สธ.ย้ำวัคซีนไฟเซอร์มีเพียงพอสำหรับนักเรียน สัปดาห์หน้าเข้าไทยอีก 1.5 ล้านโดส เผยฉีดแล้ว 1.5 แสนคน พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 3 ราย ยันยังไม่ฉีดให้เด็กต่ำกว่า 12 ปี แจงต้องรอบริษัทยื่นเอกสารเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ว่า ผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 911,677 โดส สะสม 58,298,700 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 413,804 ราย สะสม 34,188,488 ราย คิดเป็น 47.5% เข็มสอง 454,491 ราย สะสม 22,460,213 ราย คิดเป็น 31.2% ราย และเข็มสาม 43,382 ราย สะสม 1,649,999 ราย คิดเป็น 2.3% ราย คาดว่าในระยะที่เหลือในเดือน ต.ค.นี้ น่าจะไปตามเป้าหมายได้ โดยฉีดวัคซีนให้กับคนไทยได้อย่างน้อย 60% ของประชากร
สำหรับวัคซีนที่ฉีดมากที่สุด คือ แอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 26 ล้านโดส รองลงมาคือซิโนแวค จำนวน 20 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 9 ล้านโดส และไฟเซอร์ 1.7 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม วัคซีนไฟเซอร์ที่ประเทศไทยสั่งซื้อทั้งหมด 30 ล้านโดส ทยอยเข้ามาทุกสัปดาห์ โดยล็อตแรกที่เข้ามาปลายเดือน ก.ย. จำนวน 2 ล้านโดส ได้มีการส่งไปฉีดในกลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี แล้ว ล่าสุด ล็อตที่ 2 ที่มาถึงเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 1.5 ล้านโดส ได้รับการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรียบร้อยแล้ว และจะส่งไปสมทบที่โรงพยาบาลในภูมิภาค เพื่อฉีดให้กับนักเรียนเพิ่มขึ้น และวันที่ 13 ต.ค. นี้ จะเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส ขณะนี้กลุ่มนักเรียน ฉีดเข็มแรกจำนวน 150,190 ราย หรือ 3.3%
"มีข่าวว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอ และบางโรงเรียนต้องจับฉลาก ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนมีเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ช่วงแรกทยอยไป 40% ของนักเรียน และพอผ่านไปอีก 2 งวดก็เพียงพอสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน แล้วพอฉีดเข็ม 1 ครบแล้ว เว้น 3-4 สัปดาห์ถึงจะฉีดเข็ม 2 ได้"
นพ.โสภณ กล่าวว่าถึงภาพรวมการฉีดวัคซีนสะสม ประเทศไทยในพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัด มีความครอบคลุมของวัคซีนเข็มที่ 1 ถึง 62% ในเวลานี้ ซึ่ง กทม.ครอบคลุมมากที่สุด รองลงมาเป็นปทุมธานี ประมาณ 65% ขณะนี้วัคซีนสูตรหลักในประเทศไทย คือซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่างกัน 3 สัปดาห์ ดังนั้นในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ สามารถที่จะฉีดวัคซีนได้ครบ 2 เข็มมีภูมิคุ้มกันที่สูงและเร็ว
นพ.โสภณ ยังกล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ว่า ต้องรอให้ที่ประชุมอีโอซี ของ สธ.อนุมัติในวันที่ 11 ต.ค.นี้ ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะมีสูตรไขว้เพิ่มขึ้น คือ แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วย ไฟเซอร์ เหตุผลหลักคือ มียอดวัคซีนไฟเซอร์เข้ามามากในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. จึงต้องใช้วัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแอสตร้าฯ กับ ไฟเซอร์ ก็มีจำนวนมากพอๆ กัน ส่วนซิโนแวคที่เหลือ ใช้ฉีดเดือน ต.ค.นี้ ก็คงหมด ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม นั้น ในต่างประเทศยังไม่มีการฉีดบูสเตอร์ ดังนั้น ต้องรออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากภูมิอยู่ได้นานกว่าฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ด้วยซ้ำ
ส่วนสถานการณ์การระบาดในภาคใต้ ระบาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันประมาณ 20% ของทั้งประเทศ โดย 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนวัคซีนเพิ่มเติม โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้เพิ่มวัคซีนเป็นพิเศษ และจะมีการระดมฉีดในสัปดาห์หน้า เป็นการป้องกันโรคในระยะต่อไป พร้อมกับต้องเฝ้าระวังสอบสวน และควบคุมโรคในตุดที่มีการระบาด มีการแยกผู้ติดเชื้อออกมาจากชุมชน เมื่อนำเข้าสู่การรักษาพยาบาล
นพ.โสภณ กล่าวถึงความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ว่า ในพื้นที่สีแดงเข็ม 29 จังหวัด มีความครอบคลุมในเข็มแรก 66.2% และเข็มสอง 44.2 โดยฉีดเข็มแรกทั่วประเทศ 59% และเข็มสอง 42.6
สำหรับจำนวนวัคซีนที่จะนำเข้ามาในประเทศไทยมาในเดือน ต.ค.นี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ จะมาในเดือน ต.ค. รวมจำนวน 24 ล้านโดส เดือน พ.ย. 23 ล้านโดส และเดือน ธ.ค. จำนวน 24 ล้านโดส และมีวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่จะเข้ามาในเดือน ต.ค. 6 ล้านโดส เดือน พ.ย. และ ธ.ค. อีกเดือนละ 12.5 ล้านโดส ส่วนโมเดอร์นา จะเข้ามาในเดือน พ.ย.- ธ.ค.จำนวน 2 ล้านโดส
เมื่อถามว่า ตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนในสัปดาห์นี้ในกลุ่มอายุ 12-17 มีอาการข้างเคียงบ้างหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ พบว่ามีอาการเจ็บ บวมร้อน บริเวณที่ฉีด บางกรณีเด็กมีการเวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม อาเจียน แต่พบไม่มาก ปฐมพยาบาลแล้วก็ดีขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การฉีดวัคซีนรวมคนจำนวนมาก เด็กจะมีความกลัว และเกิดอาการคล้ายๆ กัน ดังนั้น การจัดสถานที่ฉีดวัคซีนควรโปร่ง ไม่แออัด เปิดเพลงเพื่อผ่อนคลายความเครียด ความกังวล และครู บุคคลากรการแพทย์ ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงอาการรุนแรงที่อาจจะเกิดได้ คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่หายได้
“กรณีที่มี 3 ราย ที่ได้รับการยืนยันว่ามีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น เป็นรายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ที่มีการฉีดวัคซีนในเด็ก ไม่เกี่ยวกับเด็ก นักเรียน เพราะเริ่มฉีดวันที่ 4 ต.ค.ยังเร็วไป ต้องเฝ้าระวัง”
ส่วนกรณีการประเมินว่า จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 ให้กับเด็กนักเรียนนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า กรณีเป็นเด็กชายและเด็กหญิงอายุ อายุ 16-18 ปี ให้ฉีด 2 เข็มปกติ เด็กทั้งชาย เด็กหญิง อายุ 12-16 ปี หากเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัว ก็ให้ฉีด 2 เข็ม เพราะถ้ามีโรคประจำตัวแล้วป่วยโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงได้ แต่กรณีเด็กชายอายุ 12 ปี ถึงต่ำกว่า 16 ปี ร่างกายแข็งแรงดี ต้องรอประเมินผลอาการข้างเคียงก่อนว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่กังวลนั้น จะเกิดในเด็กไทยเหมือนในต่างประเทศหรือไม่ เบื้องต้นมีตัวเลขเด็กนักเรียนชายประมาณ 2 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียนเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์
ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 5-11 ปี นั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ ขณะนี้ใช้กับเด็ก 12 ขึ้นไป ในต่างประเทศมีข้อมูลมีการวิจัยใหม่ๆว่ามีการใช้ได้ผลดีในเด็กอายุ 5-11 ปี อย่างไรก็ตาม ต้องรอบริษัทมาขึ้นทะเบียนเพื่อให้สามารถใช้ในเด็กที่อายุน้อยลงได้ ซึ่งบริษัทยังไม่ได้มายื่นเอกสารเพื่อปรับข้อบ่งชี้ในการใช้วัคซีน ถือว่าต้องฉีดให้กับผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไปก่อนจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage