'วิษณุ' คอนเฟิร์ม 'ธรรมนัส-นฤมล' ถูกปลดพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่ 'บิ๊กตู่' เผย สั่งเอง ไม่แจ้งใคร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 เวลา 16.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากตำแหน่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.2564
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถอนหายใจ พร้อมกล่าวว่า ได้ข่าวเมื่อกี้นี้รัฐมนตรีลาออก เขาก็เคยพูดไว้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ร.อ.ธรรมนัส ว่าไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็ออกไปเป็น ส.ส ก็สามารถช่วยประชาชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยงานกันมาโดยตลอด เดี๋ยวคงเป็นเรื่องของพรรคที่จะไปหารือกันว่าจะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่างานทุกงานไม่มีหยุดยั้ง มีคนทำงานให้อยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าจะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจะมีการปรับครม.หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เดี๋ยวคอยดู คอยฟังข่าว
เมื่อถามย้ำว่าจะปรับ ครม.กี่ตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ปรับใครในตอนนี้ เมื่อมีรัฐมนตรีลาออกก็ทำให้มีตำแหน่งว่าง ซึ่งตนก็ยังไม่ปรับคนเข้า
เมื่อถามว่าถือว่าเป็นการลาออกหรือว่าปลดออก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ก็เขาลาออก เอาแหละ ยังไงเขาก็ไม่อยู่แล้ว จะมายังไง จะไปยังไง ผมไม่ตอบ"
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าแต่เนื้อหาในราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กราบบังคมทูลให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ เท่ากับเป็นการปลดออกใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า "ของผม ทำของผม"
เมื่อถามย้ำว่าว่า ร.อ.ธรรมนัส และ นางนฤมล มาลาออกกับนายกรัฐมนตรีก่อนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ผมไม่ได้แจ้งใครทั้งสิ้น มันอยู่ที่ผม ผมทำเอง"
เมื่อถามอีกว่ามีเหตุผลอะไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "เหตุผลของผม ก็คือเหตุผลของผมสิ เอ้อ"
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นผลพวงจากการอภิปรายหรือไม่ที่จะโค่นล้มนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ทั้งหมดข่าวก็มาจากสื่อทั้งนั้น โอเคนะ ขอบพระคุณนะจ๊ะ”
'วิษณุ' คอนเฟิร์ม 'ธรรมนัส-นฤมล' ถูกปลดพ้นตำแหน่ง
วันเดียวกันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากในตัวพระบรมราชโองการได้มีการอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนํา
นายวิษณุ กล่าวว่า ซึ่งวันที่มีผลบังคับจริงคือวันที่ระบุในพระบรมราชโองการ นั่นหมายถึง ตั้งแต่เวลา 01.00 น.ของวันที่ 8 ก.ย. 2564 อย่างไรก็ตามตนเพิ่งได้ทราบข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส แถลงข่าวว่าได้ทำจดหมายลาออก ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าจดหมายฉบับนั้นระบุวันที่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่เป็นทางการคือให้ยึดตามพระบรมราชโองการ
เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนเลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะตามรัฐธรรมนูญระบุไว้เพียงแค่ให้มีรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 36 คน ดังนั้นจะปล่อยให้ทิ้งว่างก็ได้ เพราะเนื่องจากทั้งสองตำแหน่งนี้ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) ส่วนงานในหน้าที่ของสองรัฐมนตรีก็จะต้องกลับคืนสู่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เพราะอำนาจหน้าที่ของรมช.ก็เป็นไปตามคำสั่งมอบหมายจากรมว.อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อไม่มี รมช. อำนาจเหล่านั้นก็กลับคืนสู่ รมว.
เมื่อถามว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีใครคิดหรอก มีแต่สื่อที่คิด ยืนยันเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรในการปรับเปลี่ยนตัวบุคคล
จับตา พปชร.ปรับโครงสร้าง
รายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนสถานการณ์จะเรียบร้อยและการเคลียร์ใจจะจบลงด้วยดี แต่ปรากฏว่าเมื่อวันจันทร์ที่ 6 ก.ย.2564 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางเข้ามูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อแสดงความประสงค์ลาออก แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค ซึ่ง พล.อ.ประวิตรได้ยับยั้งและบอกว่า "ทุกอย่างจบแล้ว เคลียยร์แล้ว ไม่ต้องออก"
ขณะเดียวกันในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส อาจจะขอลาออกกลางที่ประชุม โดยเหตุผลที่ ร.อ.ธรรมนัส พยายามจะขอลาออกจากตำแหน่งก่อนนั้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า หลังจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อาจส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปลดออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ร.อ.ธรรมนัส ได้แถลงลาออกที่รัฐสภา ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ ร.อ.ธรรมนัส และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากตำแหน่ง
นอกจากนี้มีรายงานข่าวอีกว่า หลังจากการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2564 นายกรัฐมนตรีได้รับคะแนนไว้วางใจรองบ๊วย และมีคะแนนไม่ไว้วางใจมากที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ปรากรภกับคนใกล้ชิดว่า "มีคนหักหลัก ให้ไปดูหน่อย"
ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ยังต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนตอนหนึ่งว่าจะขอเลือกเส้นทางเดินใหม่ และอาจจะสร้างบ้านหลังใหม่ ทำให้ต้องติดตามดูความเปลี่ยนแปลงภายใน พปชร.ที่อาจทำให้มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคครั้งใหญ่หรือไม่ โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการพรรค ที่ก่อนหน้านี้มีชื่อของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ปรากฎชื่อเป็นแคนดิเดตเลขาธิการพรรคมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นายสันติได้แยกตัวออกจากกลุ่ม 4 ช. และประกาศตัวสนับสนุนนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/