วงเสวนาถกปัญหาความรุนแรงทางเพศ ชี้ช่วงโควิดพุ่ง สวนทางการให้ความช่วยเหลือล่าช้า ประชาชนแห่ขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียล บางกรณีถูกเลื่อนพิจารณาคดีออกไปนาน 6 เดือน เผยปมนี้อาจทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น บางกรณีนำมาสู่การเสียชีวิตได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2564 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับ Friedrich-Ebert Stiftung Thailand จัดเสวนาออนไลน์เรื่องความรุนแรงทางเพศกับการเข้าถึงความยุติธรรมในช่วงโควิดผ่านทางระบบซูมและเฟซบุ๊ก Friedrich-Ebert Stiftung Thailand โดย นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ในช่วงที่โควิดระบาด ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันยาวนานขึ้น ประกอบกับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง เกิดความรุนแรงทั้งทางร่างกาย ความรุนแรงทางเพศ ปรากฏในพื้นที่สาธารณะ และออนไลน์ แต่ที่น่าห่วงคือสถานการณ์โควิดกลับทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยากขึ้นด้วย
ดังนั้น สค.จึงได้ปรับปรุงกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ตั้งแต่การรับแจ้งเหตุ การเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย การซักซ้อมแนวทางและกำชับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือทันทีโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหาย
นอกจากนั้นยังมีการเสริมพลัง Empowerment ฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหาย ประสานทีมสหวิชาชีพและภาคีเครือข่าย และส่งต่อตามสภาพความจำเป็นของปัญหา เช่น การให้บริการด้านกาย จิต สังคม กฎหมาย และการติดตามและประเมินผลต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการชดเชยเยียวยา เกิดกลไกศูนย์เรียนรู้อบรมทักษะอาชีพ มีทุนประกอบอาชีพ มีรายได้ ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นความรุนแรงในครอบครัวอย่านิ่งเฉย สามารถติดต่อสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอรับบริการให้คำปรึกษาด้านสตรีและครอบครัวโดยผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไลน์แอดแฟมิลี่ (@linefamily) และเว็บไซต์เพื่อนครอบครัว (www.เพื่อนครอบครัว.com)
พิษโควิดทำความรุนแรงทางเพศพุ่ง
นางอังคณา นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ความรุนแรงทางเพศมักเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างภัยธรรมชาติ ความขัดแย้ง และสงคราม รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งเกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศจากภาวะความเครียดและการต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันที่มากขึ้น แต่เรื่องนี้กลับถูกละเลยทางสังคม เพราะสังคมยังให้ความสนใจกับปัญหาทางสุขภาพเป็นสำคัญ และจากการเข้าไปสำรวจเว็บไซต์กาชาดสากล พบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้การถูกคุกคามทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีความสอดคล้องกันทั่วโลก มีรายงานว่าสายด่วนสำหรับการร้องเรียนการถูกคุกคามทางเพศ ได้รับเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 60-700% อย่างแอฟริกาใต้เอง ซึ่งเพิ่งล็อกดาวน์ไปเมื่อ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบคดีการสังหารผู้หญิงเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ หรือแม้แต่แคนาดาที่มีเครือข่ายความปลอดภัยในบ้าน สร้างบ้านพักเอาไว้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 550 หลัง ต้องรองรับผู้คนจำนวนมากภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังการประกาศล็อกดาวน์
"ในสถานการณ์โควิด หลายตกงาน ขาดแคลนรายได้ เกิดความเครียด ประกอบกับการต้องอยู่รวมกันภายในบ้าน ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามมากขึ้น มีเด็กหลายคนถูกคุกคาม ขณะที่ผู้หญิง เด็ก และโดยเฉพาะผู้พิการก็ตกยู่ในสภาพไร้อำนาจมากด้วย” น.ส.อังคณา กล่าว
นอกจากนี้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างการร้องเรียนการถูกคุกคามทางเพศ ในช่วงโควิดเองหลายโรงพักต้องปิดบ้าง หรือโรงพยาบาลก็ไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการถูกคุกคามทางเพศเข้าถึงการรักษา และบ้านพักฉุกเฉินก็ปิด
“ตอนนี้เรามองปัญหาสาธารณสุขเป็นหลัก ความรุนแรงทางเพศจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ครอบครัวจะต้องจัดการกันเอง บางเคสที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องขึ้นศาลก็ถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง ซึ่งในระหว่างที่รอการพิพากษา ผู้เสียหายเองก็ยังคงถูกคุกคามอยู่” น.ส.อังคณา กล่าว
นอกจากนี้ความรุนแรงทางเพศ ยังรวมถึง Online Harassment ด้วย ซึ่งปัญหานี้ยังคงไม่ได้รับการไขอย่างตรงจุด อย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็มุ่งเน้นการเอาผิดกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล หรือเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวควรมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตใครจะเป็นกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ควรมีการจัดทำงบประมาณเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรรีบเร่งปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พร้อมจัดตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเรียกร้องการถูกคุกคามทางเพศด้วย รวมถึงควรอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และระบบการรักษาที่รวดเร็ว และต้องสร้างความตระหนักรู้ในสังคม ให้ประชาชนสามรถส่งต่อเคสความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในชุมชนของตนเองได้
พนง.สอบสวนขาดความเข้าใจ
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวด้วยว่า ตลอด 30 ปีที่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ลดความรุนแรงเชิงโครงสร้างทั้งในกลุ่มสตรี เด็ก หรือกลุ่มความหลากหลายทางเพศ พบว่า พนักงานสอบสวนรุ่นใหม่หลายคนยังขาดความเข้าในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนคดีความรุนแรงทางเพศ
นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมของรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางเพศยังทำงานแยกส่วนกันเหมือนการแบ่งฝ่ายในบริษัท ประกอบกับในยุคสถานการณ์โควิดยิ่งทำให้กระบวนการทางกฎหมายล่าช้า ยุ่งยากในการเลื่อนนัดฟังคดี ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น บางกรณีนำมาสู่การเสียชีวิตได้
ที่สำคัญกฎหมายที่บังคับใช้ อย่างกรณีที่ต้องใช้พนักงานสอบสวนหญิงในการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีถูกกระทำชำเราที่มิใช่สามีภรรยากัน ซึ่งคดีแบบดังกล่าวยอมความไม่ได้ แต่หน่วยงานรัฐเองก็ยังมีการใช้พนักงานชายสอบสวน เพราะขาดแคลนพนักงานสอบสวนญิง หรือการให้ผู้เสียหายคดีถูกกระทำชำเราที่มิใช่สามีภรรยากันถอนฟ้อง ยอมรับเงินเยียวยา
คดีความรุนแรงทางเพศ สวนทางยอดฝากขัง
ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ประธานชมรมพนักงานสอบสวนหญิง กล่าวเพิ่มเติมว่า เห็นสอดคล้องกับ น.ส.สุเพ็ญศรีว่า พนักงานสอบสวนรุ่นใหม่ในปัจจุบันยังขาดความเข้าใจในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนคดีความรุนแรงทางเพศและยังขาดการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และที่สำคัญจากข้อมูลสถิติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อ 1 ต.ค.2563 - 31 ส.ค.2564 มีคดีเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและเพศ 14,024 ราย ซึ่งไม่ได้ลดน้อยลงจากปีอื่นๆ โดยค่าเฉลี่ยของประเทศแต่ละปีอยู่ที่ 10,000-12,000 ราย และในชุดข้อมูลล่าสุดเป็นคดีข่มขืนถึง 1,465 ราย แต่ข้อมูลผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวนการส่งตัวฝากขังปี 2562 มีจำนวนเพียง 1,977 ราย ซึ่งตัวเลขเหลือน้อยจากตัวเลขคดีที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นหลักหมื่นราย
ตรงนี้จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบถึงสาเหตุที่แน่ชัด ขณะเดียวกันอยากให้ตรวจสอบด้วยว่า เพราะกระบวนการตัดสินในคดีถูกกระทำชำเราแต่ขาดพยานหลักฐานเพราะเหตุการณ์แบบนี้มักเกิดในที่ลับ และมีเพียงพยานสภาพแวดล้อมเท่านั้น ทำให้เมื่อเข้าสู่ชั้นศาลผู้เสียหายถูกจำเลยฟ้องกลับ เป็นอีกปัจจัยหรือไม่ที่ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าฟ้องร้อง ตัวเลขผู้ถูกส่งตัวฝากขังจึงน้อยหรือไม่
กระบวนการช่วยเหลือล่าช้า ปชช.แห่ขอความช่วยเหลือทางโซเชียล
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวด้วยว่า มีข้อมูลทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ประเทศ 0.5% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายอย่างมหาศาล ซึ่งช่วงสถานการณ์โควิด ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกลไกการบริหารจัดการ กำลังคน เป็นไปด้วยความล่าช้าไม่ถูกคลี่คลาย จนนำไปสู่การถูกกระทำซ้ำ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีการขอความช่วยเหลือผ่านโซเซียลมีเดียเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะคนพึ่งระบบราชการไม่ได้ หรือหน่วยงานรัฐไม่ตอบสนองให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้องทันท่วงที ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับระบบเพื่อรองรับกับสถานการณ์ความรุนแรงในยุคโควิดให้มากกว่านี้
"สถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนี้ เรายังไม่นับคดีความอีกจำนวนมากที่ค้างอยู่และถูกเลื่อนออกไปให้ล่าช้าเลย เช่น คดีอาญาถูกเลื่อนออกไปนานกว่า 6 เดือน ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม กระทบต่อการบำบัดฟื้นฟูผู้เสียหาย แม้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพยายามใช้ระบบการรับคดีและการพิจารณาคดีแบบออนไลน์ เช่น ศาลยุติธรรม แต่บางหน่วยยังขาดระเบียบรองรับ ขาดทั้งเรื่องเทคโนโลยี กำลังคน และงบประมาณ ในท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นายณัฐวุฒิ กล่าว
กคส.เตรียมแผนลดขั้นตอน-เปิดช่องทางร้องเรียนออนไลน์
น.ส.จิฬาภรณ์ ตามชู กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงการทำงานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (กคส.) กระทรวงยุติธรรมว่า เราได้ให้ความช่วยเหลือทั้งหมด ทั้งในผู้ถูกกระทำชำเรา ผู้ถูกทำร้าย หรือผู้เสียชีวิต โดยที่ผ่านมาในปี 2559 ถึงปัจจุบัน เราช่วยเหลือคดีข่มขืนเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่า 5,000 ราย กลุ่มผู้มีอายุสูงกว่า 18 ปี 1,300 ราย จ่ายเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 181 ล้านบาท คดีอนาจารให้ความช่วยเหลือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 1,300 ราย กลุ่มผู้มีอายุสูงกว่า 18 ปี ราว 400 ราย จ่ายเงินเยียวยาไปกว่า 24 ล้านบาท คดีความรุนแรงในครอบครัวช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 500 ราย จ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว 26 ล้านบาท และคดีค้ามนุษย์ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 300 ราย เป็นเงินราว 2 ล้านบาท
ทั้งนี้หากเราได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด นับเป็น 100% ปัจจุบันเราสามารถให้ความช่วยคดีทางเพศได้ 90% ส่วนอีก 10% ที่เราไม่ได้ช่วย เพราะมีส่วนที่ไปก่อการความรุนแรงด้วยกัน เช่น ทะเลาะกัน ซึ่งในทางกฎหมายตอนนี้ จะช่วยเหลือได้เฉพาะผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการช่วยเหลือเยียวยา ปัจจุบันเราได้ลดขั้นตอนให้เหลือการดำเนินการภายใน 21 วัน และจากเดิมที่ต้องให้ผู้เสียหายเดินทางมายื่นเรื่องที่หน่วยงานเอง ขณะนี้เราได้เปิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้เสียหายยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้ส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ยังจัดตั้งหน่วยงานมอนิเตอร์เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ เพื่อทำงานเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพัฒนามา 2 ปีแล้ว ว่าเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ไหนบ้าง และจะลงพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้เสียหาย พร้อมเตรียมการประสานงานไปยังหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ขณะเดียวกันกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพยังมีการเช็คอยู่ตลอดว่าทั้ง 76 จังหวัด ยังขาดแคลนอุปกรณ์หรือต้องการความช่วยเหลืออื่นใดเพิ่มเติมบ้าง และมีการจัดแบ่งความรุนแรงตามสี แบ่งออกเป็นสีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อที่ทางกรมฯจะได้เข้าไปช่วยเหลือตามลำดับความรุนแรง สร้างประสิทธิภาพในการดูแลผู้เสียหายจากคดีความรุนแรงทางเพศได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage