สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเผยโพลความเห็นต่อกรณีคดีอดีต ผกก.โจ้ ระบุประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ต่อการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมลดลง ต้องการให้มีหน่วยงานอื่นร่วมตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการสอบสวน
-------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทางออนไลน์ในประเด็น การใช้อำนาจของตำรวจเพื่อค้นหาความจริงคดี 'อดีต ผกก.โจ้' โดยเริ่มการสำรวจตั้งแต่วันที่ 2 – 5 ก.ย. 2564 ว่า ประชาชน 5,291 คน ที่ร่วมทำแบบสำรวจความคิดเห็นฉบับนี้ เป็นทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม มากถึง 63.35% โดย ส่วนใหญ่รับไม่ได้ คิดเป็น 73.54% ต่อการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ จากการให้การของอดีตผู้กำกับโจ้ ซึ่งระบุว่า ใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหาเพราะต้องการข้อมูลเพิ่มเติมไปขยายผลทางคดี ในแบบสำรวจความเห็น แม้จะเป็น คดีร้ายแรงก็ตาม
ดร.พิเศษ กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าประชาชนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมลดลงหลังอดีต ผกก.โจ้ เข้ามอบตัวและแถลงข่าว เมื่อระบุถึงข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างที่น่าสนใจด้วยว่า หากลงไปดูรายละเอียดจะพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา น้อยกว่ากลุ่มที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยหากแยกกลุ่มอายุน้อยออกมา จะมีคะแนนความเชื่อมั่น ก่อนทราบเรื่อง อดีต ผกก.โจ้ อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 1.67 คะแนน หลังทราบเรื่อง อดีต ผกก.โจ้ค่าเฉลี่ย 0.91 คะแนน และเมื่อ อดีต ผกก.โจ้ เข้ามอบตัวพร้อมแถลงรายละเอียด มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเหลือค่าเฉลี่ยเพียง 0.84 คะแนน
ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสูงกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มที่ตอบว่า ยอมรับได้ กับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ข้อมูล ประชาชนส่วนใหญ่ เชื่อการใช้ความรุนแรง ไม่ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แต่เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์อาจจับกุมผู้บริสุทธิ์ส่งผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม ตำรวจต้องเร่งแก้ไข
ดร.พิเศษ ระบุว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในกระบวนการสืบสวนสอบสวน ว่า ประชาชนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันทุกข้อ คือ 86% ไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงเพื่อเค้นหาข้อมูล มีความจำเป็นในทางปฏิบัติหรือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกระบวนการค้นหาความจริง กว่า 94% ตอบ ไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงในการควบคุมผู้ต้องหาและซักถามหาพยานหลักฐาน สามารถทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่าวิธีอื่น
เมื่อถามว่า การปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวน จะทำให้เกิดแนวโน้มที่ตำรวจพึ่งพาวิธีนอกกฎหมายไปแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหา พบว่ากว่า 80% เห็นด้วย และเห็นด้วยต่อการปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวน จะทำให้ตำรวจสามารถใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อข่มขู่หรือเรียกผลประโยชน์ได้กว่า 87% อีกทั้งกว่า 88% ยังตอบเห็นด้วยว่า การปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวน จะส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์ถูกจับกุม ถูกฟ้องดำเนินคดี และถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม และผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 92% ตอบ เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวน จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่สำคัญกว่า 94% ยังเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวนในฐานะเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรก
ดร.พิเศษ เปิดเผยถึงภาพรวมของแบบสำรวจส่วนการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีความเห็นว่า ควรมีหน่วยงานอื่นเข้าไปมีบทบาทร่วมในกระบวนการทำงานของตำรวจ ทั้งการรวบรวมพยานหลักฐาน สอบสวน และทำสำนวนคดี ควรมีช่องทางให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหามากขึ้น รวมทั้งควรมีช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ว่า คดีต่าง ๆ มีความคืบหน้าไปอยู่ที่ขั้นตอนไหนแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากขึ้น
มีคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้ตอบแบบสำรวจ 40.26% ตอบไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จากคำถามว่าในกระบวนการปกติ ตำรวจมีอำนาจสอบสวนเพื่อทำสำนวนคดีและเสนอให้อัยการตรวจสอบ ส่วนอัยการอาจสั่งให้ตำรวจตรวจสอบเพิ่มเติมได้ ถ้าไม่เห็นด้วยในข้อใด แต่ไม่มีอำนาจเข้าร่วมในการสอบสวนโดยตรง
สอดคล้องกับคำถามว่า ควรเปิดช่องให้อัยการ มีบทบาทมากขึ้นในการรวบรวมพยานหลักฐาน การสอบสวน และการทำสำนวนคดี และควรมีระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีทนาย เข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดย 87.30% เห็นควรปรับปรุงกลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ศาลมีบทบาทมากขึ้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาคดี
ดร.พิเศษ กล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปตำรวจที่คนส่วนใหญ่คิดว่าสำคัญที่สุด คือ อันดับ 1 ควรปรับปรุงกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจในการค้นหาความจริงในชั้นสอบสวน ให้มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ และไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน อันดับ 2 ควรส่งเสริมให้บทบาทพนักงานสอบสวนมีความเป็นวิชาชีพเฉพาะ ทำงานแบบมืออาชีพและเป็นอิสระจากสายบังคับบัญชาปกติของหน่วยงาน อันดับ 3 ควรสร้างกระบวนการที่เปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลงานตำรวจ และอับดับ 4 ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของตำรวจให้มุ่งเน้นงานของตำรวจโดยเฉพาะ โดยถ่ายโอนภารกิจอื่นที่ไม่ใช่งานตำรวจออกไปให้องค์กรอื่น
ขณะที่ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเด็นความท้าทายคือเรื่องนี้ คือเรื่องระบบกฎหมาย รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร จะเห็นได้ว่าการสืบสวน ไม่แยกออกจากตำรวจ ทัศนคติของเจ้าหน้าที่และคนในสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิที่ต้องเคารพ แม้ว่าเป็๋นผู้ต้องสงสัยก็ไม่มีสิทธิในการทำร้ายหรือทำให้ถึงแก่ชีวิต อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี
นายวันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่นโยบายยาเสพติดเริ่มมาตั้งแต่ 40 ปีก่อน กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหนักขึ้นเรื่อยๆ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายเพื่อปราบปรามรายใหญ่ อีกทั้งการไม่แยกระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ ผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 80% เป็นผู้ต้องขังยาเสพติด อีกทั้งกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องหายาเสพติดจึงตกเป็นเป้าให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ความรุนแรงและรีดไถ่อีกด้วย
ด้านน.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ และมีการเสนอแนะแนวทางหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ ให้มาเป็นกฎหมายภายในประเทศ อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามการทรมาณ หรือการบังคับการสูญหาย และในปัจจุบัน สังคมรับไม่ได้แล้วกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยรัฐผูกขาดความรุนแรงใช้ความรุนแรง เพราะมีกฎหมายและความเชื่อใจ แต่จากกคดีของอดีตผู้กำกับโจ้ ทำให้คนในสังคมเริ่มรู้สึกว่าไม่เชื่อมั่น จึงต้องป้องกันตัวเองจากการใช้อำนาจของรัฐ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage