สธ.เผยเดลต้ายังครองไทย 97.5% กทม.พบเพียงสายพันธุ์เดลต้า-อัลฟ่า แต่ใต้เผชิญ 3 สายพันธุ์ ยันยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ ส่วนกรณีเกิดเกิดผลลบลวง ATK ชี้ไม่ได้เกิดจากคุณภาพของชุดตรวจ แต่เป็นข้อจำกัดของเครื่องมือ ยันยังใช้ตรวจหาเชื้อโควิดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 กระทรวงสาธารณสุขจัดแถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิดในประเทศไทย โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการตรวจหาเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์ภายในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2-8 ต.ค.2564 ราว 600 ราย พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) 97.5% ส่วนอีก 2.2% เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) และ 0.3% เป็นสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้)
หากจำแนกการตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ตามพื้นที่ ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 83 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า 98.8% และสายพันธุ์อัลฟ่า 1.2% และในส่วนภูมิภาค จำนวน 516 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า 97.3% สายพันธุ์อัลฟ่า 2.3% และสายพันธุ์เบต้า 0.4%
“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สายพันธุ์เดลต้านั้นตรวจพบทุกจังหวัด รวมทั้งในโซนใต้ก็พบด้วยเช่นกัน ส่วนสายพันธุ์เบต้า อย่างที่เคยเรียนว่าสายพันธุ์นี้แม้จะดื้อต่อวัคซีน แต่อำนาจการแพร่เชื้อนั้นไม่เร็ว ทำให้เราพบในสัดส่วนที่ไม่มาก สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเจอที่นราธิวาส และยะลา พื้นที่ละ 1 รายเท่านั้น ที่เหลือเป็นอัลฟ่า 19 ราย” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการระบาดมากในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีการนำผลการสำรวจหาเชื้อกลายพันธุ์มาดู พบส่วนใหญ่ 70% ยังเป็นสายพันธุ์เดลต้า เจอสายพันธุ์เบต้าเพียง 2 ราย และเจอสายพันธุ์อัลฟ่าจำนวน 19 รายเท่านั้น ซึ่งการสำรวจดังกล่าวในพื้นที่ภาคใต้อาจน้อยเกินไปท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ประสานให้ทางจังหวัดและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา เก็บตัวอย่างในพืนที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มเติม นำมาดูสัดส่วนของสายพันธุ์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมถึงนำข้อมูลมาเปรียบเทียบความแตกต่างในแต่ละจังหวัด เพื่อสามารถคาดการณ์สถานการณ์ได้ถูก เพราะหากพบสัดส่วนสายพันธุ์เดลต้ามากขึ้น อาจจะมีปัญหาในเรื่องของภูมิต้านทานวัคซีน
ส่วนการพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่นนั้น ขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์มิวและสายพันธุ์อื่นๆในไทย และทุกสายพันธุ์ที่ตรวจพบในไทย ยังไวต่อวัคซีนอยู่ จึงขอให้ประชาชนเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด
ไทยถูกปลดออกจาก Red List แล้ว
นอกจากนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ใน Red List ของสหราชอาณาจักรว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ถูกปลดออกจาก Red List หรือพื้นที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ
โดยสถานเอกอัครราชฑูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยชี้แจงเหตุผลที่ไทยยังอยู่ใน Red List ว่า ไทยยังมีอัตราการรายงานข้อมูลการตรวจสายพันธุ์โควิดที่ยังไม่มากพอและไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งมีอัตราการตรวจหาเชื้อ และสายพันธุ์ในกลุ่มประชากรที่ยังไม่สูงพอ ซึ่งสถานเอกอัครราชฑูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยเน้นย้ำให้ฝ่ายไทยเร่งดำเนินการ ดังนี้
1. ขอให้บรรจุข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่ตรวจพบในไทยอย่างสม่ำเสมอ ทุกสัปดาห์หรือทุก 2 สัปดาห์ ลงในฐานข้อมูล GISAID โดยขอให้เผยแพร่ข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole Genome Sequencing) ทุกสัปดาห์ และให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์น่ากังวล ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างทั่วประเทศ 450 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ โดยดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมโรค
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำข้อมูลการตรวจสายพันธุ์กลายพันธุ์มาให้สื่อมวลชนทราบเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การนำข้อมูลลงระบบ GISAID จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความผิดพลาดเมื่อลงข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ทำให้ทางสถานเอกอัครราชฑูตสหราชอาณาจักรรู้สึกว่าเรารายงานช้า ก็อาจมีข้อสงสัยว่าเรารายงานครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางทีมงานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าจะมีการรายงานเข้าไปทุกสัปดาห์ จากเดิมตั้งแต่ต้นมี 170 ราย ปัจจุบันมีข้อมูลในระบบแล้ว 4,173 ราย
2. ขอให้การตรวจสายพันธุ์ (Genome Sequencing) ของไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะมั่นใจว่า จะสามารถตรวจพบการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างแม่นยำ แม้จะมีการติดเชื้อในอัตราส่วนเพียงเล็กน้อย เช่น น้อยกว่า 1% ของประชากรไทยทั้งหมด
3. ชี้แจงและเปิดเผยระบบการตรวจเชื้อแบบ RT-PCR และระบบการตรวจสายพันธุ์ที่ชัดเจน รวมทั้งเพิ่มจำนวนการตรวจเชื้อต่อวันของไทยให้มากขึ้น
ประเทศไทยได้ดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ในกรณีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่พบสัดส่วนผลบวกมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากตั้งแต่เดือน ก.ค.2564 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด เป็นจำนวนมากและกระทรวงสาธารณสุขเน้นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) โดยโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะใช้ชุดตรวจ ATK เป็นวิธีตรวจเบื้องต้นแล้วแจ้งยืนยันผลบวกนั้นด้วยวิธี RT-PCR จึงเป็นเหตุให้สัดส่วนผลบวกของ RT-PCR เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการคัดกรองการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการเก็บตัวอย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเผยแพร่เอกสารเป็นภาษาอังกฤษ บนเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งอ้างอิงฉบับล่าสุดใน Guidance for surveillance of SARS-CoV-2 variants : interim guidance ขององค์การอนามัยโลก ฉบับที่ 9 ส.ค.2564
ชี้การเกิดผลลบลวง ATK เป็นข้อจำกัดเครื่องมือ ยันยังใช้ตรวจหาเชื้อได้
ขณะเดียวกัน นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงการใช้ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบผลลบลวงมาก ว่า การที่มีผลลบลวงไม่ได้เกิดจากคุณภาพของชุดตรวจ ATK แต่เป็นข้อจำกัดของเครื่องมือนี้อยู่แล้ว หากนำเครื่องมือของยี่ห้ออื่นไปตรวจก็จะได้ผลแบบนั้น
“หากตรวจเร็วเกินกว่าที่เชื้อเพิ่มจำนวน หรือกรณีที่มีเชื้อน้อยเกินไป เนื่องจากร่างกายจัดการเชื้อโรคไปส่วนหนึ่งแล้ว ก็จะทำให้ตรวจไม่เจอเชื้อ และอีกกรณีที่ใช้ชุดตรวจไม่ถูกต้องตามคู่มือที่กำหนด ก็อาจทำให้ได้ผลลบลวงเช่นกัน ดังนั้นหากผลเป็นลบ หากมีความเสี่ยงในภายหลังควรมีการตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ หรืออาจตรวจด้วย RT-PCR เพื่อยืนยันผลตรวจให้มีความแม่นยำมากขึ้น ส่วนการตรวจชุดตรวจ ATK เพื่อขอขึ้นทะเบียน จะมีการนำเลือดของคนติดเชื้อโควิดว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด แล้วพิสูจน์ออกมาว่า ชุดตรวจ ATK นี้มีความไว มีความจำเพาะเท่าใด ซึ่งคนละกรณีกับการนำไปตรวจหาเชื้อในกลุ่มประชากร ยืนยันว่าชุดตรวจ ATK ยังสามารถใช้ได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวแนะนำด้วยว่า ช่วงที่เหมาะสมในการตรวจหาเชื้อด้วย ATK จะมีประสิทธิภาพสูงสุดตอนที่มีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เพราะเป็นช่วงที่มีไวรัสมาก จึงมีโอกาสตรวจเจอสูง ส่วนปัจจุบันที่การตรวจ ATK พบผู้ติดเชื้อน้อยลง เพราะคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ร่างกายมีภูมิต้านทาน พอเชื้อเข้ามาในร่างกายปริมาณน้อย ร่างกายจึงกำจัดได้หมด จึงทำให้ไม่พบอาการ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage