‘ไทยพาณิชย์’ ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ตั้ง ‘SCBX’ เป็น ‘โฮลดิ้งคอมพานี’ คุมธุรกิจย่อย เปิดแลกหุ้น 1 หุ้น SCB ต่อ 1 หุ้น SCBX พร้อมอนุมัติจ่ายปันผล 7 หมื่นล้าน ตั้งเป้าเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 68
...........................
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. กลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ เพื่อรองรับบริบทใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยการจัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ “SCBX” (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งยกระดับสู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2025 หรือปี 2568 โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้า 200 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม SCBX จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ขณะเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2564 มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจตการเงินของไทยพาณิชย์ โดยธนาคารฯจะจัดตั้งบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน (Holding company)
ทั้งนี้ หลังจากแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว SCBX จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารจากผู้ถือหุ้นของธนาคาร โดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคาร ในอัตราการแลกหลักทรัพย์เท่ากับ 1 หุ้นสามัญของธนาคาร ต่อหุ้น 1 หุ้นสามัญของ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของธนาคารต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX
อย่างไรก็ตาม ในการทำคำเสนอซื้อดังกล่าว SCBX จะยกเลิกคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หากจำนวนหุ้นที่มีผู้แสดงเจตนาขายมีจำนวนน้อยกว่า 90% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของธนาคาร
และภายหลังการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เสร็จสิ้น SCBX จะดำเนินการยื่นขอนำหุ้นสามัญของ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แทนหลักทรัพย์ของธนาคาร ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในวันเดียวกัน ทั้งนี้ SCBX จะใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์เดียวกันกับธนาคาร คือ SCB
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการธนาคารฯ จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติในหลักการให้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล จากกำไรสุทธิประจำปีและกำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะล่าสุดของธนาคาร จำนวน 7 หมื่นล้านบาท ให้แก่ SCBX และผู้หุ้นรายอื่นๆในขณะนั้นของธนาคาร
สำหรับแผนการปรับโครงสร้างการถือของธนาคารฯนั้น ธนาคาร (SCB) จะดำเนินการโอนหุ้น ซึ่งธนาคารถืออยู่ในบริษัทย่อยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ให้แก่ SCBX หรือกลุ่มบริษัท SCBX ได้แก่
1.โอนหุ้น 100% ในบริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ให้ SCBX
2.โอนหุ้น 100% ในบริษัท เอสซีบี เท็นเอ็กซ์ จำกัด (SCB 10X) ให้ SCBX
3.โอนหุ้น 100% ในบริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) ให้ SCBX
4.โอนหุ้น 60% ในบริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) ให้ SCBX
5.โอนหุ้น 100% ในบริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด (SCB Tech X) ให้ SCBX
6.โอนหุ้น 100% ในบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple ventures) ให้ SCBX
7.โอนหุ้น 100% ในบริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด (SCB ABACUS) ให้ SCBX
8.โอนหุ้น 100% ในบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (DV) ให้ SCBX
9.โอนหุ้น 50% ในบริษัท อัลฟ่าเอ็กซ์ จำกัด (Alpha X) ให้ SCBX
10.โอนหุ้น 50% ในบริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด ให้ SCBS
ขณะเดียวกัน จะมีการจัดตั้งบริษัทย่อยอื่นๆ เช่น AUTO X , CARD X AMC , SCB-CP Group JV เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารจะโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้แก่ Card X ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ของ SCBS
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2025 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก
ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลง และจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“แนวโน้มของการถูก disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อ 6 ปีก่อนและชัดเจนมากในอีกสามปีข้างหน้า SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้
SCB จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้” นายอาทิตย์ กล่าว
(อาทิตย์ นันทวิทยา)
สำหรับกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น ในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง และจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง
“SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้” นายอาทิตย์ กล่าว
นอกจากการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลแล้ว SCB จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (technology platform) หลังจากนำร่องด้วย “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนั้น SCB จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset business) ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว
“ในปี 2025 ความคาดหวังของ SCB คือ การสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยยะสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน การขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก
และหลังจากสามปีนี้ SCB จะไม่เท่ากับธนาคารอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี(technology platform} ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้อย่างทัดเทียม เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นทดแทนธุรกิจธนาคารที่อาจจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที” นายอาทิตย์ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage