สอวช.เปิดเวทีถกแนวทางสนับสนุนนักวิจัย ด้าน สกสว. เผย ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม’ ที่กำลังจะประกาศใช้จริงอีก 2 เดือนข้างหน้า จะช่วยหนุนนักวิจัยเป็นเจ้าของผลงาน นำไปใช้ประโยชน์คล่องตัว พร้อมเร่งระดมทุนช่วยนักวิจัย ส่วนหมอเกียรติแนะควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นแรงจูงใจ ผลักดันไทยสร้างผลงานสิทธิบัตร-ลิขสิทธิ์ใหม่ระดับโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2564 รายการ Future Talk สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการเรื่องการถอดกฎหมายฉบับสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สอวช. และหน่วยงานวิจัยในระบบวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันผลักดันกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี จนล่าสุดได้ได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมรัฐสภาและมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประกาศใช้ คาดว่าในอีก 1-2 เดือนจะสำเร็จ
สำหรับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นกฎหมายสนับสนุนให้นักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาแล้ว 40 ปี พบว่าตั้งแต่มีกฎหมายดังกล่าวเข้ามาจำนวนสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด นอกจากนั้นยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เห็นความสำคัญและนำกฎหมายนี้ไปใช้ อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
“ถ้ารัฐเป็นเจ้าของผลงานวิจัย การที่จะเอางานวิจัยไปใช้ประโยชน์จะติดขัดหลายอย่าง ที่สำคัญรัฐไม่มีอินเซนทีฟที่จะนำงานวิจัยไปขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ กฎหมายนี้จึงเข้ามาสนับสนุนให้นักวิจัยหรือต้นสังกัดที่ใช้เงินทุนของรัฐ ได้เข้ามาเป็นเจ้าของ เป็นการสร้างอินเซนทีฟ เพราะถ้าเจ้าของเอางานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ ก็สามารถที่จะเอาประโยชน์นี้ไปแบ่งสรรกัน และสร้างแรงผลักดันให้คนอยากให้คนสร้างผลงานดีๆ” รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ย้ำว่าเป็นการปลดล็อกในวงการวิจัยครั้งสำคัญ แต่กฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ ด้วย ซึ่ง สกสว.ก็ได้มีการตั้งกองทุน เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมสามารถเข้ามาขอทุนได้ มีการร่วมมือของรัฐและเอกชนในการระดมทุนช่วยเหลือนักวิจัย มีการให้ทุนตรงไปยังเอกชน และมีนโยบายสร้างผู้ประกอบการด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง
“ตอนนี้มาถึงยุคที่ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมเป็นทรัพย์สินที่สำคัญมากกว่าทรัพย์สินอื่นๆ เราตั้งคนมาดูแลทรัพย์สินประเภทเงินและที่ดินได้ แต่ผมมองว่าเรายังลงทุนน้อยไปกับคนที่จะมาบริหารทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะเป็นขุมทรัพย์มหาศาลในอนาคต จึงขอฝากให้ผู้บริหารหน่วยงานให้ความสำคัญกับบุคลากรที่จะมาบริหารทรัพย์สินทางปัญญา” รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าว
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ช่วยลดความซ้ำซ้อนการเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้มีจำนวนน้อยราย ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย กฎหมายนี้ช่วยลดความซับซ้อนและสนับสนุนนักวิจัยได้ แต่เพียงกฎหมายอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้ไทยขับเคลื่อนให้มีสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ระดับนาชาติเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ต้องทำหลายๆ อย่างคู่กัน คือ การคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักวิจัยเราสามารถแข่งขันระดับโลกได้จริง เช่น การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการวิจัย มีการร่วมมือกับหน่วยงานการวิจัยระดับโลก เป็นต้น ทำอย่างไรให้นักวิจัยมีความรู้และต่อยอดให้เรามีสิทธิบัตรที่สามารถจดในระดับนานาชาติได้ และควรมีสถาบันหรือศูนย์วิจัยมากขึ้นด้วย เพราะสัดส่วนในประเทศที่เจริญแล้วชี้ให้เห็นว่ามีนักวิจัยประมาณ 60-70% อยู่ในศูนย์วิจัยของภาคเอกชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage