นักวิจัยสถาบันเศรษฐกิจป๋วยฯ เผยผลสำรวจพบสังคมไทยมีความสมานฉันท์ในระดับต่ำ ฉุดรั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มสูงขึ้น ระบุการเสพสื่อด้านเดียว ส่งผลให้สังคมมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
..............................
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายสุพริศร์ สุวรรณิก นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยในงาน PIER Research Brief เรื่อง “โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย : ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” โดยระบุตอนหนึ่ง ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งส่งผลให้มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทย 5 เรื่อง และมีความเปราะบางทางสังคมอีก 1 เรื่อง ได้แก่
ประการแรก เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง คือ ไทยพึ่งพิงการส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ารวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร และพลาสติกไปจีน และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกลไปสหรัฐ การท่องเที่ยวที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด รวมถึงพึ่งพาการลงทุนทางตรงทั้งจากสหรัฐและจีน
ประการที่สอง ความเปราะบางของโครงสร้างการส่งออกไทย ซึ่งพบว่ามูลค่าเพิ่มที่ธุรกิจและผู้ประกอบการไทยสร้าง (domestic value added) อยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและขั้นสูง สะท้อนว่าว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมายังธุรกิจไทยยังมีไม่สูงนัก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรงมากนัก
ประการที่สาม ภาวะโลกร้อน ซึ่งสร้างความเปราะบางให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม โดยในปี พ.ศ.2593 พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดโดยรอบ มีความเสี่ยงถูกน้ำท่วม ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวมีการจ้างงานแรงงานนอกภาคเกษตรมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ มีสถานประกอบการมากกว่า 20% ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด และมากกว่า 10% เป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลัก
ประการที่สี่ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้เกิดความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทย สะท้อนได้จากสัดส่วนแรงงานสูงวัย (อายุมากกว่า 50 ปี) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 3.4% ในปี 2545 มาสูงถึง 9.9% ในปี 2562 ซึ่งแรงงานสูงวัยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตของประเทศลดลง เพราะความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่าแรงงานในวัยหนุ่มสาว และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด
ประการที่ห้า วิกฤตโควิด 19 สร้างหลายแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าครัวเรือนไทยเริ่มผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้เสียเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ หลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นการทั่วไป ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งมีหนี้เร็วและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤต
ด้าน ดร.ธนิสา ทวิชศรี นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นความเปราะบางของสังคมไทย จะพบว่าความเปราะบางของสังคมไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น สะท้อนได้จากการสำรวจออนไลน์ในโครงการ “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย.2564 จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 ราย ซึ่งพบว่า ความสมานฉันท์ในสังคมไทยอยู่ในระดับต่ำ และอาจเป็นอุปสรรคในการร่วมมือกันในการดำเนินนโยบายแก้ไขความเปราะบางทางเศรษฐกิจ
“สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะมีความสัมพันธ์กับความขัดแย้ง และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สังคมที่มีความสมานฉันท์ต่ำ จะนำไปสู่พัฒนาที่ไม่ทั่วถึง และทำให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นด้วย” ดร.ธนิสา กล่าว
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของดัชนีความสมานฉันท์ในสังคม พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือคนอายุน้อยมีความเชื่อมั่นในองค์กรและสถาบันสาธารณะในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจสะท้อนช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับระบบโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ,กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีความ “เชื่อใจ” คนในสังคมในระดับต่ำกว่าความเชื่อใจคนในสังคมของกลุ่มผู้มีรายได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ และความสามัคคีกลมเกลียวของคนในประเทศได้คะแนนในระดับต่ำที่สุด เป็นต้น
ดร.ธนิสา ระบุว่า ผลสำรวจยังพบว่าทัศนคติและค่านิยมของคนไทยเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอนุรักษ์นิยมมาเป็นเสรีนิยมมากขึ้น โดยคนรุ่นใหม่มีค่านิยมค่อนไปทางเสรีนิยมมากกว่าคนรุ่นเก่าอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน การ “คิดต่าง” ของคนในสังคมอาจนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมได้ เพราะกลุ่มที่คิดต่างมักมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนต่างความคิด และมองความต่างระหว่าง 2 กลุ่ม มากเกินกว่าความเป็นจริง
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยพบว่าความต่างวัย และพฤติกรรมการบริโภคสื่อด้านเดียว มีความสัมพันธ์ต่อความแตกแยกทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ
“คนที่บริโภคสื่อด้านเดียวมากๆ มักจะมีความรู้สึกไม่ดี มีอคติกับคนคิดต่าง…และการบริโภคสื่อซ้ำๆ และเป็นแบบที่คนที่มีความคิดเดียวกันบริโภค จะนำไปสู่ช่องว่างในเรื่องความแตกต่างที่มากกว่าความเป็นจริงด้วย” ดร.ธนิสากล่าว
ดร.ธนิสา กล่าวว่า ความมั่นคงในชีวิต และการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่คิดต่างบ่อยครั้งมากขึ้น อาจมีส่วนช่วยลดความแตกแยกในสังคมได้
ขณะที่นายสุพริศร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าคน 2 กลุ่มในสังคมไทย คือ คนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมไปทางเสรีนิยม และคนที่มีอายุมากที่ค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม จะมีความคิดต่างกัน แต่มีข้อที่น่าสนใจ คือ คนที่คิดต่าง อาจไม่ได้ต่างอย่างที่คิด โดยแท้จริงแล้วคน 2 กลุ่ม มีความเห็นตรงกันในเชิงนโยบายหลายประการ เช่น รัฐควรจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง คะแนนเสียงของทุกคนควรมีค่าเท่ากันในการเลือกตั้ง เป็นต้น
นายสุพริศร์ กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษานี้สะท้อนความเปราะบางของสังคมไทย ซึ่งหากไม่แก้ไข ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น
ดังนั้น การปลดล็อคความเปราะบางทางสังคมถือเป็นกุญแจสำคัญ และสามารถเริ่มแก้ไขได้ด้วยการ “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” โดยเปิดใจที่จะมองเห็นเข้าใจมุมมองคนคิดต่าง รับฟัง คนรอบข้าง คนคิดต่าง รับข้อมูลหลากหลาย พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ ร่วมมือ แก้ไขปัญหาด้วยกันระหว่างหลายภาคส่วน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทยซึ่งจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความเปราะบางของประเทศอย่างตรงจุด ทันเวลา และนำมาสู่สังคมไทยที่มีการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน
รายละเอียดบทวิจัย : "โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย : ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง”
อ่านประกอบ :
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :เศรษฐกิจไทยไม่ 'resilient' เหลื่อมล้ำสูง-สังคมขัดแย้งฝังลึก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/