‘กสทช.’ เผยครึ่งแรกปี 64 พบ 5 อุตสาหกรรมทุ่มงบโฆษณาเพิ่ม รับ ‘work from home’ เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ โตมากสุด 58% ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาผ่าน 'สื่อ' โต 8% สื่อโทรทัศน์ครอบส่วนแบ่ง 59.84% ด้าน ‘สื่อดิจิทัล-อินเตอร์เน็ต’ รายได้เพิ่ม 20%
............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยแพร่บทวิเคราะห์ ‘งบโฆษณาครึ่งแรกปี 2564 ยุคโควิด-19’ โดยระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ลดค่าใช้จ่ายโฆษณาลง แต่พบว่ามีบางอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาเพิ่มขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายโฆษณาเพิ่มขึ้น 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 58% โดยมีมูลค่าโฆษณา 1,706 ล้านบาท ,อันดับ 2 อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 31% โดยมีมูลค่าโฆษณา 9,378 ล้านบาท ,อันดับ 3 ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน เพิ่มขึ้น 21% โดยมีมูลค่าโฆษณา 2,255 ล้านบาท อันดับ 4 ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวและเครื่องสำอาง เพิ่มขึ้น 18% โดยมีมูลค่าโฆษณา 7,871 ล้านบาท และอันดับ 5 ยานยนต์ เพิ่มขึ้น 1% โดยมีมูลค่าโฆษณา 3,115 ล้านบาท
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายโฆษณาลดลง 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 การท่องเที่ยว ลดลง 59% โดยมีมูลค่าโฆษณา 529 ล้านบาท ,อันดับ 2 หน่วยงานราชการหรือภาครัฐ ลดลง 24% โดยมีมูลค่าโฆษณา 1,227 ล้านบาท ,อันดับ 3 การเงินการธนาคาร ลดลง 15% โดยมีมูลค่าโฆษณา 1,889 ล้านบาท ,อันดับ 4 อสังหาริมทรัพย์ ลดลง 13% โดยมีมูลค่าโฆษณา 539 ล้านบาท และอันดับ 5 โทรคนาคม ลดลง 10% โดยมีมูลค่าโฆษณา 1,975 ล้านบาท
“กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายโฆษณาเพิ่มขึ้นนั้น ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต โดยรวมไปถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในความเป็นอยู่และการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนต้องทำงานที่บ้าน (work from home) มากขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” บทวิเคราะห์งบโฆษณาครึ่งแรกปี 2564 ยุคโควิด-19 ระบุ
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลของบริษัทผู้โฆษณา (Advertiser) พบว่า บริษัทที่มีค่าใช้จ่ายโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรก ในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.2564 ได้แก่ อันดับ 1 ยูนิลีเวอร์ (Unilever) ,อันดับ 2 เนสท์เล่ (Nestle) ,อันดับ P&G ,อันดับ 4 Mass Marketing และอันดับ 5 29 Shopping โดยบริษัทดังกล่าวล้วนมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของใช้ภายในครัวเรือน และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20%
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลค่าใช้จ่ายโฆษณาเฉพาะอุตสาหกรรมสื่อ พบว่า ค่าใช้จ่ายโฆษณาในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเดือน มิ.ย.2564 ค่าใช้จ่ายโฆษณาปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สื่อโทรทัศน์ยังคงครองมูลค่าแบ่งค่าใช้จ่ายโฆษณาสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 คิดเป็น 59.84% จากมูลค่าโฆษณาของอุตสาหกรรมสื่อทั้งหมด 32,097 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการที่ประชุมทำงานที่บ้านกันมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการเดินทางหรือใช้ยานยนต์สาธารณะลดลง ในขณะที่การจับจ่ายใช้สอยผ่านเว็บไซต์หรืออินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สื่อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ สื่อโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นผลจากการปิดห้างสรรพสินค้า
ส่วนสื่ออื่นๆที่ได้รับผลกระทบในทางลบเช่นกัน ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อภายนอกอาคารและยานพาหนะ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีมูลค่าโฆษณาลดลง 13% หรือมีมูลค่าโฆษณาอยู๋ที่ 1,528 ล้านบาท ในขณะที่สื่อที่ได้รับผลกระทบทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ คือ สื่อดิจิทัลและสื่ออินเตอร์เน็ตที่ได้รับค่าใช้จ่ายโฆษณาเพิ่มขึ้น 20% โดยมีมูลค่าค่าใช้จ่ายโฆษณาอยู่ที่ 11,400 ล้านบาท
“ท่ามกลางการลดค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาของอุตสาหกรรมต่างๆในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 กลับพบว่า ค่าใช้จ่าด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัวและเครื่องสำอาง ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีทิศทางที่สวนทางกัน นอกจากนี้ ยังพบว่างบโฆษณาที่จัดสรรลงในสื่อประเภทต่างๆนั้น มีการเติบโตสูงสุดในสื่อดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนในยุคที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น” บทวิเคราะห์ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/