CNN รายงานข่าวเชิงสืบสวน ตีแผ่บริษัทในไทยใช้ประโยชน์ช่วงโควิดระบาด รีไซเคิลถุงมือยางใช้แล้ว ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ หลายสิบล้านชิ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2564 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานข่าวเชิงสืบสวนระบุว่า พบถุงมือแพทย์ที่สกปรกและผ่านการใช้แล้วนำเข้าจากประเทศไทยมายังสหรัฐอเมริกา เป็นจำนวน 10 ล้านชิ้น
ถุงมือยางไนไตรนี้มาจากโกดังแห่งหนึ่งในเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยได้บุกตรวจค้นในโรงงานดังกล่าว เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา พบแรงงานข้ามชาติพยายามนำถุงมือการแพทย์ที่ใช้แล้ว กลับมาย้อมสีน้ำเงิน พยายามทำให้ถุงมือดูใหม่อีกครั้ง
จากการตรวจสอบของซีเอ็นเอ็นมานานหลายเดือน ยังพบอีกว่าจำนวนดังกล่าว เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ยังมีโกดังอีกจำนวนมากที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ในประเทศไทย เพื่อหาเงินจากความต้องการถุงมือการแพทย์ และส่งออกถุงมือที่ต่ำกว่ามาตรฐานจำนวนหลายล้านชิ้น ไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนถุงมือแพทย์ทั่วโลกซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะคลี่คลาย และขณะนี้เจ้าหน้าที่ในสหรัฐอเมริกาและไทยกำลังดำเนินการสอบสวนทางอาญา
บรรดาผู้เชี่ยวชาญบรรยายถึงอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยการฉ้อโกง หนึ่งในนั้น คือ Douglas Stein ซึ่งกล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า ถุงมือไนไตรล์เป็นสินค้าที่อันตรายที่สุดในโลกขณะนี้
"ถุงมือสกปรก มือสอง และคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน หลั่งไหลเข้ามาในสหรัฐอเมริกาอย่างไม่รู้จบ ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเพิ่งจะเริ่มรู้จำนวนถุงมือขนาดมหึมานี้เท่านั้น" Douglas Stein กล่าว
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย แต่เนื่องจากมีความต้องการถุงมือการแพย์สูงและจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน ทำให้หลายประเทศพากันระงับกฎเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพตามปกติ เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาก็ระงับใช้อยู่จนถึงขณะนี้ กลายเป็นช่องโหว่ให้อาชญากรใช้ประโยชน์
เมื่อเดือน ก.พ. และ มี.ค.2564 บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้เตือน 2 หน่วยงานรัฐบาลกลางในประเทศ คือ กรมศุลกากรและปกป้องชายแดน (CBP) และองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) ว่า ได้รับสินค้าเป็นถุงมือที่สกปรกและคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย และบริษัทดังกล่าวยังจัดส่งถุงมืออีก 10 ล้านชิ้นในเดือนถัดๆ ไป โดยถุงมือบางชิ้นมาถึงไม่นานนี้ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.2564
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า FDA แจ้งว่า ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในแต่ละกรณีได้ แต่ได้ดำเนินการหลายขั้นตอนในการค้นหาและยุติการขายสินค้าไม่ผ่านการรับรอง โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของ FDA ในการสอบสวน ตรวจสอบ และทบทวนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทั้งที่ค้าชายแดนและค้าภายในประเทศ
ภาพ : ถุงมือยางที่พบในโกดัง Paddy the Room
ความต้องการพุ่งสูง
เมื่อต้นปี 2563 ความต้องการอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) พุ่งสูงทะลุเพดาน เนื่องจากเชื้อโควิดระบาดทั่วโลก และราคาถุงมือยางไนไตรอยู่ในระดับสูง แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มักใช้ถุงมือยางไนไตรเกรดทางการแพทย์ในการตรวจผู้ป่วย เพราะ FDA ห้ามใช้ถุงมือยางมีแป้งในการตรวจผู้ป่วย
ถุงมือยางที่ผลิตขึ้นเกือบทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกต้องอาศัยหลายปัจจัย ทั้งยางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด โรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง และความเชี่ยวชาญเฉพาะการผลิต ทำให้การเพิ่มอุปทานนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
รัฐบาลและระบบโรงพยาบาลต่างๆ ต่างแย่งชิงกันเพื่อได้สิ่งที่ต้องการ และบริษัทน่าสงสัยหลาย 10 แห่งที่ต้องการสร้างผลกำไรอย่างรวดเร็ว ก็มองเห็นโอกาสนี้
เมื่อปลายปีที่แล้ว Tarek Kirschen นักธุรกิจในไมอามี สั่งถุงมือที่มีมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 66.7 ล้านบาท จากบริษัทในไทยที่มีชื่อว่า Paddy the Room ซึ่งเขาขายให้กับ Tarek Kirschen หรือผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาเขาเริ่มได้รับโทรศัพทหลายสายจากลูกค้าที่ไม่พอใจอย่างมาก และได้เห็นสินค้าด้วยตัวเอง เมื่อคอนเทนเนอร์ตู้ที่ 2 มาถึงไมอามี
"ถุงมือเหล่านี้เป็นถุงมือที่ผ่านการใช้แล้ว ซึ่งถูกล้างและรีไซเคิล ถุงมือบางชิ้นสกปรก มีคราบเลือด และมีประทับวันที่ผลิตเมื่อ 2 ปีก่อน ผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเลย” Tarek Kirschen กล่าว
หลังจากนั้น Tarek Kirschen จึงคืนเงินแก่ลูกค้าและนำถุงมือไปทิ้งในหลุมฝังกลบ จากนั้นแจ้งเตือน FDA ในเดือน ก.พ.2564 แม้ว่าตัวเองจะบอกว่าถุงมือที่สั่งมาไม่ได้นำไปใช้ในสถานพยาบาล แต่ซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์บันทึกข้อมูลการนำเข้าพบว่า ผู้จัดจำหน่ายแห่งอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาซื้อถุงมือมาเกือบ 200 ล้านชิ้นจาก Paddy the Room ในช่วงการระบาดใหญ่
ยังไม่มีความชัดเจนว่าถุงมือเหล่านั้นนำไปใช้อะไรบ้างหลังนำเข้าประเทศ ซีเอ็นเอ็นพยายามติดต่อผู้นำเข้าทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ให้คำตอบ แต่ผู้นำเข้า 2 แห่งบอกว่า สินค้าไม่ได้มาตรฐานและถุงมือนั้นไม่ใช่ถุงมือไนไตร
บริษัทแรกคือ Uweport กล่าวว่า ไม่สามารถขายถุงมือแก่บริษัททางการแพทย์ได้ตามแผนที่วางไว้ ทำให้ต้องขายในราคาต่ำกว่าแก่ผู้จัดจำหน่ายที่จัดส่งโรงงานแปรรูปอาหาร โรงแรม และร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา
อีกบริษัทคือ US Liberty LLC มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน กล่าวอีกว่า ถูกบริษัทเวียดนามอีกแห่งหนึ่งฉ้อโกงโดยส่งถุงมือมีรู คราบ รอยขาด และสีต่างกัน
ด้าน Douglas Stein ซึ่งสั่งซื้อชุด PPE จากเอเชียมาหลาย 10 ปี ติดตามการฉ้อโกงและการหลอกหลวงนับไม่ถ้วนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เริ่มการระบาดใหญ่ ยังกล่าวว่า เป็นความเชื่อมโยงในห่วงโซ่ที่เลวร้าย
นอกจากนั้น Louis Ziskin เจ้าของบริษัทแอร์ควีน (AirQueen) ในลอสแองเจลิสของสหรัฐ เป็นอีกคนหนึ่งที่ซื้อถุงมือจาก Paddy the Room มูลค่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 90 ล้านบาท ผ่านบุคคลที่สามที่อยู่ในเอเชียเช่นกัน และทั้งหมดจ่ายล่วงหน้า 100%
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบอิสระที่โกดังในลอสแองเจลิสยืนยันว่า ถุงมือส่วนใหญ่ที่ Louis Ziskin สั่งซื้อ ไม่ใช่ถุงมือไนไตร แต่เป็นถุงมือไวนิลเกรดต่ำ หลายชิ้นสกปรกมากและเป็นของมือสอง
Louis Ziskin กล่าวว่า Paddy the Room ส่งรายงานการตรวจสอบอิสระฉบับแรกเริ่มมาให้ อ้างว่าสินค้ามีคุณภาพสูง แต่เมื่อบริษัทตรวจสอบรายงานดังกล่าว ยืนยันกับซีเอ็นเอ็นว่า รายงานดังกล่าวเป็นของปลอม
Louis Ziskin เหมือนกับ Tarek Kirschen ได้แจ้งเตือนไปถึงทางการสหรัฐอเมริกาไม่นานหลังได้รับถุงมือคุณภาพแย่เมื่อต้นปี 2564 โดยติดต่อทั้ง FDA และ CBP อย่างไรก็ตามบันทึกการนำเข้าสินค้าแสดงว่า คำเตือนดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ได้ตอบสนอง เพราะตั้งแต่ Louis Ziskin เขียนคำเตือนถึง CBP เมื่อเดือน ก.พ.2564 แต่ Paddy the Room ยังส่งคอนเทนเนอร์ 28 ตู้ ที่มีถุงมือมากกว่า 80 ล้านชิ้นเข้ามาอีกในสหรัฐอเมริกา
โดย Louis Ziskin ได้รับถุงมือปลอมแบรนด์ที่มีชื่อว่า 'ศรีตรัง' หลายพันกล่องจากการสั่งซื้อจาก Paddy the Room ซึ่ง Douglas Stein ผู้เชี่ยวชาญ PPE อธิบายว่า ถุงมือนำเข้ามาสหรัฐจะไม่มีการบรรจุในกล่องที่มีฉลากภาษาต่างประเทศ นั่นเป็นพิรุธเพียงอย่างเดียวที่นำไปสู่การแจ้งเตือนหน่วยงานรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม Louis Ziskin ตัดสินใจมาประเทศไทยเพื่อพยายามทวงความเสียหาย 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทุกอย่างผิดคาด เมื่อ Louis Ziskin พร้อมอีกหลายคนถูกจับและตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายและลักพาตัว หลังเผชิญหน้ากันในร้านอาหารแห่งหนึ่งใน กทม.
Louis Ziskin กล่าวว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในร้านอาหารดังกล่าว และปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างหนักแน่น แต่ต่อมาหลังตำรวจไทยส่งหลักฐานในคดีดังกล่าวไม่ทันเส้นตาย Louis Ziskin จึงได้รับอนุญาตออกนอกประเทศและเดินทางกลับบ้านไปลอสแองเจลิสได้ ขณะที่ตำรวจไทยบอกซีเอ็นเอ็นว่า การสอบสวนคดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด ส่วนคนอื่นในคดีนี้ยังถูกพิจารณาคดีในประเทศไทย แต่ทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา
กระทั่งวันที่ 27 ก.ค.2564 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) ของสหรัฐเคลียร์โกดังในลอสแองเจลิสของ Louis Ziskin โดยยึดถุงมือ 70,000 กล่อง เพื่อเป็นหลักฐานในการสอบสวน Paddy the Room ซึ่งการเคลียร์โกดังเกิดขึ้นประมาณ 5 เดือนหลังนายซิสกินออกมาเตือนครั้งแรก
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีถุงมือไนไตรคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานอีกกี่ล้านชิ้นตามโกดังต่างๆ ที่ท่าเรือของสหรัฐทั่วประเทศ
ภาพ : Louis Ziskin
ทั้งนี้ซีเอ็นเอ็นรายงานว่าถึงแถลงการณ์ของ FDA ด้วยว่า บริษัทต่างๆ ได้รับอนุญาตนำเข้าถุงมือภายใต้กฎที่ผ่อนคลาย ถุงมือหรือสิ่งของอื่นๆ ที่มาถึงท่าเรืออเมริกาจะมีการตรวจสอบเล็กน้อย และถุงมือแพทย์ปลอมหรือปนเปื้อนมักจะไม่ถูกค้นพบจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน ส.ค.2564 FDA ส่งการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ท่าเรือทั้งหมดว่า ควรกักกันสินค้าจาก Paddy the Room โดยไม่ต้องตรวจสอบทางกายภาพ แต่การแจ้งเตือนนั้น เกิดขึ้นหลังการแจ้งเตือนของ Louis Ziskin และ Tarek Kirschen ผ่านมาแล้ว 5 เดือน
แม้ว่า FDA จะไม่แสดงความคิดเห็นต่อการสอบสวน Paddy the Room แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) ของสหรัฐอเมริกายืนยันว่า มีการสอบสวนทางอาญาต่อบริษัทดังกล่าว
ขณะที่ CBP ก็ยึดหน้ากากอนามัยปลอม 40 ล้านชิ้น และอุปกรณ์ PPE อื่นนับ 100,000 รายการ โดยยึดสินค้าถุงมือบางส่วน แต่ไม่ได้ติดตามปริมาณการยึด
เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกาเปิดปฏิบัติการ 'Stolen Promise' เพื่อปราบปราม PPE ของปลอมโดยเฉพาะ ซึ่ง Mike Rose เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษสืบสวนของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตอนนี้ยึด PPE และอุปกรณ์การรักษาที่เกี่ยวข้องกับโควิดมากกว่า 200,000 ชิ้นแล้ว
ภาพ : การบุกตรวจค้นในโกดัง Paddy the Room
การบุกตรวจค้นใน กทม.
ขณะที่สำงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยพยายามติดตามปราบปรามการค้าถุงมือไนไตรล์ปลอมนี้ โดยบุกตรวจค้น Paddy the Room ครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.2563 พบถุงขยะกองโตเต็มไปด้วยถุงมือหลวมๆ หลากสี วัสดุ และคุณภาพแตกต่างกัน และแรงงานที่โกดังกำลังยัดถุงมือเก่าเข้าไปในกล่องถุงมือปลอมโดยใช้ยี่ห้อศรีตรัง ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมืออย่างถูกต้องตามกฎหมายที่รู้จักกันดีในประเทศไทย ขณะที่ศรีตรังชี้แจงว่าไม่ได้ทำธุรกิจกับ Paddy the Room
แม้ว่า อย.จะจับกุมเจ้าของโกดัง ซึ่งเป็นผู้เช่าชาวฮ่องกงได้ แต่ไม่สามารถตั้งข้อหาได้ นอกจากนี้การจับกุมดังกล่าวไม่ได้ทำให้ Paddy the Room หยุดขบวนการถุงมือปลอม
ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า เดือนต่อมา อย.บุกตรวจค้นสถานที่คล้ายคลึงกัน พบว่าพวกเขาเพิ่งย้ายไปที่อื่น ไปที่โกดังอื่น เพราะความต้องการถุงมือยังสูง และยังมีลูกค้ารออยู่ด้านนอก
ขณะที่ Paddy the Room และบริษัทหุ้นส่วนไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อซีเอ็นเอ็น
ภญ.สุภัทรา กล่าวอีกว่า การดำเนินการตรวจค้นอย่างน้อย 10 ครั้ง ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และการยึดถุงมือต่ำกว่ามาตรฐานและถุงมือใช้แล้วที่นำมาบรรจุใหม่ลงในกล่องถุงมือไนไตรล์ปลอม การตรวจค้นบางครั้งพบคนงานใช้มือซักถุงมือใช้แล้วในกะละมังและย้อมด้วยสีผสมอาหาร
ซึ่งคาดว่า ถุงมือใช้แล้วหลายชิ้นรวบรวมมาจากจีนหรืออินโดนีเซีย และส่งมาประเทศไทยเพื่อซัก ตากแห้ง และบรรจุใหม่ บางมีตากแห้งอาจช้าเกินไป จึงนำเข้าไปในเครื่องอบผ้า
"พูดง่ายๆ นี่คือการทุจริต ภายใต้สถานการณ์การระบาดที่มีความต้องการอย่างมากทั้งจากโรงพยาบาลและประชาชนทั่วไป เราพบถุงมือผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก" ภญ.สุภัทรา กล่าว
ภญ.สุภัทรา กล่าวด้วยว่า อย.คิดว่ามีเครือข่ายบุคคลและบริษัททุจริตในประเทศไทยที่ทำงานร่วมกันเพื่อทำกำไรจากถุงมือไนไตรที่มีความต้องการทั่วโลก หนึ่งในบริษัทเหล่านั้นคือ SkyMed ซึ่งเป็นแบรนด์ที่บริหารโดยอดีตนายทหารไทย และกล่องถุงมือที่มีฉลาก SkyMed ยังพบในการบุกตรวจค้น Paddy the Room ในเดือน ธ.ค.2563 ด้วย
ภญ.สุภัทรา กล่าวย้ำว่า SkyMed เป็นของปลอมแน่นอน บริษัทดังกล่าวมีใบอนุญาตนำเข้าถุงมือทางการแพทย์ที่ผลิตในเวียดนาม แต่บันทึกระบุว่า SkyMed ไม่เคยนำเข้าถุงมือทางการแพทย์มาประเทศไทย และบริษัทไม่ได้ผลิตถุงมือของตนเองด้วย
อย่างไรก็ตามซีเอ็นเอ็นพยายามติดต่อ SkyMed หลายครั้งเพื่อขอความคิดเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/