ครม.เคาะงบกลาง 2.7 หมื่นล้านบาท ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 12 เดือนให้ผู้ถือบัตรคนจน สนับสนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค-ค่าเดินทาง-เบี้ยผู้พิการ พร้อมปรับเกณฑ์ 'เราเที่ยวด้วยกัน-ทัวร์เที่ยวไทย' ลดเงินสมทบประกันสังคมอีก 3 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการและขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา โดยอนุมัติงบกลาง งบประมาณปี 2564 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 27,005.66 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้
1.วงเงิน 2,018 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564– ก.ย. 2565 รวม 12 เดือน
-
ค่าไฟ กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรี กรณีใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการวงเงินเดือนละ 315 บาทต่อครัวเรือน ส่วนกรณีใช้ไฟเกินที่กำหนด ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยโครงการนี้ครอบคลุม 1.9 ล้านครัวเรือนโดยประมาณ
-
ค่าน้ำ สนับสนุนวงเงินเดือนละ 100 บาทต่อครัวเรือน สำหรับผู้ที่มีค่าน้ำ 100 – 315 บาท ทั้งนี้กรณีใช้เกินกำหนด ให้ผู้ถือบัตรรับภาระในการชำระค่าน้ำประปาเองทั้งหมด โดยโครงการนี้ครอบคลุม 186,625 ครัวเรือน โดยประมาณ
2.วงเงิน 18,815 ล้านบาท สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ
-
ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตรจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ
-
ผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 - 100,000 บาทต่อปี ได้รับคนละ 200 บาทต่อเดือน
-
ผู้มีสิทธิที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับคนละ 300 บาทต่อเดือน และได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มคนละ 55 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
-
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาทิ ค่าโดยสาร ขสมก. ระบบ e-Ticket , รถไฟฟ้า บขส. , รถไฟ อย่างละ 500 บาทต่อคนต่อเดือน
-
เบี้ยความพิการ จำนวนคนละ 1,000 บาทต่อเดือน
3.วงเงิน 1,642 ล้านบาท รองรับกระบวนการลงทะเบียนรอบใหม่ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยรับลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
4.วงเงิน 4,530.66 ล้านบาท สำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่
นายธนกร กล่าวต่อว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทย โดยเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 2 โครงการ เป็นวันที่ 28 ก.พ.2565 และกำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินวันที่ 31 ม.ค.2565 พร้อมให้ ททท. เร่งรัดการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
ขณะที่โครงการทัวร์เที่ยวไทย จะมีปรับหลักเกณฑ์ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.เปลี่ยนแปลงการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัด สามารถเดินทางได้ทุกวัน จากเดิมเดินทางได้เฉพาะวันอาทิตย์–พฤหัสบดี และ2.เพิ่มรายการนำเที่ยว เป็น 30 รายการต่อบริษัท จากเดิม 15 รายการต่อบริษัท โดย ททท. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับแพลตฟอร์มการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 จะเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการที่จะสมัครเข้าร่วม โครงการตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.–1 ต.ค.2564 ทั้งนี้ คาดการณ์ ว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการและให้ประชาชนใช้สิทธิท่องเที่ยวในเดือน ต.ค.นี้
สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 คือ รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% (ไม่เกิน 3,000 บาท/ ห้อง/คืน) สนับสนุนคูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% (ไม่เกิน 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท โดยดูตามเงื่อนไขของแต่ละจังหวัด) ส่วนโครงการทัวร์เที่ยวไทย นั้น รัฐสมทบเงินให้ 40% ของราคาแพ็กเกจท่องเที่ยว หรือไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน
"การปรับปรุงรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการ จะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่พัก โรงแรม ร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการต่างๆ ของ ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการควบคุม ป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงในช่วงระหว่างดำเนินโครงการ ททท. ก็สามารถขอยุติดำเนินโครงการฯได้ ทั้ง 2 โครงการ" นายธนกรกล่าว
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดให้ขยายเวลาปรับลดอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มอีก 3 เดือน หรือตั้งแต่ 1 ก.ย.-30 พ.ย.2564 โดยลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% เหลือ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ส่วนผู้ประกันตนตาม ม.39 ให้ปรับลดอัตราจ่ายเงินสมบทจากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาท ลดลงเหลือ 235 บาท /เดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมงวดเดือน ก.ย. – พ.ย. 64 จะทำให้ผู้ประกันตนในระบบจ่ายเงินสมทบลดลงเป็น 10,721 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลงเป็น 9,629 ล้านบาท ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกันตนทำให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย โดยเพิ่มสภาพคล่องได้ประมาณ 945 – 1,575 บาทต่อคน ขณะที่นายจ้างจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้ เพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage