สธ.เผยแผนเผชิญเหตุ พร้อมชะลอ-ยุติรับนักท่องเที่ยว หากเกิดการระบาดหนักหลังเปิดเทศ พร้อมเผยระบบสุขภาพในพื้นที่นำร่อง โดยรวมมีความพร้อม ฉีดวัคซีนได้มาก มีอัตราครองเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง-เหลือง อยู่ที่ 20-30%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2564 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้ตรวจราชการสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5,6,8,9,11 แถลงถึงความพร้อมรองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการความพร้อมด้านสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงภาคประชาชนและผู้ประกอบการ โดยดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด
สำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. จะจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รูปแบบการกักกันตัว Quarantine Facilities (AQ,OQ,AHQ,SQ), พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว Sandbox Program และ Test to Go ไม่กักตัว สำหรับประเทศที่มาจากพื้นที่เสี่ยงต่ำ สามารถเดินทางได้ทุกพื้นที่
สำหรับ Quarantine Facilities (AQ,OQ,AHQ,SQ) สามารถเดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ โดยจะต้องกักตัวในสถานกักกันที่ราชการกำหนด มีหลักฐานการจ่ายค่าที่พัก สถานที่กักกันที่ราชการกำหนดจำนวน 7,10,14 วัน มีประกันสุขภาพในวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT-PCR ก่อนการเดินทาง 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจเชื้อโควิดซ้ำ ด้วยวิธี RT-PCR อีก 2 ครั้ง ในวันที่เดินทางมาถึงและวันที่ 6-7 หรือ 8-9
สำหรับ Sandbox Program สามารถเดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ โดยจะต้องอยู่ในพื้นที่ Sandbox เป็นเวลา 7 วัน ได้รับวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 14 วัน ก่อนเดินทาง ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มากับผู้ปกครอง มีหลักฐานการจ่ายค่าที่พัก SHA+ ในพื้นที่ sandbox จำนวน 7 วัน มีประกันสุขภาพในวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ออกใน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง ทั้งนี้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจเชื้อโควิดซ้ำ ครั้งแรกตรวจด้วยวิธี RT-PCR และครั้งที่สองตรวจด้วย ATK เมื่อมีอาการหรือในวันที่ 6-7
สำหรับ Test to Go จะต้องเดินทางมาจากประเทศที่กำหนด ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ 46 ประเทศ ซึ่งพำนักในประเทศที่กำหนดมากกว่า 21 วัน ก่อนการเดินทาง ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องรอผลตรวจ PT-PCR ใน AQ หรือ SHA+ ที่มี รพ. คู่ปฏิบัติการ ได้รับวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 14 วัน ก่อนเดินทาง ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่มากับผู้ปกครอง มีหลักฐานการจ่ายค่าที่พัก SHA+ หรือ AQ จำนวน 1 วัน มีประกันสุขภาพในวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT-PCR ออกใน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง ทั้งนี้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจเชื้อโควิดซ้ำ ครั้งแรกตรวจด้วยวิธี RT-PCR และครั้งที่สองตรวจด้วย ATK เมื่อมีอาการหรือในวันที่ 6-7
ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดประเทศ หากเกิดการระบาดเพิ่มขึ้นตามข้อกำหนดต่อไปนี้ จะพร้อมชะลอหรือยุติกิจกรรม เช่น 1.) จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 15 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อสัปดาห์ 2.) มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ 80% ขึ้นไป 4.) พบเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้างควบคุมไม่ได้ และ 5.) หากเกิดเหตุการณ์กรณีอื่น ๆ จะให้เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด โดยอาจปรับหรือลดกิจกรรม ลดจำนวนเส้นทางท่องเที่ยว ถ้ารุนแรงมากจะยุตินักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่
ส่วนสถานการณ์เตียงล่าสุดในพื้นที่ 17 จังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า จากการประเมินรายจังหวัดพบว่าทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมอย่างดี และมีเตียงเพียงพอ รวมทั้งภาพรวมการติดเชื้อภายในประเทศขณะนี้ลดลง นอกจากเตียงหลักแล้วยังสามารถเพิ่มเตียงจากพื้นที่ใกล้เคียงและ Hospitel ด้วย จำนวนเตียงยังคงมีเพียงพอ
“ยืนยันได้ว่า 17 จังหวัดที่เตรียมจะเปิดนำร่องรับนักท่องเที่ยวนั้น ระบบสุขภาพโดยรวมทั้งหมด โดยตอนนี้ครองเตียงเหลือง-แดง อยู่ที่ 20-30% เรื่องห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อ มีความสามารถตรวจได้ 1.2 แสนตัวอย่างต่อวัน เรื่องการควบคุมโรค เรื่องระบบการติดตาม และรายงานผลมีความพร้อม” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.ธเรศ กล่าวย้ำอีกว่า การเปิดประเทศเป็นการมองถึงความสมดุลในเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปอย่างรัดกุม อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าความพร้อมด้านระบบสุขภาพของประเทศไทยขณะนี้มีความพร้อมมาก รวมทั้งยังอยากให้ประชาชนรักษามาตรการดูแลตัวเองต่อไป
ด้าน นางอมรรัตน์ ลิ้มจิตสมบูรณ์ หัวหน้ากลุ่มตรวจราชการ เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า เขต 5 มีพื้นที่สำคัญในการเปิดประเทศ คือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีน แบ่งเป็น เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 57.64% เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 43.50% และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีน แบ่งเป็น เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 103.79% เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 84.83%
ส่วนการเตรียมความพร้อมกรณีเกิดการระบาด ได้แก่ มีสถานพยาบาลของรัฐ ที่จะดูแลเบื้องต้น คือโรงพยาบาลชะอำ มีเตียง 39 เตียง อ.หัวหิน 566 เตียง และมีสถานที่กักกันตัวบุคคลเสี่ยง จำนวน 4 แห่ง รวม 536 เตียง
ขณะที่ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า เขต 6 มีอยู่ด้วยกัน 8 จังหวัด ซึ่งมีพื้นที่สำคัญในการเปิดประเทศ คือ สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ , เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ (ต.บางเสร่และต.นาจอมเทียน) จ.ชลบุรี โดย จ.ชลบุรี มีฮอสพิเทล 37 แห่ง มีเตียงสีแดง 200 เตียง สีเหลือง 1,500 เตียง และสีเขียว 10,000 เตียง ส่วนความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนประชากรรวมประชากรแฝงในพื้นที่ แบ่งเป็น เข็ม 1 ฉีดแล้ว 77.7% และเข็ม 2 ฉีดแล้ว 65.6%, เกาะเสม็ด จ.ระยอง มีความพร้อมทรัพยากรเตียง โรงพยาบาลรัฐ 397 เตียง โรงพยาบาลเอกชน 246 เตียง รวม 643 เตียง ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน แบ่งเป็น เข็ม 1 ฉีดแล้ว 100 % และเข็ม 2 ฉีดแล้ว 95.12 %, เกาะช้าง จ.ตราด มี โรงพยาบาลรัฐและเอกชนรวม 1,837 เตียง ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน แบ่งเป็น เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 67.72% และเข็ม 2 ฉีดแล้ว 58.31%
นางสิริพรรณ โชติกมาศ ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า เขต 8 มีพื้นที่สำคัญในการเปิดประเทศ ได้แก่ อ.เชียงคาน จ.เลย อ.เมือง อ.ท่าบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ อ.สังคม จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี โดยภาพรวมมีความพร้อม และในกรณีที่จะชะลอหรือยุติ คือ มีผู้ติดเชื้อครองเตียงที่เตรียมไว้รับผู้ป่วยโควิดตั้งแต่ 80% ขึ้นไป ของโรงพยาบาลคู่สัญญาและโรงพยาบาลในจังหวัด พบเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้างควบคุมไม่ได้ภายใน 28 วัน เกิน 5 คลัสเตอร์ขึ้นไปในพื้นที่ที่ทำโครงการ และหากเกิดเหตุการณ์กรณีอื่นๆ ให้เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
นางจุฑารัตน์ มากคงแก้ว ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า เขต 8 มีพื้นที่สำคัญในการเปิดประเทศ คือ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งผลการประเมินความพร้อม พบว่า อัตราความครอบคลุมการฉีดวัคซีน แบ่งเป็น เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 59.04% เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 40.05% มีคะแนนรวมจากการประเมินตนเอง 100 % อัตราการครองเตียงของโรงพยาบาล มีเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงและสีเหลือง 29.63% และอัตราการติดเชื้อรายวัน 1.97 ต่อแสนประชากร หรือ 20-40 รายต่อวัน
ทั้งนี้ นางกองมณี สุรวงษ์สิน ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า เขต 11 มีพื้นที่สำคัญในการเปิดประเทศ คือ เกาะพยาม จ.ระนอง ซึ่งจังหวัดนี้มีจำนวนเตียงทั้งหมด 4,268 เตียง เป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง 41 เตียง สีเหลือง 222 เตียง และสีเขียว 3,829 เตียง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage