเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย ที่เหลืออยู่ระหว่างการปรับปรุงก่อนเปิดโรงเรียน ซึ่งต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดอีกครั้ง และเมื่อเปิดเรียนแล้วยังคงต้องเฝ้าระวัง ติดตามประเมินและรายงานข้อมูลผ่าน MOE COVID ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างต่อเนื่อง
“ขอให้มั่นใจว่าโรงเรียนที่จะเปิดการเรียนการสอนได้นั้นต้องมีมาตรการครบถ้วน มีการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ ทุกแห่งมีแผนเผชิญเหตุ หากพบการติดเชื้อสามารถจัดการได้ทันที เช่น กรณีที่เกิดความเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องปิดการทั้งโรงเรียน อาจปิดเพียงแค่ห้องเรียน ชั้น หรืออาคารเรียน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ จะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ทั้งเด็กนักเรียน บุคลากร ผู้ปกครอง จะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากแล้ว แต่ทุกคนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัด ทั้งเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนข้อกังวลเมื่อผ่อนคลายกิจกรรมกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะเปิดให้รับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านได้ จะทำให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นนั้น เมื่อมีการถอดหน้ากากความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น ถ้ามีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย อาจเกิดความครึกครื้น มีการพูดจาสังสรรค์มากขึ้น ขาดสติ จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ การเคร่งครัดการป้องกันตนเองจะลดลง ทำให้ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิดได้ จึงขอให้บริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ส่วนร้านอาหารที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องควบคุมกำกับ ถ้าปฏิบัติได้ทั้ง 2 ส่วน ก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะรับและแพร่เชื้อโควิดได้
เตือน ปชช.คงเข้มมาตรการ ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงกรณีเปิดเมือง เปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ว่า สธ.ได้เน้น 4 หลักสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ และประชาชนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแบบวิถีใหม่ ได้แก่ 1) การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้ตามเป้าหมาย 2) การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา 3) กิจการกิจกรรมเข้มมาตรการ COVID Free Setting และ 4) การตรวจหาเชื้อเมื่อมีความเสี่ยงด้วย ATK
จากผลสำรวจของอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1-31 ต.ค. 2564 รายงานว่า ประชาชนในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัดท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ได้น้อยที่สุดในเรื่องสวมหน้ากากเมื่ออยู่กับผู้อื่นในบ้าน โดยพบเพียง 53.9% เป็นความเสี่ยงในการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19 จึงเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังตนและปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention รวมถึงให้ตระหนักว่า เราทุกคนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมทั้งเข้มงวดกับ พฤติกรรมของตนเอง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ของสถานประกอบการในพื้นที่ใน 17 จังหวัดท่องเที่ยว พบว่า ผ่านการประเมินจำนวน 3,068 แห่ง จากที่ลงทะเบียนทั้งหมด 3,192 แห่ง คิดเป็น 96% โดยพบว่า สถานประกอบการที่เข้ารับการประเมินมากที่สุด คือ ร้านอาหาร สปา นวดเพื่อสุขภาพ และห้างสรรพสินค้า ตามลำดับ
สำหรับมาตรการที่มักไม่ผ่าน ได้แก่ การฉีดวัคซีนของพนักงาน การจัดอุปกรณ์ป้องกันโรคที่เพียงพอ เช่น เจลแอลกอฮอล์ การแยกสำรับของศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า การควบคุมกำกับติดตาม การคัดกรองความเสี่ยง และระบบกรองอากาศเฉพาะที่ ในส่วนของสถานประกอบการที่ยังไม่ได้ประเมินตามมาตรการ COVID Free Setting สามารถประเมินตนเองได้โดยผ่านช่องทางเว็บไซต์ stopcovid.anamai.moph.go.th โดยทุกสถานประกอบการที่ประเมินผ่าน สามารถพิมพ์ใบรับรองผล เพื่อติดไว้หน้าร้านแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่
1) ใบรับรอง Thai Stop COVID Plus (TSC+) ซึ่งสถานประกอบการทุกแห่งในทุกจังหวัด ต้องประเมินตนเองตามมาตรการ TSC+
2) ใบรับรอง COVID Free Setting (CFS หรือ TSC2+) เฉพาะจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศ หรือจังหวัดที่จะนำเอามาตรการไปปรับใช้ โดยให้ สถานประกอบการเลือกประเมิน COVID Free Setting ควรผ่านการประเมิน TSC+ เพื่อสามารถประเมิน COVID Free Setting ต่อไป
3) สติ๊กเกอร์ COVID Free Setting ประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนด โดยมีการแจ้งความประสงค์ จากสถานประกอบการ
สำหรับช่องทางภาคประชาชนเพื่อประเมินสถานประกอบการ สามารถดำเนินการใน 3 ช่องทาง คือ ช่องทางที่ 1 สแกน QR Code ใน E-Certificate ของสถานประกอบการที่ไปใช้บริการ ช่องทางที่ 2 ประเมินผ่านทางเว็บไซต์ Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย และ ช่องทางที่ 3 ประเมินผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ผู้พิทักษ์อนามัย COVID watch'
ทั้งนี้ กรมอนามัยคงเน้นย้ำให้ทุกคนการ์ดไม่ตก ปฏิบัติตามมาตรการ UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งร่วมเป็นหู เป็นตา โดยประเมิน แนะนำ ติชม และร้องเรียนสถานประกอบการ ให้ปฏิบัติได้ตามมาตรการ COVID Free Setting ได้ตามช่องทางที่กำหนด เพื่อให้การเปิดเมือง เปิดประเทศครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage