สธ.ห่วงคลัสเตอร์งานศพติดเชื้อแล้ว 747 ราย กระจายหลายจังหวัดทั่วประเทศ เตือนการ์ดอย่าตก เผยไทยพบเดลต้าพลัส AY.4.2 แล้ว 1 ราย เบื้องต้นรักษาหายแล้ว สุ่มตรวจไม่พบผู้เกี่ยวโยง ยันไม่น่าห่วง องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ยกระดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 9,589 ราย ผู้ติดเชื้อใหม่ 8,675 ราย เสียชีวิต 44 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรังถึง 95% ขอให้กลุ่มดังกล่าวเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดป่วยหนักและเสียชีวิต
ขณะที่ การติดเชื้อในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลลดลงสอดคล้องกับภาพรรวมประเทศ ส่วนพื้นที่ชายแดนใต้ยังมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 23% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทั้งนี้ สธ.ได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เร่งรัดการฉีดวัคซีน จัดทีมเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อแยกผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เข้าสู่ระบบรักษา และเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำศาสนาและประชาชนเป็นอย่างดี
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 24 ต.ค. 2564 สะสม 70,505,802 โดส ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 39,999,692 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 28,372,531 ราย เข็ม 3 จำนวน 2,133,579 ราย เฉพาะวันที่ 24 ตุลาคม ฉีดได้เพิ่ม 226,178 โดส การฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ภาพรวมอยู่ที่ 76.2% โดย กทม.ฉีดได้เกิน 100% รองลงมาคือภูเก็ต 82.7% ชลบุรี 79.3% สมุทรปราการ 72.4% ส่วนจังหวัดอื่นๆ เกิน 50% สำหรับการฉีดวัคซีนนักเรียนขณะนี้ได้ฉีดไปแล้ว 1,605,391 ราย หากผู้ปกครองประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนเพิ่มเติมขอให้ติดต่อที่โรงเรียนเพื่อรวบรวมรายชื่อรับการจัดสรรวัคซีนต่อไป
คลัสเตอร์งานศพทั่วประเทศ ติดเชื้อแล้ว 747 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า กรณีการติดเชื้อในการร่วมกิจกรรมงานศพนั้น ทางกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เชิงรุก ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 19 ต.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อ 747 ราย จากคลัสเตอร์ต่างๆ ทั้งขอนแก่น มีสะสม 4 คลัสเตอร์ ที่จบแล้ว 1 คลัสเตอร์ ชัยภูมิ 3 คลัสเตอร์ นครศรีธรรมราข 3 คลัสเตอร์ อุดรธานี 3 คลัสเตอร์ และจันทบุรี 2 คลัสเตอร์ โดยจำนวนติดเชื้อกระจายในหลายจังหวัด เช่น จันทบุรี มีผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับงานศพ 153 ราย, อุบลราชธานี 119 ราย,ปราจีนบุรี 79 ราย, อุดรธานี 72 ราย, สระแก้ว 39 ราย เป็นต้น
“กิจกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้องานศพ ได้แก่ 1.การรับประทานอาหารรวมกัน 2.บางพื้นที่ดื่มสุรา วนแก้วหลายคน 3.สวมหน้ากากอนามัยผิดวิธีหรือไม่สวม 4.เล่นพนัน 5.ผู้ที่มาร่วมงานพักค้างแรมกับบ้านเจ้าภาพ และ 6.ผู้ที่มีอาหารป่วยแต่ไม่ได้คัดกรองแล้วเข้าร่วมงาน สิ่งแหล่านี้ ต้องใช้ความร่วมมือกัน ตัวท่านเองหากต้องไปร่วมงานต้องไม่มีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ควรจะแจ้งเจ้าภาพว่า ไม่สบาย ขอไม่ไป เพราะโควิดอาจมีอาการน้อยมากๆ ส่วนการจัดอาหารในงานศพ หากสามารถจัดอาหารให้หิ้วกลับบ้านไปได้จะดีที่สุด” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ไทยพบติดเชื้อเดลต้าพลัสแล้ว 1 ราย
ส่วนข้อกังวลถึงกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า พลัส นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วนกรณีสายพันธุ์ AY.4.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดลต้า โดยในช่วง 28 วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้ในอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นรองเฉพาะประเทศอเมริกาที่เดียว และพบสายพันธุ์นี้ 6% ของจำนวนผู้เติดเชื้อในภาพรวมของอังกฤษ ซึ่งเดลตาเดิมยังเป็นสายพันธุ์หลัก
"สายพันธุ์ย่อยนี้อยู่ในช่วงจับตามอง แต่ยังไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องความรุนแรงกว่าปกติ หรือมีโอกาสดื้อยา ดื้อวัคซีนหรือไม่ อยู่ระหว่างจับตามองและหารายละเอียด เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา และเดลตาที่ผ่านมา ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วชัดเจน จะเห็นลูกคลื่นการระบาดที่เร็วและแรงมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศมองว่าเป็นการให้ความสำคัญของประเทศอังกฤษในการจับตามอง ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ยกระดับ" นพ.เฉวตสรร กล่าว
สำหรับประเทศไทย มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์และสายพันธุ์ย่อยต่างๆอย่างต่อเนื่องและเมื่อตรวจสอบดูพบรายงานของเดลตาพลัสเพียง 1 ราย และไม่มีรายอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยเป็นชายอายุ 49 ปี ประวัติทำงานที่บางไทร จ.อยุธยา มีการส่งตัวอย่างที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทหาร กองทัพบก (AFRIMS) พบสายพันธุ์AY.4.2 เป็นการตรวจพบตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ป่วยได้รักษาหายแล้ว และมีการสุ่มตรวจรายอื่นๆยังไม่พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายนี้ อีกทั้งสุ่มตรวจเป็นระยะๆยังไม่พบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น และประวัติรายนี้ไม่พบว่ามีการเดินทางไปสถานที่เสี่ยงหรือไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความน่ากังวลของสายพันธุ์นี้ ที่คาดการณ์น่าจะมีการติดเชื้อที่ง่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดลตาเดิม โดยในวันที่ 26 ต.ค. 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะแลถงเป็นทางการอีกครั้ง
นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่น้ำหลากอาจพบการติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนจากการเล่นน้ำ เนื่องจากมีการใกล้ชิด พูดคุย สัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือติดจากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อแต่มีอาการน้อยและนำไปแพร่โรคได้ ซึ่งกรณีการติดเชื้อจากการเล่นน้ำท่วมจากเดิมพบ 52 ราย ก็เพิ่มถึง 109 ราย ว่า การเล่นน้ำในช่วงน้ำหลากหรือมีอุทกภัย ต้องระมัดระวังทั้งการพลัดตก จมน้ำ แม้ระดับน้ำไม่ลึก แต่ไหลแรงก็อันตรายถึงชีวิตได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage