สถานการณ์โควิดไทย ล่าสุด 1 ต.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,754 ราย แต่ยอดตรวจ ATK ยังสูง 5,150 ราย หายป่วยแล้ว 12,473 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 115,233 ราย เสียชีวิตอีก 123 ราย ศบค.เผยสถานการณ์ภาคใต้ยังน่าห่วง ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 17% ของทั้งประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ 11,754 ราย ติดเชื้อในประเทศ 11,242 ราย มาจากระบบบริการ 9,998 ราย เกิดจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 1,244 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ 501 ราย และอีก 11 รายเดินทางกลับจากต่างประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 1,615,229 ราย และมีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) จำนวน 5,150 ราย
ขณะที่มีผู้หายป่วย 12,473 ราย ทำให้มีผู้หายป่วยสะสม 1,483,146 ราย กำลังรักษาตัวอยู่ 115,233 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,144 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 709 ราย และมีผู้เสียชีวิต 123 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 16,850 ราย
โดยมีผู้เสียชีวิต 123 ราย มาจากกทม.และปริมณฑล 54 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 17 ราย และจังหวัดอื่น 52 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 86 ราย คิดเป็น 70% และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 31 ราย คิดเป็น 25% ซึ่งหากรวมกันพบมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 95% และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากในครอบครัว คนรู้จัก อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด และมีอาชีพเสี่ยง
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 10 จังหวัดอันดับสูงสุด ประกอบด้วย กทม. 1,423 ราย สมุทรปราการ 861 ราย ชลบุรี 820 ราย ยะลา 545 ราย นราธิวาส 515 ราย ระยอง 472 ราย สงขลา 451 ราย ปัตตานี 406 ราย นครศรีธรรมราช 378 ราย และปราจีนบุรี 353 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากจากต่างประเทศ ทั้งหมด 11 ราย แบ่งเป็น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย ไนจีเรีย 1 ราย บาห์เรน 1 ราย กัมพูชา 2 ราย มาเลเซีย 3 ราย และเมียนมา 2 ราย
นอกจากนั้น มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกเพิ่ม 792,116 ราย เข็มที่ 2 เพิ่ม 1,352,463 ราย และเข็มที่ 3 เพิ่ม 144,149 ราย รวมสะสม 53,784,812 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 32,577,832 ราย คิดเป็น 45.2% ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 19,838,574 ราย คิดเป็น 27.5% และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 1,368,406 ราย
ศบค.แจงตัวเลขฉีดวัคซีนสะสมไม่ตรงกัน
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กว่า ที่ประชุมรับทราบว่า การรายงานการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทยถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 ซึ่งตัวเลขสะสมยังไม่ตรงกันระหว่างข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุข และข้อมูลหมอพร้อม เนื่องจากการายงานของ ศบค.เป็นการรายงานที่ใช้ข้อมูลจากระบบ MOPH Immunization Center (MOPH-IC) ที่เป็นข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของประเทศ ขณะที่อีกระบบคือข้อมูลจากหมอพร้อม ที่เป็นการรายงานจากจุดให้บริการวัคซีนทั่วประเทศทุกจังหวัด ซึ่งเป็นการรายงานเร็ว ที่อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด และเมื่อส่งยอดมาที่ MOPH จะมีการตรวจสอบ และลบส่วนที่มีความซ้ำซ้อน ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 วัน ข้อมูลจึงอาจล่าช้า กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามปรับฐานข้อมูล ทั้งจาก MOPH-IC และหมอพร้อมให้ประสานสอดคล้องกัน สมบูรณ์ที่สุด และตัวเลขเป็นสถานการณ์จริงที่สุด
เป้าหมายฉีดวัคซีนเดือน ต.ค. นี้
สำหรับเป้าหมายฉีดวัคซีนเดือน ต.ค.2564 ครอบคลุมประชากรทั้งหมด รวมคนไทยและต่างด้าว อย่างน้อย 50% ทุกจังหวัด โดยอย่างน้อย 1 อำเภอ ครอบคลุม 70% มีต้นแบบ COVID free Area อย่างน้อย 1 พื้นที่ ครอบคลุม 80%
นอกจากนี้ เพิ่มการครอบคลุมการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์เป็น 80%
ครอบคลุมกลุ่มนักเรียนหรือนักศึกษา ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 70% และการะฉีดกระตุ้นเข็ม3 สำหรับผู้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มเมื่อเดือน มี.ค.-พ.ค.2564
ภาคใต้ยังน่าห่วง ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 17% ของทั้งประเทศ
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดย กทม. มีตัวเลขการติดเชื้ออยู่ที่ 1,423 ราย และมีรายงานเตรียมปิดศูนย์นิมิบุตร และเตรียมเปิดโรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง อีก 200 เตียง
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในจังหวัดภาคใต้ยังน่าเป็นห่วง โดยรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 17% ของทั้งประเทศ จากเดิม 15% จึงขอเน้นย้ำทางผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ให้เน้นย้ำมาตรการด้านสาธารณสุข โดยบางพื้นที่ยังพบประชาชนละเลยมาตรการส่วนบุคคล มีการเปิดร้านอาหารเกินเวลา และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
"ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 ที่มีการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมมากขึ้น ขอให้ประชาชนทุกคนเฝ้าระวัง และคงมาตรการเคร่งครัด แม้ตัวเลขจะยังทรงๆ แต่หลังจากผ่อนคลายมาตรการ อาจมีผลให้ยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นขอความร่วมมือกัน 15 วัน ถ้าทิศทางลง อาจมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น" พญ.อภิสมัย กล่าว
ทั่วโลกป่วย 487,191 รวมสะสม 234.55 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 487,191 ราย รวม 234,553,899 ราย อาการหนัก 88,633 ราย หายป่วย 211,351,370 ราย เสียชีวิต 4,797,237 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 113,922 ราย รวม 44,314,424 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,812 ราย รวม 716,847 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 27,300 ราย รวม 33,765,488 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 282 ราย รวม 448,372 ราย บราซิล พบเพิ่ม 27,527 ราย รวม 21,427,073 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 637 ราย รวม 596,800 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage