สธ.แจงแนวโน้มสถานกาณ์โควิดไทยดีขึ้น แต่ยังพบคลัสเตอร์ในบางจังหวัด ย้ำตัวเลขผู้ป่วยไม่ใช่ปัจจัยเดียวพิจารณาเปิดประเทศ พร้อมชง ศบค.อนุมัติ 'ซิโนแวค-ไฟเซอร์' แก้ปัญหาแอสตร้าฯ จัดส่งล่าช้า แทนสูตรไขว้หลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ว่า ภาพรวมการติดเชื้อลดลงแต่เริ่มมีความทรงตัว พื้นที่ติดเชื้อเกิน 100 รายยังใกล้เคียงเดิมทุกวัน กรมควบคุมโรคประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินรวบรวมรายละเอียดพื้นที่มา พบว่า หลายพื้นทื่ยังพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) เช่น ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มตลาด กลุ่มแรงงานก่อสร้าง ในร้านอาหาร สถานศึกษาโรงเรียนสถานที่ทำงาน ติดเชื้อในชุมชนและงานศพ ขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ ถึงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ก็ตาม
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า การจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดและเปิดเมืองนั้น ไม่ได้ดูตัวเลขการติดเชื้ออย่างเดียว แต่ดูหลายอย่างประกอบกัน เช่น ผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบรักษาใน รพ. หากระบบรองรับได้ดี แม้การติดเชื้อมีการแกว่งตัว อาจไม่ใช่ประเด็นข้อบ่งชี้ให้หยุดมาตรการ หลายประเทศการติดเชื้อกลับมาสูงขึ้น แต่ก็ยังเปิดประเทศรับผู้เดินทางต่อเนื่อง จึงต้องติดตามต่อเนื่องว่าแต่ละพื้นที่มีการป่วยหนักเท่าไร เปิดประเทศแล้วแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ รวมถึงการใส่เครื่องช่วยหายใจและการเสียชีวิตด้วย
"สถานการณ์ประเทศไทยผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว กทม. และปริมณฑลแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ฉีดวัคซีนครอบคลุมมาก พื้นที่ใต้ที่กำลังระบาด กำลังพยายามบริหารจัดการดูแลเต็มที่ มีทีมส่วนกลางดูแลและเสริมวัคซีนไฟเซอร์ลงไป ซึ่งเป็นคนละส่วน ไม่กระทบเป้าหมายการฉีดนักเรียน"
นพ.เฉวตสรร กล่าวเน้นย้ำว่า เมื่อผ่อนคลายมีกิจกรรมต่างๆ ขอให้ป้องกันเต็มที่สูงสุดตลอดเวลา ซึ่งอาจสบายใจเกินไป เห็นแนวโน้มไม่น่ากังวล หรืออาจเห็นเกิดขึ้นพื้นที่อื่นไกลจากเราก็อย่าเพิ่งวางใจ อย่าการ์ดตกป้องกันสูงสุดตลอดเวลาทุกที่และทุกคน สถานประกอบกิจการจัดมาตรการ COVID Free Setting เราจะปลอดภัยไปด้วยกัน เพราะการติดเชื้อที่สูงขึ้น
ยอดผู้ป่วยไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการพิจารณาเปิดประเทศ
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงความพร้อมในการเปิดประเทศ ว่า จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการพิจารณา แต่ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย จะต้องมาจากการร่วมมือหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมาตรการสาธารณสุขที่รองรับ เช่น ผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบรักษาใน รพ. หากระบบรองรับได้ดี แม้การติดเชื้อมีการแกว่งตัว อาจไม่ใช่ประเด็นข้อบ่งชี้ให้หยุดมาตรการ หลายประเทศการติดเชื้อกลับมาสูงขึ้น แต่ก็ยังเปิดประเทศรับผู้เดินทางต่อเนื่อง จึงต้องติดตามต่อเนื่องว่าแต่ละพื้นที่มีการป่วยหนักเท่าไร เปิดประเทศแล้วแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ รวมถึงการใส่เครื่องช่วยหายใจและการเสียชีวิตด้วย
ขณะนี้ผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบและใส่เครื่องช่วยหายใจลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีการประชุมร่วมกันแล้วว่าหากเปิดประเทศแล้วติดเชื้อ มีการนอน รพ.มากขึ้นถึงประมาณไหนจะต้องตอบรับหรือปรับมาตรการอย่างไรให้เหมาะสม แต่จะเข้มมาตรการป้องกันติดเชื้อ เพราะหากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอาจทำให้สัดส่วนผู้ป่วยหนักและใส่เครื่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นได้
สำหรับผู้ติดเชื้ออาการหนัก มีภาวะปอดอักเสบ เฉพาะพื้นที่ กทม. มีประมาณ 1,000 กว่าราย ส่วน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 441 ราย โดยภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น ยกเว้นจังหวัดนนทบุรีที่แนวโน้มยังคงสูงอยู่
เร่งฉีดวัคซีนใน 10 จังหวัดจับตามองให้ได้ 50% ในสิ้นเดือนนี้
นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ ในประเทศมีอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศมีความพร้อมเปิดประเทศได้
ส่วนการฉีดวัคซีนวันที่ 17 ต.ค. เพิ่มขึ้น 475,053 โดส สะสม 65,677,794 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 37.6 ล้านราย คิดเป็น 52.3% เข็มที่ 2 จำนวน 36.2% และเข็มที่ 3 อีก 2.7%
ส่วนนักเรียนอายุ 12-17 ปี ฉีดแล้ว 1.13 ล้านราย คิดเป็น 25.3% ขณะนี้มีผู้ปกครองแสดงความจำนงเพิ่มเติมเข้ามา วัคซีนไฟเซอร์มีการกระจายในวันนี้ พรุ่งนี้จะถึงครบถ้วนในการฉีดเข็มที่ 1 จะไม่มีประเด็นว่าที่ใดได้วัคซีนน้อยกว่าที่แจ้งเข้ามา
ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ฉีดเข็มแรกได้แล้วแล้ว 72.9% โดยพื้นที่ฉีดสูงสุด ได้แก่ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี สมุทรปราการ
ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะฉีดเพิ่มขึ้นตามมา กลุ่ม 608 เข็มแรกฉีดได้ 73.5% ส่วน 10 จังหวัดจับตามอง (Watch List) ฉีดเข็มแรก 45% ดังนั้น สิ้นเดือน ต.ค.นี้ ต้องเร่งฉีดให้ถึงเป้าหมาย 50%
'แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์' สูตรวัคซีนฉุกเฉิน
ส่วนความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้ 'แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์' นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า คณะกรรมการวิชาการเห็นชอบให้ใช้ได้ แต่มีการระบุว่า ให้ใช้ในกรณีมีความจำเป็น ยังคงไม่ใช่สูตรหลัก ซึ่งการบริหารจัดการวัคซีนโควิดให้แต่ละพื้นที่เป็นคนบริหารจัดการ เช่น บางพื้นที่มีวัคซีนไฟเซอร์คงค้าง ก็สามารถรับแทนแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 ได้ ส่วนอีกกรณีที่พบในต่างประเทศ บางคนมีอาการรุนแรงหลังรับแอสตร้าเซนเนก้า แพทย์จึงแนะนำให้ไปฉีดไฟเซอร์ เข็ม 2 แทน ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีนโควิดสูตรไขว้ แอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์
ชงศบค.อนุมัติ 'ซิโนแวค-ไฟเซอร์' แก้ปัญหาช่วงขาดแอสตร้าฯ
นพ.เฉวตรสรร กล่าวด้วยว่า ขณะที่สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในภาคใต้ สธ.ได้มีการจัดสรรและส่งวัคซีนให้สำหรับพื้นที่เพื่อควบคุมการระบาด โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกับวัคซีนที่จัดสรรให้นักเรียน ยืนยันว่าไม่ได้กระทบจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กับกลุ่มนักเรียน ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์มีการส่งมอบต่อเนื่อง
ส่วนการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีการทยอยส่งมอบ แต่อาจจะไม่ต่อเนื่อง มีความล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ใกล้เคียง ขณะนี้ยังใช้วัคซีนไขว้ 'ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า' เป็นสูตรหลัก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาขาดตอน คณะกรรมการวิชาการเสนอ ศบค.เห็นชอบสูตร 'ซิโนแวค-ไฟเซอร์' เพื่อให้ช่วงที่แอสตร้าเซนเนก้ามาช้ากว่ากำหนดหรือต่ำกว่าจำนวนที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเรื่องปกติในภาวะฉุกเฉินที่เน้นมาตรฐานปลอดภัยสูงสุด อาจส่งล่าช้าบ้างก็มีสูตร 'ซิโนแวค-ไฟเซอร์' ใช้ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage