เปิดรายการทรัพย์สิน ‘พิยดา ทองคําพันธ์’ กับพวก 2 คน ปปง.ยึด 10 รายการ 7.9 ล้าน เงินสด โทรมือถือ บ้านที่ดิน เงินฝาก คดีฉ้อโกง แฉพฤติกรรมล้วงข้อมูลบุคคลอื่นลงทะเบียนหลอกขายสินค้าออนไลน์ ไม่มีอยู่จริง ช่วง ม.ค.-ก.ย.2562 เหยื่อ 83 ราย
...........................
วันที่ 8 ก.ย.2564 สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคําสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.167/2564เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว รายนางสาวพิยดา ทองคําพันธ์ กรณี มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 10 รายการ มูลค่า 7,944,474.85 บาท ประกอบด้วยทรัพย์สิน เงินสด 500,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง เงินในบัญชีเงินฝาก บัญชีอยู่ในชื่อ น.ส.พิยดา 4 บัญชี น.ส.อังคณา เภตระกุล และนายนรบดี จันทร์หวร คนละ 1 บัญชี และ โฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในต.บางรักน้อย อ.เมืองนนทบุรี อ จ.นนทบุรีในชื่อ น.ส.อังคณา เภตระกุล และนายนรบดี จันทร์หวร มูลค่า 6,700,000 บาท
ทั้งนี้ คำสั่งในการยึดและอายัดทรัพย์ของคณะกรรมการธุรกรรม ปปง.ระบุความเป็นมาดังนี้
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตามหนังสือ ลับ ที่ ยธ 0811/019 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 เรื่อง ขอส่ง ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทําความผิดที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐาน ซึ่งเป็นกรณี มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ
กลุ่มมิจฉาชีพมีการประกาศลงข้อความหรือข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อหลอกขายสินค้าโดยที่ไม่มีสินค้าอยู่จริง มีการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่มีความเป็นจริงและมีการลักลอบนําข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไปลงทะเบียน เพื่อเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และมีเจตนาอําพรางตนโดยนําหมายเลขดังกล่าวนั้น ไปรับโอนเงิน ที่ได้มาจากการหลอกลวงผู้เสียหายรายอื่นเป็นทอด ๆ ซึ่งลูกค้าหรือผู้สั่งซื้อสินค้าจะถูกผู้ขายหรือมิจฉาชีพ กําหนดให้ต้องถ่ายภาพใบหน้าคู่กับบัตรประจําตัวประชาชนส่งให้กับผู้ขาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการสั่งซื้อ และให้ชําระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายก่อนล่วงหน้า โดยกําหนดให้ลูกค้าชําระเงินผ่านหมายเลขบัญชี อิเล็กทรอนิกส์ ตามแต่ผู้ขายจะแจ้งให้ทราบ เมื่อมีการโอนเงินชําระค่าสินค้าไปแล้ว ผู้ซื้อจะไม่สามารถติดต่อ ผู้ขายได้อีกเลย โดยการสืบสวนปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงินได้โอนเข้าไปในบัญชีเงินฝากปลายทาง ชื่อ นางสาวพิยดา ทองคําพันธ์ โดยปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2562 มีผู้เสียหายจํานวน 83 ราย มีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 1,147,300 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนสี่หมื่นเจ็ดพันสามร้อยบาทถ้วน) พนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรคลองหลวง ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับต่อศาลเยาวชน และครอบครัวจังหวัดปทุมธานี และสามารถจับกุมตัวนางสาวพิยดา ทองคําพันธ์ ผู้ต้องหาตามคดีอาญาที่ 761/2563 โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนได้สรุปสํานวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามความผิด ฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทํา ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 341 และมาตรา 343 และได้ส่งสํานวนคดีที่ไปยังพนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดปทุมธานี เพื่อดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นางสาวพิยดา ทองคําพันธ์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม 10/2563 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ที่ประชุม มีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 25642 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.563/2563 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด รายนางสาวพิยดา ทองคําพันธ์ กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงาน การทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นางสาวพิยดา ทองคําพันธ์ กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตาม มาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง หรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูล การทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน
ปรากฏว่า บุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 10 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินสด อันเป็น ทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภท โทรศัพท์เคลื่อนที่ อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถ โอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย และอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน ตามโฉนดที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้มีชื่อ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิ ในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาล ได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืน มาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวพิยดา ทองคําพันธ์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 35 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 10 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) กล่าวคือ มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 4 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 4 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2564 และมีคําสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จํานวน 6 รายการ ได้แก่ รายการที่ 5 ถึงรายการที่ 10 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2564 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้ (ดูเอกสาร)
น.ส.พิยดา สาววัย 19 ปี ตกเป็นข่าวคดีหลอกขายไอโฟน ผ่านอินสตาแกรม (ไอจี) เป็นเหตุให้เหยื่อเด็กชายวัย 14 ปี นักเรียนชั้นม.2 ที่ถูกหลอกเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต และเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 เจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage