สธ.เผยในรอบ 6 เดือน โควิดคร่าชีวิตหญิงตั้งครรภ์แล้ว 95 ราย และทารก 46 ราย ห่วงเกินครึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เสี่ยงติดเชื้อ 2 ใน 3 กังวลความปลอดภัย-ประสิทธิภาพวัคซีน เร่งรณรงค์กว่า 2 แสนคนฉีด ให้ได้ตามเป้า ยันวัคซีนปลอดภัย มีประโยชน์มากกว่าโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพและโฆษกกรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์การติดโควิดในหญิงตั้งครรภ์ประเทศไทย ว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าทั่วโลกหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 50-60% จากภาวะปกติ และการเสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจากโควิด โดยหลายประเทศโควิดเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์ในประเทศแทบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 1 ปีตั้งแต่ ต.ค. 2563 - ก.ย. 2564 ในช่วงที่มีการระบาดของโควิดในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตทั้งหมด 192 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากโควิด จำนวน 78 ราย ในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นครั้งแรกที่สาเหตุการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์มาจากโควิด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สูงถึง 38% ของหญิงตั้งครรภ์
นพ.เอกชัย กล่าวว่า การติดเชื้อ และการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ เกิดขึ้นบ่อย เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา เม.ย.-ก.ย. เราพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 4,778 ราย มีทารกติดเชื้อ 226 ราย และในจำนวนนี้มารดาเสียชีวิต 95 ราย และทารกเสียชีวิต 46 ราย ซึ่งส่วนใหญ่พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และ ชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตามนโยบายการฉีดวัควีนในสตรีมีครรภ์เพิ่งเกิดขึ้นในไทยเมื่อเดือน ก.ค. และเริ่มรณรงค์อย่างหนักในเดือน ส.ค. โดยตั้งเป้าไว้ที่ 300,000 ราย พบว่าหญิงตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 74,625 ราย เข็มสอง 51,989 ราย และเข็มสาม 526 ราย ซึ่งรวมกันแล้วยังไม่เป็นไปตามเป้า เหลืออีกกว่า 200,000 ราย
ทั้งนี้อัตราการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ยังถือว่าน้อยเพียง 25% หรือ 1 ใน 4 ซึ่ง ข้อมูลจาก Anamai Event Poll จากสำนักอนามัยโพล สำรวจความเห็นหญิงตั้งครรภ์ 1,165 ราย พบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ในจำนวนนี้มี 60% ตั้งใจฉีด ที่เหลือยังลังเล โดย 1 ใน 3 กังวลเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียงของวัคซีน อีก 1 ใน 3 ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนที่เหลือยังเข้าไม่ถึง ไม่รู้ว่าฉีดที่ไหน ไม่มีเวลาไปฉีดวัคซีน บางส่วนรอฉีดวัคซีนที่ตัวเองต้องการไปเรื่อยๆ ยังไม่มั่นใจสูตรไขว้ ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าปลอดภัย ไม่ว่าจะใช้กับวัคซีนแอสตร้า ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ไม่ต่างจากกลุ่มอื่น
“ในจำนวนที่ติดเชื้อกว่า 4,788 รายนั้น พบว่า 95% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และในจำนวนที่เสียชีวิต 95 ราย เกือบทั้งหมดก็ไม่ได้ฉีดวัคซีนเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเสี่ยงติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนมากขึ้น" นพ.เอกชัย กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจการฉีดวัคซีนโควิดของหญิงตั้งครรภ์กับการฉีดวัคซีนในเด็ก ยังพบว่ากว่า 60% ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ยังอุ่นใจว่ายังสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อไปที่สาธารณะ 97.8% เว้นระยะห่าง 84.3% ล้างมือ 84.2% ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น 80% ส่วนที่น่ากังวลคือสตรีมีครรภ์เกิน 70% ติดเชื้อกันในบ้าน ถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องป้องกันตัวเองสูงสุด หากเป็นไปได้ควรสวมหน้ากาก ไม่ควรรับประทานอาหารร่วมกัน เราพบการทำความสะอาดภายในบ้านยังได้น้อย การแยกของใช้ทำได้น้อย
นพ.เอกชัย กล่าวว่า เขตที่ฉีดสูงพื้นที่ภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง แถวนี้ฉีดได้ประมาณ 40% และบางเขตภาคกลาง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉีดได้ประมาณ 34% ภาคอีสานมีหญิงตั้งครรภ์เยอะ แต่ฉีดวัคซีนน้อย เขต 7, 8, 9 และ 10 ยังฉีดวัคซีนได้เพียงระดับ 10-20% เท่านั้น ดังนั้นขอให้สตรีมีครรภ์ที่เหลือ 200,000 กว่ารายรับวัคซีนมากขึ้น โดยสตรีมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ฟรีที่สถานบริการของภาครัฐใกล้บ้าน หรือติดต่อรับบริการที่คลินิกฝากครรภ์ในโรงพยาบาลของรัฐ
"ทั้งนี้สตรีให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วสามารถให้นมได้ทันที รวมทั้งการฉีดวัดซีนในสตรีมีครรภ์ที่ให้นมบุตรสามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่จะได้จากวัคซีนนั้นมีมากกว่าโทษ จึงแนะนำให้สตรีมีครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นคนที่เคยแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนรุนแรง" นพ.เอกชัย กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/