‘แบงก์ชาติ’ ประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว ขยายเพดาน LTV ให้กู้ซื้อ ‘บ้านเกิน 10 ล้าน-บ้านหลังสอง-บ้านหลังสามขึ้นไป’ เต็ม 100% ของมูลค่า กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ถึงสิ้นปี 65 คาดมีเม็ดเงินปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่ม 5 หมื่นล้าน/ปี
..................................
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ รวมถึงสินเชื่อ refinance ทุกกลุ่มที่มี LTV (Loan to Value) ต่ำกว่า 100% ให้เป็นไม่เกิน 100% ทุกสัญญา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ประกอบด้วย
1.สินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 1 หรือ บ้านหลังแรก ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้ขยายเพดาน LTV เป็นให้กู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ (LTV 100%) จากเดิมที่กำหนดเพดาน LTV ไว้ที่ไม่เกิน 90% ส่วนบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท นั้น มาตรการ LTV ที่ใช้ในปัจจุบัน สามารถกู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์อยู่แล้ว และยังกู้สินเชื่อ top-up ได้อีกไม่เกิน 10% ของมูลค่าหลักทรัพย์
2.สินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ให้กู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ (LTV 100%) จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 80-90% และ3.สินเชื่อที่อยู่อาศัย ตั้งแต่สัญญาที่ 3 ขึ้นไป ให้กู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ (LTV 100%) จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 70%
“เดิมถ้าเป็นบ้านหลังสอง หลังสาม ถ้าซื้อไม่เกินกี่ปี เราจะจำกัด LTV ไว้ รวมถึงการซื้อบ้านที่มีราคาแพง ซึ่งเป็น มาตรการที่ออกมาในช่วงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์มีความร้อนแรง และธปท.เป็นห่วงว่า อาจเกิดการเก็งกำไรที่มากเกินสมควร และก่อปัญหาระยะยาว แต่ในช่วงนี้สัญญาณการเก็งกำไรอยู่ในระดับต่ำ และหลายส่วนมีวินัยดี เรามีความกังวลน้อยลงในเรื่องความเสี่ยง จึงปลดล็อกมาตรการ LTV ชั่วคราว
โดยจะปลดล็อกทุกสัญญา ซึ่งบ้านสัญญาที่ 1 ที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท นั้น ได้ LTV 100% อยู่แล้ว ตรงนั้นไม่ได้ไปแตะต้องอะไร แต่ตัวที่เหลือเราปลดทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่มีราคาแพงเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือบ้านที่เราเรียกว่าสัญญาที่ 2 สัญญาที่ 3 ขึ้นไป เราจะปลดล็อกให้การเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการ LTV ดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.เป็นต้นไป ไปจนถึงสิ้นปี 2565” นางรุ่ง กล่าว
นางรุ่ง ยังระบุว่า การผ่อนคลายมาตการ LTV ครั้งนี้ จะไม่เป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมาตรการฯจะเน้นไปที่กลุ่มที่มีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง หรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการ LTV ครั้งนี้ จะครอบคลุมทั้งการกู้ซื้อบ้านใหม่ บ้านในสต็อกของผู้ประกอบการ และบ้านมือสอง ซึ่ง ธปท.ประเมินว่า จะกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ได้ 5 หมื่นล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 7% ของมูลค่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีประมาณ 8 แสนล้านบาท และแม้ว่าวงเงินสินเชื่อใหม่จะไม่มาก แต่จะกระตุ้นภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงเพิ่มการจ้างได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามที่ ธปท. ประเมินไว้ ภาครัฐจะต้องมาตรการเสริมอื่นๆด้วย เช่น การขยายมาตรการการลดค่าโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งล่าสุดปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาต่ออายุมาตรการเหล่านี้
"ธปท.คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสำคัญ และมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่า 9.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน" นายดอน ระบุ
นายดอน ระบุด้วยว่า การผ่อนคลายมาตรการ LTV ดังกล่าว จะสนับสนุนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น จากเดิมที่ ธปท.คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวในปี 2568 และจะทำให้เกิดปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว และการปล่อยสินเชื่อจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก นอกจากนี้ ธปท.เองจะติดตามการปล่อยสินเชื่ออย่างใกล้ชิด รวมถึงสัญญาณการเก็งกำไร
เมื่อถามว่า หลังสิ้นสุดการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในวันที่ 31 ธ.ค.2565 แล้ว ธปท.จะขยายเวลาการผ่อนปรนมาตรการ LTV ออกไปอีกหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า การขยายเวลาออกไปมีโอกาสเป็นได้น้อย เพราะเมื่อถึงตอนนั้นเศรษฐกิจไทยน่าจะเข้มแข็งแล้ว และความเสี่ยงเกี่ยวกับฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์จะมีเพิ่มมากขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ธปท.ยังได้จัดทำคำถาม-คำตอบ (Q&A) เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปบน website ธปท. เกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการ LTV สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยด้วย เช่น สาเหตุที่ ธปท.ต้องผ่อนคลายมาตรการ LTV ในช่วงนี้ กลุ่มผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ และผลกระทบต่างๆจากการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นต้น (อ่านเอกสารประกอบ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/