เตรียมฉีดวัคซีนให้นักเรียนรับเปิดเทอม สธ.ยันไฟเซอร์ปลอดภัย เสี่ยงน้อย ด้านซิโนฟาร์ม รอดูผลวิจัยเรื่องความปลอดภัยก่อน ศธ.เผยครูฉีดวัคซีนแล้วกว่า 70% ส่วนผู้ปกครงยังไม่ได้ฉีดประสาน สสจ.
------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในการแถลงข่าว ศบค. ศธ. พบสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย '3 ภาคีร่วมใจเพื่อเปิดเรียนปลอดภัยกับวัคซีนเด็ก' ว่า พื้นที่ในประเทศไทย ไม่ได้เป็นพื้นที่การควบคุมการระบาดสูงสุดและเข้ม (สีแดงเข้ม) ทั้งหมด จึงมีการหารือถึงวิธีการในการเปิดเรียนแบบออนไซต์ พบว่าน่าจะเริ่มได้หากมี 2 มาตรการหลัก คือ 1) หาวิธีการฉีดวัคซีนให้นักเรียนและครู ให้มีภูมิคุ้มกันในการติดเชื้อ และ 2) ประเมินสถานศึกษาให้มีความพร้อมและปลอดภัย
จากแนวคิดนี้ได้ทดลองลงมือปฏิบัติโดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำร่องโครงการ sandbox safety zone in school (sss) การจัดการเรียนการสอนแบบปิด ในโรงเรียนนานาชาติและราชประชานุเคราะห์ ทดลองมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งโรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ จึงมีความเห็นพร้อมใจกันว่าถ้าจะให้เด็กได้เรียนออนไซต์ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด บวกกับวัคซีนไฟเซอร์เข้าประเทศไทยในปลายเดือนก.ย. จึงออกแบบเริ่มฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน คาดว่าน่าจะเริ่มฉีดได้ในวันที่ 4 ต.ค.นี้
ปัจจุบันมีโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเรียนแบบออนไซต์ 4,667 โรงเรียน จากทั้งหมดกว่า 29,000 โรงเรียน
คาดฉีดวัคซีนครูครบ 100% ทันเปิดเทอม
ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีน นายอัมพร กล่าวว่า ขณะที่ครูฉีดไปแล้วกว่า 70% และถึงวันที่เปิดเรียน ครูก็น่าจะฉีด 100 % สำหรับนักเรียน โดยรวมจะดูแลนักเรียนตั้งแต่ก่อน ขณะฉีด และหลังการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ สพฐ.ได้เตรียมการเป็นระยะ จากข้อมูลมีนักเรียนอายุ 12-17 ปี 11 เดือน ประมาณ 4.5 ล้านคน แบ่งเป็น สังกัด สพฐ. 2.9 ล้านคน ได้สื่อสารให้โรงเรียนประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการยื่นความประสงค์ยินยอม หรือไม่ยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีน
นายอัมพร กล่าวด้วยว่า โรงเรียนจะรวบรวมรายชื่อที่สมัครใจแจ้งความจำนงไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก่อนแจ้งไปที่ศึกษาธิการนจังหวัด (ศธจ.) และส่งไปสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำจำนวนนักเรียน ขอโควตาวัคซีน เพื่อจัดสรรต่อไป โดยจะใช้โรงเรียนเป็นฐานในการฉีด ทั้งนี้ เมื่อฉีดเข็ม1 แล้วจะเว้น 3 สัปดาห์ จึงจะฉีดเข็ม 2 หากนักเรียนและครูได้รับการฉีดวัคซีนกว่า 80% ก็จะสามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้
ส่วนการเฝ้าระวังหลังการฉีดวัคซีน สพท. จะร่วมกับ สธ. เผ้าระวังดูแลนักเรียนกรณีมีอาการไม่พึ่งประสงค์ ทั้งนี้แม้จะเปิดเรียนไม่ได้หมายความว่า เด็กทุกคนต้องมาโรงเรียน หากผู้ปกครองยังไม่มั่นใจ ก็สามารถให้ลูกเรียนออนไลน์ต่อไปได้ อีกทั้งการมาเรียนก็ไม่ได้มีรูปแบบเดียว ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนกำหนด เช่น สลับวันมาเรียน วันเว้นวัน เป็นต้น ตรงนี้เป็นการดำเนินการเพื่อให้โรงเรียนกลับมาเรียนออนไซต์โดยเร็วที่สุด
“ครูฉีดแล้ว 70 % ถึงวันนั้นที่เปิดเรียน ก็น่าจะฉีด 100 %ได้ถ้าสมัครใจ ส่วนนักเรียนโดยรวมจะดูแลนักเรียนตั้งแต่ก่อน ขณะฉีด และหลังการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ สพฐ. มีกระบวนการในการดำเนินการ แม้แต่จะเปิดโรงเรียน ไม่ได้แปลว่านักเรียนทุกคนต้องมาโรงเรียนเลย ถ้าผู้ปกครองยังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย อยากเรียนที่บ้านก็อนุโลมให้เรียนที่บ้านได้ และการมาเรียนไม่ได้มีรูปแบบเดียว อาจจะเรียนวันเว้นวัน หรือเรียน 3 วันอีก 2 วันหยุด ก็ขึ้นกับมาตรการที่โรงเรียนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประเมินสถานการณ์ของโรงเรียนนั้น แต่ในการคาดหวังของ รมว.ศธ. และ สพฐ.ต้องการให้เปิดสอนออนไซต์โดยเร็ว ให้นักเรียนได้เรียนกับเพื่อนอย่างมีความสุข” นายอัมพรกล่าว
นำร่องเปิดโรงเรียนไป-กลับ เน้นย้ำลดกิจกรรมเสี่ยง
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ศธ.และ สธ.ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในโรงเรียน ที่เรียกว่า Sandbox Safety Zone in School โดยนำร่องในโรงเรียนประจำ ซึ่งได้ผลดี โดยครูในโรงเรียนได้รับวัคซีน 80% ขึ้นไป โรงเรียนมีการจัดพื้นที่ปลอดภัย มีจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มเล็กๆ แยกกัน มีการคัดกรองที่ได้ผล ทำให้พบผู้ติดเชื้อ และแยกกัก ส่งตัวรักษา และควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นความสำเร็จของ ศธ. และเป็นตัวอย่างให้สถานประกอบการประเภทอื่นๆ นำไปใช้เป็นตัวอย่าง
ส่วนการนำร่องในโรงเรียนไปกลับ นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า โรงเรียนต้องเน้นกิจกรรมที่ลดความเสี่ยงให้มากที่สุด วางมาตรการตั้งแต่การคัดกรอง วัคซีนครูพื้นที่สีแดง สีแดงเข้มต้องเข้มข้นมากยิ่งขึ้น วัคซีนของเด็กมีแผนนำเข้ามาฉีดนักเรียน 12 ปีขึ้นไปในต้นเดือน ต.ค. ซึ่งมีการจัดหาวัคซีนอย่างเพียงพอ และการจัดกิจกรรมในโรงเรียนจะต้องเป็นลดความเสี่ยงให้มากที่สุด และมีการตรวจประเมินโดยคณะกรรมกาารตรวจประเมินในพื้นที่
ยันไฟเซอร์ปลอดภัย-เสี่ยงน้อย
นพ.สราวุฒิ กล่าวถึงวัคซีนที่เข้ามาใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปว่า ขณะนี้ทั่วโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิด mRNA และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย อนุมัติให้ฉีดได้ จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะเข้ามาในประเทศไทยและเริ่มฉีดต้นเดือน ต.ค. ยืนยันว่ามีเพียงพอที่จะฉีดให้กับเด็ก โดยเริ่มมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว เพราะเด็กลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิดจะมีความรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ โดยพบว่า กลุ่มเด็ก อายุ 12-19 ปี มีอัตราการติดเชื้อ 10% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใหญ่ และเสียชีวิต 0.03% แม้จะเป็นจำนวนน้อย แต่ส่วนใหญ่เด็กที่เสียชีวิต จะมีโรคประจำตัวด้วย จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีโรคประจำตัวให้ได้มากที่สุด
ส่วนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนนั้น คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข อย. และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ เห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์นั้น ทั่วโลกมีข้อมูลพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในเด็กผู้ชาย และพบในโดสที่ 2 มากกว่าโดสที่ 1 สำหรับประเทศไทย พบเพียง 1 คนเท่านั้น และมีอาการไม่มาก ขณะนี้รักษาหายเป็นปกติแล้ว
ดังนั้น เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากการฉีดวัคซีน มีมากกว่าไม่รับวัคซีน เพื่อที่เด็กจะได้กลับมาเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ เพราะการเรียนออนไลน์อย่างเดียว ส่งผลกระทบมากมาย เด็กกลุ่มเปราะบาง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ เนื่องจากหลายกลุ่มเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่า การที่เด็กได้แสดงออก ได้พบกัน ได้เรียน มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน จะมีส่วนสร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพในอนาคต
ซิโนฟาร์ม รอผลวิจัยความปลอดภัย
นพ.สราวุฒิ กล่าวถึงส่วนวัคซีนตัวอื่นที่จะใช้ในประเทศ ในต่างประเทศ เช่น จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรต ได้มีการใช้วัคซีนเชื้อตายทั้งซิโนแวค และซิโนฟาร์มว่า ในต่างประเทศได้รับการอนุมัติให้ใช้ในบางประเทศที่กล่าวข้างต้น ส่วนของประเทศไทยที่มีการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นการศึกษาวิจัย ส่วนของ อย.ล่าสุด ยังไม่อนุมัติให้ใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีการทดลองในระยะที่ 3 ที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยได้ คงต้องรอข้อมูลอีกส่วนหนึ่งถึงจะเห็นความปอลดภัยจึงจะนำมาใช้กับเด็กทั่วไปในประเทศไทย
“ครูที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง สีแดงเข้มประมาณ 2-4 แสนคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน มีนโยบาย สธ.และ ศธ.ว่าจะพยายามที่จะต้องให้ได้รับวัคซีนได้ครบ เพื่อความปลอดภัยของเด็กและผู้ปกครองด้วย ส่วนผู้ปกครองนักเรียนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้แจ้ง สสจ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับวัคซีน เพราะมีนโยบายให้กลุ่มผู้ปกครองได้รับวัคซีนด้วย” นพ.สราวุฒิกล่าว
นพ.สราวุฒิ กล่าวด้วยว่า มีสถานประกอบการ กิจกรรมหลายแห่งได้ดำเนินการเปิดต้องทำมาตรการให้เข้มข้นในเรื่อง Covid Free Zone ซึ่งสถานศึกษาสามารถการันตีได้ว่า Covid Free Zone ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมาตรการในโรงเรียนค่อนข้างมั่นใจมากกว่า เพราะครูทำตามอย่างเคร่งครัด และนักเรียนทำตามมาตรการที่จัดไว้ ความเสี่ยงจะลดลง แต่จะไม่ให้ติดเลยเป็นไปไม่ได้ หลายที่แม้ทำมาตรการดีขึ้นแล้ว ให้วัคซีนต็มที่และสามารถติดได้ แต่ความรุนแรงลดลงและไม่แพร่ระบาดวงกว้าง
ฉีดวัคซีน-ตรวจเชื้อผู้ปกครอง ป้องกันติดเชื้อจากที่บ้าน
นายนิวัตร นาคะเวช นิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเรียนออนไลน์พบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน ระบบอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เกิดคุณภาพ และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เห็นว่า การอยู่ที่โรงเรียนปลอดภัยกว่าการเรียนอยู่บ้าน
นายนิวัตร กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวค่อนข้างเห็นด้วย และเสนอว่าโรงเรียนควรตั้ง ศบค.ในโรงเรียน เพื่อให้เป็นความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงเรียน ให้เกิดเครือข่ายเข้ามาร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจ ทำให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันในภาพรวม และถ้าเป็นไปได้ หากฉีดเด็ก และครูแล้ว อยากให้สำรวจด้วยว่า ผู้ปกครองได้รับการฉีดแล้วหรือยังหากยังและเป็นไปได้ควรฉีดให้ผู้ปกครองและให้แจกชุดตรวจโควิด Antigen Test Kits (ATK) สำหรับตรวจหาเชื้อโควิดสำหรับผู้ปกครองและเด็กเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากที่บ้านและเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ที่สำคัญก่อนเปิดเทอมควรมีหลักสูตร ความปลอดภัยในช่วงโควิดเพื่อสร้างความเข้าใจ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage