'หมอวรงค์' ยื่นผู้ตรวจกรแผ่นดิน ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความร่างแก้ไข รธน. ปมบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ลิดรอนสิทธิประชาชน - ชี้ลักไก่แก้ 3 มาตรา ขัดหลักการ และเจตนารมณ์ของ รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีรัฐสภาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ... เรื่องการเลือกตั้งจากบัตร 1 ใบไปสู่บัตร 2 ใบอาจเป็นการทำลายสิทธิของประชาชนและเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้ง
นพ.วรงค์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมายื่นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขนั้นขัดหลักการเพราะตอนเสนอขอแก้ไขขอแค่ 2 มาตรา แต่มาลักไก่แก้ 3 มาตราด้วยการเพิ่มการแก้ไขมาตรา 86 จึงเป็นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินกว่าหลักการ ส่วนที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คิดว่าคนจะแก้ไม่ได้ศึกษาเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งในอดีตที่ใช้บัตรสองใบ ทำให้ ส.ส.ไม่ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชน แต่ไปทำหน้าที่ตัวแทนพรรคการเมือง เจ้าของพรรค และที่สำคัญคือทิ้งเสียงข้างน้อย คนชนะกินรวบ จึงแก้มาใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย
นอกจากนี้เมื่อมาเขียนเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ใช้คำว่าบัตรเลือกตั้งเพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดการบังคับให้มีการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่เหมือนกับการถอยหลังไปเป็น 10 ปี แต่จะใช้คำว่าคะแนน หรือคะแนนเสียง เพื่อเปิดช่องให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้ในอนาคต โดยไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่สำคัญการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 3 มาตรา คือมาตรา 77 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่าการจะแก้ไขกฎหมายใด ต้องรับฟังความเห็นประชาชน แต่รัฐสภากับลุกลี้ลุกลน ไม่เคยรับฟังความเห็นประชาชน แก้ไขรอบนี้แก้แบบยกเครื่อง ทำให้การนับคะแนนเลือกตั้งต่างจากเดิม บัตรใบเดียวที่เคยผ่านการสำรวจความคิดเห็นประชาชนสูงถึง 77.6% การจะเปลี่ยนจากบัตรใบเดียวเป็นสองใบจึงต้องถามความเห็นประชาชน แต่ก็กลับไม่มีการสอบถาม
ส่วนมาตรา 85 กำหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนได้คนละหนึ่งคะแนน แต่มาตรา 83 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบเท่ากับผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงได้ 2 คะแนน
“เรามายื่นผู้ตรวจการแผ่นดินตามเงื่อนไขที่มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญซึ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน หากถูกตัดสิทธิหรือลิดรอนสิทธิสามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ การที่ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือผู้ชนะกินรวบ ที่สำคัญ บัตรเลือกตั้งใบเดียวทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายสามารถนำมาคำนวณตำแหน่งที่นั่ง ส.ส.ได้ การที่รัฐสภาไปตัดสิทธิประชาชนซึ่งเป็นคนที่มีพลังและมีความหมายมากในระบบจัดสรรปันส่วนผสม แล้วกลับเลือกไปใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบที่ให้เฉพาะผู้ชนะกินรวบเท่านั้น จึงต้องมาร้องศาลรัฐธรรมนูญผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน” นพ.วรงค์ กล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า หากภายใน 60 วันผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่มีท่าที ก็จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะเราต้องการให้ประเทศดำเนินการบนหลักการของความถูกต้อง ไม่ใช่หลักของพวกมากลากไปที่จะทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาแล้วปัญหาเก่า ๆ ก็จะกลับมาอีก ทั้งนี้นักกฎหมายมือดีของประเทศไทยหลายคน ได้ดูคำร้องที่ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ทุกคนยืนยันว่าประชาชนชนะแน่ ขอให้สบายใจได้
ด้าน นายวทัญญู กล่าวว่า ทางสำนักงานก็จะเร่งรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินโดยเร็ว ซึ่งสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดไม่มีผลต่อการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะใช้การประชุมแบบออนไลน์ และกฎหมายกำหนดกรอบเวลาไว้ก็จะต้องเร่งทำงานอยู่แล้ว
สรุปคำร้อง ขัดหลักการ-เจตนารมณ์ รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วรงค์ เดชกิจวิกรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สรุปคำร้องที่ได้ยื่นต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนี้
1.ขัดหลักการ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอแก้ไขเพียง 2 มาตรา แต่มีการแก้ไขถึง 3 มาตรา ด้วยการเพิ่มแก้มาตรา 86 เพิ่มขึ้น จึงเป็นกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ขัดหลักการ เป็นการแก้เกินกว่าหลักการ ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
2.ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
2.1 ปัญหาการเลือกตั้งในอดีต เคยผ่านระบบบัตร 2 ใบ ทำให้ ส.ส. ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน แต่กลายเป็นตัวแทนพรรคการเมือง และนายทุนพรรค เป็นระบบผู้ชนะกินรวบ ตัดคะแนนผู้แพ้ทิ้ง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ต้องการให้คะแนนทุกคะแนนมีความหมาย แม้ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบเขต ก็ยังสมารถนำคะแนนไปคิดที่นั่ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย การแก้สู่ระบบบัตรสองใบ จึงขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
2.2 การใช้คำว่าบัตรเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ใช้คำว่าบัตรเลือกตั้ง เพราะถ้าคำนี้ในรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าต้องบังคับพิมพ์บัตรเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีเจตนาใช้คำว่าคะแนน หรือ คะแนนเสียงเลือกตั้งแทน ด้วยวิธีนี้ หากในภายหน้ามีวิธีการลงคะแนนเลือกตั้ง ด้วยวิธีอื่นใดนอกจากวิธีใช้บัตรลงคะแนนก็จะสามารถปรับปรุง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้สอดคล้องกันได้ โดยไม่เป็นการขัดต่อ รัฐธรรมนูญ
3.ขัดรัฐธรรมนูญ
3.1 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ที่สำคัญการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บัตรใบเดียว ได้ผ่านการสอบถามประชาชนมาก่อนแล้ว มีประชาชนสนับสนุนระบบนี้สูงถึง 77.6% แต่การแก้ไขครั้งนี้ ไม่มีการสอบถามประชาชน หรือประชาพิจารณ์ใดๆเลย
3.2 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 85 ที่กำหนดให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน เลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน แต่การแก้ไขไปสู่ระบบบัตรสองใบ กลับให้มีการลงคะแนนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เท่ากับมีการลงได้สองคะแนน
3.3 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ที่กำหนดให้ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัย
ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ในระบบจัดสรรปันส่วนผสม เน้นการพยายามทำให้คะแนนทุกคะแนนของประชาชนมีความหมาย คะแนนที่ประชาชนเลือกทุกพรรคการเมืองจะต้องถูกนำมาคิดจัดสรรที่นั่งในสภา โดยทุกคะแนนที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต (ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้ง) จะนำไปรวมเป็นคะแนนของพรรคการเมืองที่ส่ง ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
นพ.วรงค์ ระบุว่า ระบบการเลือกตั้งแบบใช้บัตรสองใบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ นายทุนเจ้าของพรรค ครอบงำ พรรคการเมือง ธุรกิจการเมืองกำลังกลับมา ไม่เคารพเสียงของประชาชน 16.8 ล้านสภาผู้แทนราษฎร การที่ รัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปสู่ระบบบัตรสองใบ แยกเป็น ส.ส.เขต และ บัญชีรายชื่อ จึงนำไปสู่ ระบบผู้ชนะกินรวบ คะแนนผู้แพ้ถูกทิ้งน้ำ เป็นการทำลายสิทธิเลือกตั้ง ของประชาชน ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ ผ่านระบบจัดสรรปันส่วน
สภายื่นร่างแก้ไข รธน.ถึงมือนายกฯแล้ว
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชุมร่วมรัฐสภาในวาระ 3 ให้นายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากครบกำหนด 15 วัน โดยไม่มี ส.ส.เข้าชื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีมีเวลาพิจารณาช่วงหนึ่งในการพิจารณาตามขั้นตอน
ส่วนกรณี นพ.วรงค์ ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณานั้น เป็นเรื่องส่วนตัว แต่กระบวนการของสภาถือว่าทำตามกรอบกฎหมายแล้ว หลังจากนี้เป็นภารกิจของรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ปัญหาเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่มีปัญหาการตีความการเริ่มนับวาระของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่นับตั้งแต่ปี 2557 หรือเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ นายชวน ตอบว่า ขณะนี้สภายังไม่มีปัญหา เป็นการแสดงความเห็นทางกฎหมายของแต่ละคนที่แตกต่างกัน และทางสภายังไม่มีใครยื่นเข้ามาขอให้ส่งตีความ การส่งตีความสามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้หรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/